การแถลงผลงานของกระทรวงการคลังตามนโยบายรัฐบาลในรอบ 1 ปี

11 Sep 2012

กรุงเทพฯ--11 ก.ย.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ร่วมด้วยผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลัง ได้ร่วมกันแถลงผลงานของกระทรวงการคลังตามนโยบายรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในรอบ 1 ปี เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2555 เวลา 12.00 น. ณ ห้องประชุม 401 กระทรวงการคลัง โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

นายกิตติรัตน์ฯ กล่าวว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยได้เผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจในหลายด้าน ทั้งจากภาวะของเศรษฐกิจโลกที่เปราะบางจากปัญหาหนี้สาธารณะของยูโรโซนและผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในช่วงก่อนที่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงและอัตราเงินเฟ้อเริ่มปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องรัฐบาลโดยกระทรวงการคลังจึงได้มีมาตรการเร่งด่วนเพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจดังกล่าวรัฐบาลได้เน้น 4 นโยบายหลักดังนี้

1. นโยบายแก้ไขปัญหาอุทกภัย เพื่อบรรเทา เยียวยา และป้องกันอุทกภัยในอนาคตโดยในระยะสั้น กระทรวงการคลังได้ขยายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินดำเนินมาตรการช่วยเหลือทางการเงินผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจ มาตรการช่วยเหลือด้านภาษี รวมทั้งจัดตั้งกองทุนส่งเสริมประกันภัยพิบัติ และในระยะปานกลางถึงยาว กระทรวงการคลังได้สนับสนุนการลงทุนเพื่อวางระบบการบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ 350,000 ล้านบาท

2. นโยบายลดรายจ่ายเพื่อบรรเทาภาระของประชาชนจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ด้วยโครงการพักหนี้เกษตรกรรายย่อยและผู้มีรายได้น้อย การลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล การต่ออายุมาตรการค่าครองชีพ และบัตรเครดิตพลังงาน

3. นโยบายเพิ่มรายได้ เพื่อเสริมสร้างกำลังซื้อและความเป็นอยู่ของประชาชน ด้วยการปรับเพิ่มขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วัน และโครงการขึ้นเงินเดือนข้าราชการที่จบปริญญาตรีเป็น 15,000 บาท/เดือน และโครงการจำนำข้าวของ ธ.ก.ส. และ

4. นโยบายขยายโอกาส เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของประชาชน ผู้ประกอบการ และประเทศ ด้วยการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจากร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 23 ในปี 2555 และร้อยละ 20 ในปี 2556 โครงการรถคันแรก โครงการบ้านหลังแรก และกองทุนตั้งตัวได้ การดำเนินงานตาม 4 นโยบายดังกล่าว ได้ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยกลับมาขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้น และอัตราเงินเฟ้อปรับลดลงตามลำดับทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลสามารถรักษาวินัยทางการคลังภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลัง (สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีต่ำกว่าร้อยละ 60) และสามารถสร้างกลไกการบริหารจัดการหนี้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินได้อย่างชัดเจน

นายทนุศักดิ์ฯ ได้กล่าวถึงผลงานของกรมจัดเก็บและรัฐวิสาหกิจที่ตนกำกับว่า ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา สามารถดำเนินนโยบายของรัฐบาลได้ดีโดยในส่วนของการกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชน จากข้อมูลล่าสุด โครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกรที่ได้อนุมัติแล้วทั้งสิ้น 844,347 ราย มียอดเงินใช้จ่ายผ่านบัตรทั้งสิ้น 621 ล้านบาท การคงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ที่ร้อยละ 7 เป็นส่วนสำคัญที่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการบริโภคภาคเอกชน โครงการพักหนี้ลูกหนี้ที่มีหนี้ค้างชำระ มีผู้ได้รับอนุมัติ 428,415 ราย คิดเป็นมูลหนี้ 52,304 ล้านบาท โครงการพักหนี้ลูกหนี้ที่มีภาระปกติ มีผู้สนใจมาลงทะเบียน 2,468,367 ราย คิดเป็นมูลหนี้ 281,089 ล้านบาท และโครงการรถคันแรกมีผู้ขอใช้สิทธิ์ 169,861คัน คิดเป็นยอดขอคืนเงินภาษีจำนวน12,191ล้านบาท

ในส่วนของการกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน กระทรวงการคลังได้ปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจากร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 23 ในปี 2555 และร้อยละ 20 ในปี 2556 อันเป็นการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชนเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 และโครงการบ้านหลังแรกมีผู้ใช้สิทธิ์ 9,600 ราย คิดเป็นมูลค่าภาษี 224 ล้านบาท

ในส่วนของการดูแลอัตราเงินเฟ้อ กระทรวงการคลังได้ขยายเวลาปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลที่ 0.005 บาท/ลิตร ซึ่งสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายของประชาชนและภาคธุรกิจในช่วงปีที่ผ่านมากว่า 108,000 ล้านบาทและ

