รายงานฉบับใหม่เน้นย้ำความสำคัญของการลดความเสี่ยงในการบริหารจัดการโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง

03 Sep 2012

เวียนนา--3 ก.ย.--พีอาร์นิวส์ไวร์ / อินโฟเควสท์


- รายงานของผู้เชี่ยวชาญฉบับใหม่ว่าด้วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังได้รับการเปิดเผยในการแถลงข่าวการประชุม ERS 2012


ทาเคดา (Takeda) เปิดเผยรายงานของผู้เชี่ยวชาญฉบับใหม่ว่าด้วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) ระหว่างที่บริษัทจัดการแถลงข่าวเรื่องการประชุมประจำปีของสมาคมโรคทางเดินหายใจแห่งยุโรป (ERS) ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 1-5 กันยายนนี้ ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย


สามารถชมข่าวประชาสัมพันธ์ในรูปแบบมัลติมีเดียได้ที่

http://www.multivu.com/mnr/56582-expert-report-on-copd-launch


รายงานในหัวข้อ “การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการบริหารจัดการโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง” ริเริ่มและพัฒนาขึ้นโดยบริษัท ทาเคดา ฟาร์มาซูติคอลส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จีเอ็มบีเอช (Takeda Pharmaceuticals International GmbH) และเป็นการรวบรวมบทความแสดงความคิดเห็นของคณะผู้เชี่ยวชาญด้านระบบการหายใจนานาชาติจากสมาคมผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจและภูมิแพ้แห่งยุโรป (EFA) และจากผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ซึ่งถือเป็นแนวทางและความรู้ที่ทันสมัย รายงานนี้พัฒนาขึ้นเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่มีความสำคัญในการบริหารจัดการโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ซึ่งตอนนี้ได้ให้ความสำคัญกับความเสี่ยงในอนาคตพอๆกับการรักษาภาวะทุพพลภาพในปัจจุบัน[1] และตอนนี้จุดมุ่งหมายในการรักษาถูกแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ การลดอาการต่างๆ และการลดความเสี่ยง[1]


ดร.อลัน แคปแลน ประธานกลุ่ม Respiratory Medicine Special Interest Focus Group ของวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งแคนาดา กล่าวในการเปิดเผยรายงานของผู้เชี่ยวชาญฉบับใหม่ว่า “ข้อมูลจากโครงการโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังระดับโลก (GOLD) ระบุว่า การบริหารจัดการโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่ดีควรมีการประเมินอาการในปัจจุบันร่วมกับความเสี่ยงที่โรคจะลุกลามในอนาคต ความสำคัญของการป้องกันความเสี่ยงเป็นสิ่งที่ถูกปลูกฝังในการรักษาโรคหลายโรค ซึ่งรวมถึงโรคหัวใจและหลอดเลือด และเราจำเป็นต้องปลูกฝังแนวคิดดังกล่าวในการรักษาโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังเช่นกัน รายงานจากผู้เชี่ยวชาญนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญด้านระบบการหายใจในทุกระดับ ตั้งแต่แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป พยาบาล ไปจนถึงผู้ให้คำปรึกษา โดยจะให้คำแนะนำและแนะแนวทางเพื่อช่วยให้บุคลากรมีข้อมูลในการตัดสินใจมากขึ้น รวมถึงสามารถดูแลรักษาและให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังได้ดีขึ้น เพื่อผลลัพธ์ในการรักษาที่ดีกว่าเดิม”


การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการบริหารจัดการโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังเป็นประเด็นที่ถูกนำมาพิจารณาในรายงานของผู้เชี่ยวชาญฉบับใหม่ รวมถึงประเด็นที่ว่า เพราะเหตุใดการพุ่งความสนใจไปที่ความเสี่ยงในอนาคตจึงมีความสำคัญนัก ซึ่งครอบคลุมไปถึงการพิจารณาบทเรียนที่ได้จากการบริหารจัดการโรคหัวใจและหลอดเลือด ว่าด้วยการประเมินความเสี่ยงของผู้ป่วยแต่ละคนโดยเฉพาะจนเป็นกิจวัตรประจำ, ความสำคัญและผลของความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้ป่วยและแพทย์ ว่าด้วยการทำให้ผู้ป่วยให้ความร่วมมือในการรักษาซึ่งจะเป็นประโยชน์ในระยะยาวไม่ใช่แค่ประโยชน์ฉาบฉวย รวมถึงการให้ความสำคัญกับการรักษาโดยใช้ยาและไม่ใช้ยา เพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการบริหารจัดการโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง


จนถึงตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลใดที่แสดงถึงผลกระทบของการใช้วิธีรักษาที่แตกต่างกันในกลุ่มผู้ป่วยต่างๆ ตามวิธีประเมินแบบใหม่ของ GOLD (แบ่งเป็นกลุ่ม A-D) แต่ดูเหมือนว่า ยาแก้อักเสบตัวใหม่ชื่อ roflumilast จะช่วยลดการกำเริบระดับปานกลาง/รุนแรงได้อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อใช้ร่วมกับยาขยายหลอดลมในผู้ป่วยที่มีอาการหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ปอดเสื่อมสมรรถภาพอย่างรุนแรงอันเป็นผลมาจากโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และมีประวัติโรคกำเริบบ่อย (กลุ่ม D ตามแบบ GOLD)[2] ทั้งนี้ รายงานของผู้เชี่ยวชาญฉบับใหม่จะการรวบรวมบทวิเคราะห์จากการประชุม ERS 2012 ที่ระบุว่า ยา roflumilast ช่วยลดการกำเริบของโรคได้ถึง 45% เมื่อใช้ร่วมกับยา tiotropium ในผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่ปอดเสื่อมสมรรถภาพปานกลางถึงรุนแรง และมี baseline mMRC grade ?2 (กลุ่ม B และ D ตามแบบ GOLD)[3]


โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิต การเจ็บป่วย และค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลทั่วโลก โดยกระทบต่อผู้คนถึง 210 ล้านคน และเป็นสาเหตุหลักของการเจ็บป่วยและการเสียชีวิต ภายในปีค.ศ.2030 โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังจะเป็นสาเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก[4]


การลดการกำเริบของโรคเป็นสิ่งที่ผู้ป่วยต้องการแต่ยังไม่สามารถทำได้ ขณะเดียวกันมีข้อมูลที่บ่งชี้ว่า ผู้ป่วยไม่ได้รายงานเรื่องการกำเริบของโรคมากถึง 50%[5] ทั้งที่การกำเริบของโรคเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะบ่งชี้สุขภาพของผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง[5] และยังเป็นเป้าหมายการรักษาที่สำคัญทั้งในแง่ของการเยียวยาและการป้องกัน


หมายเหตุถึงบรรณาธิการ


เกี่ยวกับโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง


ท่านสามารถติดต่อขอรับสำเนารายงานของผู้เชี่ยวชาญฉบับใหม่และข้อมูลเกี่ยวกับโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังได้


เกี่ยวกับผู้เขียนบทความในรายงานของผู้เชี่ยวชาญฉบับใหม่


ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบการหายใจ ซึ่งเขียนบทความในรายงานโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังประกอบด้วย


- ดร.ออนเดรจ ริบนิเซก (Dr Ondrej Rybnicek) จากสมาคมผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจและภูมิแพ้แห่งยุโรป (EFA)

- ดร. สตีเฟน เรนนาร์ด (Dr Stephen Rennard) ศาสตราจารย์ด้านแพทยศาสตร์ แผนกอายุรศาสตร์ ศูนย์การแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยเนแบรสกา เมืองโอมาฮา รัฐเนแบรสกา

- ศจ.แอนดรูว์ แมคไอเวอร์ (Prof Andrew McIvor) ศาสตราจารย์ด้านแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแมคมาสเตอร์ ประเทศแคนาดา

- ดร.อลัน แคปแลน (Dr Alan Kaplan) ประธานกลุ่ม Respiratory Medicine Special Interest Focus Group วิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งแคนาดา

- ศจ.วีเซีย เวดซิชา (Prof Wisia Wedzicha) ศาสตราจารย์ด้านโรคระบบการหายใจ ศูนย์โรคระบบการหายใจแห่งมหาวิทยาลัย University College London (UCL)

- ศจ.โรเบิร์ต ฮอร์น (Prof Robert Horne) ศาสตราจารย์ด้านเวชศาสตร์พฤติกรรม วิทยาลัยเภสัชศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย UCL, หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการและนโยบาย และผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์พฤติกรรม

- สมาคมผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจและภูมิแพ้แห่งยุโรป (EFA) เป็นเครือข่ายองค์กรผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ โรคหืด และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังในยุโรป EFA รองรับความต้องการของผู้ป่วยด้วยการให้ข้อมูล ให้การศึกษา สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เกี่ยวข้อง และให้การสนับสนุนทางการเงิน สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.efanet.org/


เกี่ยวกับยา roflumilast


roflumilast เป็นยาแก้อักเสบตัวแรกที่พัฒนาขึ้นเพื่อรักษาอาการอักเสบจากโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังโดยเฉพาะ ยาตัวนี้มีลักษณะการทำงานแบบใหม่ โดยทำหน้าที่เป็นตัวยับยั้งเอนไซม์ PDE4 อย่างมีประสิทธิภาพและมีเป้าหมายชัดเจน[6]


