กรุงเทพฯ--20 ก.ย.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
กลุ่มผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนร้องขอให้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เร่งรัดให้กระทรวงพาณิชย์ใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดเหล็กแผ่นรีดร้อนเจือโบรอนจากสาธารณรัฐประชาชนจีน
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้รับจดหมายร้องเรียนจากกลุ่มผู้ผลิตเหล็กรีดร้อน ที่เป็นสมาชิกของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้แก่ 1. บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) 2. บริษัท สหวิริยาเพลทมิล จำกัด (มหาชน) 3. บริษัท จี สตีล จำกัด (มหาชน) 4. บริษัท จี เจ สตีล จำกัด (มหาชน) และ 5. บริษัท แอลพีเอ็น เพลทมิล จำกัด (มหาชน)
ด้วยมีการทุ่มตลาดเหล็กแผ่นรีดร้อนเจือโบรอนจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ส่งผลเสียหายร้ายแรงต่อผู้ประกอบการเหล็กแผ่นรีดร้อนในประเทศ ที่ทำให้มียอดจำหน่ายลดลงอย่างต่อเนื่องนั้นมีรายละเอียด 3 ประการ ดังนี้
ประการแรก กลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กแผ่นรีดร้อนได้ยื่นคำร้องไปยังกรมการค้าต่างประเทศให้พิจารณาใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดเหล็กแผ่นรีดร้อนเจือโบรอนจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2554 ซึ่งกรมการค้าต่างประเทศได้ประกาศมาตรการฉุกเฉินเรียกเก็บหลักประกันอากรในเดือนสิงหาคม 2554 แต่มาตรการดังกล่าวได้หมดอายุลงไปแล้วเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ผ่านมา
ประการที่สอง ในการนำเข้าสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนเจือโบรอนดังกล่าว มีการสำแดงการนำเข้าด้วยพิกัดศุลกากร 7225 ที่มีอัตราภาษีอากรร้อยละ 0 แทนที่จะเป็นพิกัดศุลกากร 7208 ที่มีอัตราภาษีอากรขาเข้าร้อยละ 5 ตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน ซึ่งการเจือโบรอนดังกล่าวนั้นไม่ได้ทำให้คุณสมบัติเหล็กเปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งการใช้งานก็ไม่แตกต่างจากเหล็กแผ่นรีดร้อนทั่วไปแต่อย่างใดเช่นเดียวกัน จึงถือเป็นการจงใจหลีกเลี่ยงภาษีอากรขาเข้าที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อภาครัฐและภาคเอกชน
ประการที่สาม การส่งออกสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนเจือโบรอน รัฐบาลจีนให้การอุดหนุนในรูปของการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT Rebate) ร้อยละ 9 จึงทำให้สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้เปรียบด้านราคาเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 9
กลุ่มผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนดังกล่าว จึงได้ยื่นหนังสือถึงสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยให้ช่วยดำเนินการผลักดันให้กรมการค้าต่างประเทศเร่งรัดการออกมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด หลังจากได้รับผลกระทบจนเกิดความเสียหายรุนแรงจากปัญหาการทุ่มตลาดของสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนเจือโบรอน
ดังนั้น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจึงขอกราบเรียนไปยังภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้โปรดเร่งพิจารณาใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดของสินค้าเหล็กแผ่นเจือโบรอนจากสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อบรรเทาความเสียหายที่เกิดแก่ผู้ผลิตภายในประเทศต่อไป ในขณะที่มีการร้องขอให้เก็บอากรทุ่มตลาดเหล็กแผ่นรีดร้อนเจือโบรอนจากสาธารณรัฐประชาชนจีนนั้น ยังมีเรื่องที่เกี่ยวข้องอีก 2 เรื่อง คือ
1. ขณะนี้เริ่มมีการนำเข้าเหล็กเจือโบรอนจากสาธารณรัฐเกาหลีเพิ่มขึ้นจาก 2,979 ตัน ในเดือนมกราคม 2555 เป็น 37,830 ตัน ในเดือนมิถุนายน 2555 หากรวมปริมาณการนำเข้าเหล็กเจือโบรอนทั้งจากสาธารณรัฐประชาชนจีน และสาธารณรัฐเกาหลีในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-กรกฎาคม) พบว่ามีปริมาณการนำเข้าเกินกว่า 3 แสนตัน กลุ่มผู้ผลิตเหล็กรีดร้อนคาดว่า ภายในปีนี้ จะมีปริมาณการนำเข้าเหล็กแผ่นรีดร้อนเจือโบรอนสูงขึ้นราว 4-5 แสนตัน