ในส่วนของการส่งเสริมการแข่งขันเสรี กระทรวงการคลังได้ดำเนินโครงการจัดตั้งการให้บริการระบบเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (National Single Window) เพื่ออำนวยความสะดวกในการค้าระหว่างประเทศ โดยคาดว่าจะสามารถเชื่อมโยงข้อมูลเสร็จสมบูรณ์ปลายปี 2556 และจะสามารถเชื่อมโยงระบบกับประเทศอาเซียนอื่นๆ ได้ในปี 2557

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังได้ดำเนินโครงการ “รวมแรงไทย รักษาน้ำใสทุกคูคลอง” อันเป็นการสร้างความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนเพื่อเสริมสร้างศักยภาพของชุมชนในการดูแลคูคลองของตนเอง และโครงการ “รัฐบาลพบประชาชน ทุนเพื่อคุณภาพชีวิต” เพื่อสร้างโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งทุนและผลประโยชน์จากนโยบายของรัฐ

นายวิรุฬฯ ได้กล่าวถึงผลงานของหน่วยงานที่อยู่ในการกำกับดูแลใน 1 ปีที่ผ่านมา โดยแยกตามหน่วยงาน ดังนี้

กรมบัญชีกลางนอกจากแก้ไขปัญหาอุทกภัยด้วยการขยายวงเงินทดรองราชการ ในส่วนของนโยบายเพิ่มรายได้เพื่อกระตุ้นการบริโภคและส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชน ยังได้ปรับค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐระดับปริญญาตรี 15,000 บาท และต่ำกว่าปริญญาตรี 9,000 บาทแล้วตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 อันเป็นการยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิต และส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวม นอกจากนี้ คณะผู้บริหารการคลังประจำจังหวัดและสถาบันการเงินเฉพาะกิจได้ร่วมกันติดตามการใช้จ่ายเงินที่ประหยัดได้จากโครงการพักหนี้เกษตรกรรายย่อยและผู้มีรายได้น้อยผ่านระบบฐานข้อมูลลูกหนี้ของกระทรวงการคลัง และพัฒนาต้นแบบการดำเนินธุรกิจ (Business Model) จากเงินที่ประหยัดได้ดังกล่าว

ในส่วนของกรมธนารักษ์ในช่วงเวลาที่รัฐบาลเข้ามาทำงานในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ได้มีโอกาสมหามงคลที่สำคัญถึง 3 วาระ ซึ่งกระทรวงการคลังโดยกรมธนารักษ์ได้จัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกและเหรียญที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2555 เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกและเหรียญที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 12 สิงหาคม 2555 และเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ 28 กรกฎาคม 2555 เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติและจัดจำหน่ายจ่ายแลกให้ประชาชนทั่วไปเพื่อมีไว้เป็นที่ระลึก นอกจากนี้ กรมธนารักษ์ได้นำที่ราชพัสดุที่ไม่ได้มีการใช้ประโยชน์ให้ผู้มีรายได้น้อยเช่าเพื่ออยู่อาศัยและทำกิน ตามโครงการรัฐเอื้อราษฎร์ ซึ่งปีที่ผ่านมาสามารถจัดให้เช่าได้จำนวนกว่า 6,200 ราย ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายถึงเท่าตัว หรือคิดเป็นเนื้อที่กว่า 16,000 ไร่ และยังมีการนำที่ราชพัสดุไปสนับสนุนด้านพลังงานของประเทศ ด้วยการให้เกษตรกรเช่าทำการเกษตรและปลูกพืชทดแทน โดยในปีที่ผ่านมา ได้ดำเนินการแล้วกว่า 3,200 ราย ครอบคลุมเนื้อที่ 39,000 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 92 ของเป้าหมายนอกจากนี้ ยังได้นำที่ราชพัสดุให้เช่าเพื่อเป็นสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ NGV โดยได้ดำเนินการแล้ว 1 แห่ง และจะดำเนินการอีก 3 แห่งภายในปีนี้ รวมไปถึงการกิจในการยกระดับความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตได้จัดให้เช่าที่ราชพัสดุเพื่อสร้างสนามกีฬา เช่น สนามบาสเกตบอลชุมชนในเขตพระโขนง เป็นต้น