จากการทดลองครั้งใหญ่ 4 ครั้ง ซึ่งเป็นการทดลองแบบสุ่มและมียาหลอก (placebo) เป็นตัวควบคุม แสดงให้เห็นว่า roflumilast ช่วยลดการกำเริบของโรคได้อย่างมีนัยสำคัญ และช่วยให้ปอดทำงานดีขึ้นเมื่อใช้ร่วมกับยาขยายหลอดลมซึ่งมีการใช้งานในระยะยาว[7,8,9]


สหภาพยุโรป (อียู) ระบุว่า roflumilast ใช้รักษาโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังขั้นรุนแรง (ค่า FEV1 หลังได้ยาขยายหลอดลมต่ำกว่า 50%) ที่มีอาการหลอดลมอักเสบเรื้อรังร่วมด้วย สำหรับผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่และมีประวัติโรคกำเริบบ่อย โดยจะใช้เสริมกับยาขยายหลอดลม[10]


จากการทดลองทางคลินิกเกี่ยวกับโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังหลายครั้งในผู้ป่วยกว่า 12,000 คน พบว่า ยา roflumilast มีความทนทานดี สำหรับผลข้างเคียงที่พบมากที่สุดประกอบด้วยอาการท้องร่วง (5.9%), น้ำหนักลด (3.4%), คลื่นไส้ (2.9%), ปวดท้อง (1.9%) และปวดหัว (1.7%) โดยส่วนใหญ่จะมีอาการไม่มากหรือปานกลาง และมักเกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์แรกๆของการรักษา ซึ่งอาการส่วนใหญ่หายไปเมื่อมีการรักษาอย่างต่อเนื่อง[10]


เกี่ยวกับบริษัท ทาเคดา ฟาร์มาซูติคอลส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จีเอ็มบีเอช


บริษัท ทาเคดา ฟาร์มาซูติคอลส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จีเอ็มบีเอช มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองซูริค และอยู่ในเครือบริษัท ทาเคดา ฟาร์มาซูติคอลส์ จำกัด ในเมืองโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ทาเคดาเป็นบริษัทวิจัยระดับโลก ซึ่งเน้นทำธุรกิจเวชภัณฑ์ ในฐานะบริษัทเวชภัณฑ์รายใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นและเป็นผู้นำรายหนึ่งของโลกในอุตสาหกรรมดังกล่าว ทาเคดามุ่งมั่นในการทำให้ผู้ป่วยทั่วโลกมีสุขภาพที่ดีขึ้นด้วยยารักษาโรคที่ทันสมัย สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับทาเคดาได้ทางเว็บไซต์ของบริษัทที่ http://www.takeda.com


อ้างอิง


1. Global Strategy for the Diagnosis, Management and Prevention of COPD, Global Initiative for Chronic Obstructive Lung Disease (GOLD) 2011. http://www.goldcopd.org (accessed July 2012).

2. Bateman ED, Rabe KF, Calverley PM, et al. Roflumilast with long-acting beta 2-agonists for COPD: influence of exacerbation history, Eur Respir J 2011;38:553-560.

3. Fabbri LM, et al. Effects of roflumilast in highly symptomatic COPD patients [abstract]. In: European Respiratory Society's 22nd Annual Congress; 2012 Sept 1-5; Vienna, Austria: ERS; 2012. Abstract P742.

4. World Health Organization. COPD. Fact Sheet No 315. 2008. http://www.who.int/mediacentre/factsheets/fs315/en/index.html (accessed June 2012)

5. Seemungal TAR, Donaldson GC, Paul EA,Bestall JC, Jeffries DJ, Wedzicha JA. Effect of exacerbation on quality of life in patients with chronic obstructive pulmonary disease. Am J Respir Crit Care Med 1998;157:1418-1422

6. Hatzelmann A, et al. The preclinical pharmacology of roflumilast - a selective, oral phosphodiesterase 4 inhibitor in development for chronic obstructive pulmonary disease, Pulm Pharm Ther 2010;23:235-256.

7. Calverley PMA, et al. Roflumilast in symptomatic chronic obstructive pulmonary disease: two randomised clinical trials. Lancet 2009; 374: 685-94.

8. Fabbri LM, et al. Roflumilast in moderate-to-severe chronic obstructive pulmonary disease treated with long-acting bronchodilators: two randomised clinical trials. Lancet 2009;374:695-703.

9. Rabe KF. Update on roflumilast, a phosphodiesterase 4 inhibitor for the treatment of chronic obstructive pulmonary disease. Br J Pharm 2011;163:53-67.

10. EU Summary of Product Characteristics, Daxas?, May 2011 (available at http://www.ema.europa.eu )


ข่าวประชาสัมพันธ์ฉบับนี้เผยแพร่โดยบริษัท ทาเคดา ฟาร์มาซูติคอลส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จีเอ็มบีเอช ที่อยู่ Thurgauerstrasse 130, CH-8152 Glattpark-Opfikon (Zurich), Switzerland


แหล่งข่าว: บริษัท ทาเคดา ฟาร์มาซูติคอลส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จีเอ็มบีเอช


-ปม-