2. กลุ่มผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เริ่มมีผู้นำเข้าสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อน เจืออัลลอยด์ อื่น เช่น โครเมียม เป็นต้น ที่เจตนาเลี่ยงการเก็บภาษีอากรขาเข้าและเลี่ยงอากรทุ่มตลาดเหล็กแผ่นรีดร้อนปกติจากสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีปริมาณนำเข้าในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-กรกฎาคม) สูงถึง 143,888 ตัน
ทั้งนี้ ผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนจึงเตรียมยื่นคำร้องให้ใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดของสินค้าเหล็กเจืออัลลอยด์อื่นๆ จากสาธารณรัฐประชาชนจีน และสาธารณรัฐเกาหลีเพิ่มเติมด้วย
กลุ่มผู้ผลิตเหล็กลวดร้องขอให้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เร่งรัดให้กระทรวงพาณิชย์ใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้าเหล็กลวดเจือโบรอนหรือเจือโครเมียมจากสาธารณรัฐประชาชนจีน
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้รับจดหมายร้องเรียนจากกลุ่มผู้ผลิตเหล็กลวด ที่เป็นสมาชิกของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้แก่ 1. กลุ่มบริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) ซึ่งประกอบด้วย บริษัท เหล็กสยาม (2001) จำกัด และบริษัท เอ็น.ที.เอส. สตีลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน 2. บริษัท โรงงานเหล็กกรุงเทพ จำกัด 3. บริษัท มิลล์คอนสตีลอินดัสทรีส์ จำกัด (มหาชน)
ด้วยมีสินค้าเหล็กลวดคาร์บอนสูงและเหล็กลวดคาร์บอนต่ำ จากสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้ามาทุ่มตลาดในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยการเติมธาตุโบรอนหรือโครเมียมในปริมาณต่ำสุด (เติมโครเมียมในอัตราร้อยละ 0.3 และโบรอนในอัตราร้อยละ 0.0008) เพียงเพื่อให้เข้าข่ายที่จะสามารถนำเข้าได้ในพิกัดศุลกากรของเหล็กกล้าเจือ (พิกัดศุลกากร 7227) ที่ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า ทั้งที่โดยความเป็นจริงแล้วเหล็กลวดชนิดนี้นำมาใช้ในงานก่อสร้างในพิกัดศุลกากร 7213 ซึ่งต้องมีการเสียภาษีนำเข้าในอัตราร้อยละ 5 เป็นเหตุให้รัฐบาลไทยต้องสูญเสียรายได้ (อากรนำเข้าร้อยละ 5) ส่งผลกระทบด้านราคาต่อผู้ผลิตในประเทศ
นอกจากนี้ รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน ยังได้สนับสนุนการส่งออกสินค้าเหล็กลวดในพิกัด 7227 โดยให้การอุดหนุนในอัตราร้อยละ 9 ของมูลค่าการส่งออก ส่งผลให้ในภาพรวมได้รับประโยชน์ไปเป็นจำนวนทั้งสิ้นร้อยละ 14 เป็นผลให้เหล็กที่นำเข้ามีราคาต่ำกว่าเหล็กที่ผลิตในประเทศ ทำให้ผู้ผลิตสินค้าในประเทศไทยยากที่จะแข่งขันกับสินค้านำเข้า ถือว่าไม่เป็นธรรมในเชิงแข่งขันทางการค้า
ในปี 2554 การนำเข้าสินค้าในพิกัดศุลกากรของเหล็กกล้าเจือเพิ่มขึ้นดังกล่าวเป็น 400,000 ตันต่อปี เทียบกับการนำเข้าในปี 2552 ที่อยู่ในระดับ 125,000 ตันต่อปี อย่างไรก็ตามในครึ่งปีแรกของปี 2555 นั้น การนำเข้าได้เพิ่มขึ้นเป็น 265,000 ตัน สูงกว่าปีก่อน และมีแนวโน้มที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตในประเทศ และส่งผลให้รัฐบาลสูญเสียรายได้จำนวนมาก
ทั้งนี้ กลุ่มผู้ผลิตเหล็กลวดได้ยื่นคำร้องขอให้ใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดกับสินค้าเหล็กดังกล่าวไปก่อนหน้านี้แล้วในระยะหนึ่ง กลุ่มผู้ผลิตเหล็กลวดจึงขอให้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยช่วยประสานงานเร่งรัดให้ภาครัฐที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการการพิจารณาบังคับใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้าดังกล่าว
ดังนั้น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจึงขอกราบเรียนไปยังภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้โปรดเร่งพิจารณาใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดของสินค้าเหล็กลวดเจือโบรอนและโครเมียมจากสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อบรรเทาความเสียหายที่เกิดแก่ผู้ผลิตภายในประเทศต่อไป -นท-