สำหรับสถาบันการเงินเฉพาะกิจในปีที่ผ่านมาสนับสนุนนโยบายของภาครัฐในการแก้ไขปัญหาอุทกภัย ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และขยายโอกาส กระทรวงการคลังได้มีมาตรการต่าง ๆ ในการส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างทั่วถึงและเพียงพอผ่านทางสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2555 สถาบันการเงินเฉพาะกิจได้อนุมัติสินเชื่ออยู่ในเกณฑ์ดีและสูงกว่าเป้าหมาย โดยอนุมัติสินเชื่อรายใหม่กว่า 6 ล้านราย คิดเป็นเงินจำนวน 1.17 ล้านล้านบาท อีกทั้ง ในรอบปีที่ผ่านมา สถาบันการเงินเฉพาะกิจยังได้มีส่วนในการ (1) ยกระดับขีดความสามารถของประเทศ ผ่านมาตรการด้านสินเชื่อเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของ SMEs ในวงเงิน 54,000 ล้านบาท (2) ยกระดับความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตประชาชน ผ่านทางโครงการต่างๆของภาครัฐ เช่น โครงการบ้านธนาคารอาคารสงเคราะห์เพื่อที่อยู่อาศัยแห่งแรกร้อยละ 0 เป็นระยะเวลา 3 ปี โครงการยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนและชุมชนในพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยปี 2554 เป็นต้น และ (3) พัฒนาระบบตลาดการเงินไทย ผ่านทางโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตราสารหนี้เพื่อการระดมเงินจากตลาดทุน

ในส่วนของภาคการประกันภัย การจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติในวงเงิน 50,000 ล้านบาท ซึ่งประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูระบบประกันวินาศภัยและสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้รับประกันภัย และผลักดันให้เบี้ยประกันภัยพิบัติลดลงอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายแก้ไขปัญหาอุทกภัยของภาครัฐ ในด้านการขยายโอกาสและยกระดับคุณภาพชีวิต นับตั้งแต่ วันที่ 1 สิงหาคม 2555 ได้มีการนำระบบการจ่ายค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉินกรณีประสบภัยจากรถผ่านระบบออนไลน์ (E-Claim) ทำให้ประชาชนสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลจากสถานพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศ โดยไม่ต้องสำรองค่ารักษาพยาบาลไปก่อน สุดท้ายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตโดยลดอุบัติเหตุทางรถ ได้ส่งเสริมให้มีการจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ปลอดแอลกอฮอล์ขึ้นซึ่งมีเบี้ยประกันลดจากอัตราปกติร้อยละ 10 เพื่อเป็นรางวัลให้ผู้ขับขี่ที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งจะเป็นทางเลือกใหม่ให้กับประชาชนที่ไม่ดื่มสุรา และจะนำไปสู่การลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุทางรถในที่สุด

นายกิตติรัตน์ฯ กล่าวว่า ในระยะต่อไป เพื่อรองรับกระบวนทัศน์ใหม่ของการพัฒนาประเทศ ทั้งในด้านการสร้างมูลค่า การปรับสมดุลทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจในประเทศและภูมิภาค กระทรวงการคลังได้วางเป้าหมายยุทธศาสตร์ 3 ประการ ได้แก่

1. การลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ด้วยการเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่คนฐานราก การสร้างระบบสวัสดิการพื้นฐานให้ทั่วถึงและมีคุณภาพ และการกระจายรายได้และการถือครองทรัพย์สินอย่างเป็นธรรม

2. การสนับสนุนศักยภาพและเพิ่มความสามารถการแข่งขัน ด้วยการสนับสนุนการจัดตั้งธุรกิจ การพัฒนาภาคเอกชนให้เกิดการสร้างมูลค่า การเชื่อมโยงธุรกิจเพื่อก้าวสู่เศรษฐกิจระดับภูมิภาคและระดับโลก และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และ

3. การรักษาความยั่งยืนทางการคลัง ด้วยการเสริมสร้างความมั่นคงทางการคลัง การส่งเสริมความโปร่งใสในการดำเนินงานของภาครัฐ และการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของกระทรวงการคลัง

ในส่วนของความยั่งยืนทางการคลัง นายกิตติรัตน์ฯ กล่าวว่า กระทรวงการคลังวางแผนที่จะปรับฐานะทางการคลังให้เข้าสู่สมดุลภายในปี 2560 โดยในปีงบประมาณ 2556 จะขาดดุลการคลังที่ 3 แสนล้านบาท ต่ำกว่าปีงบประมาณ 2555 ซึ่งขาดดุลที่ 4 แสนล้านบาท นอกจากนี้ ในส่วนของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน นายกิตติรัตน์ฯ กล่าวว่าประเทศไทยจำเป็นต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้ โดยล่าสุดสถาบันการจัดการนานาชาติ (International Institute for Management Development: IMD) ได้จัดอันดับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยที่ 49 จาก 59 ประเทศ และเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม (World Economic Forum: WEF) ได้จัดอันดับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยที่ 46 จาก 144 ประเทศ ในเรื่องนี้ กระทรวงการคลังมีนโยบายที่จะออก พ.ร.บ.เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 2.2 ล้านล้านบาท ซึ่งครอบคลุมการขนส่งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ พลังงาน การสื่อสาร และสาธารณูปการ

สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง

โทร. 02 273 9021 ต่อ 2674 -นท-