กรุงเทพฯ--17 ก.ย.--สสวท.
การแข่งขันโอลิมปิกวิชาการในปีนี้ยังไม่เสร็จสิ้นเสียทีเดียว สี่หนุ่มผู้แทนประเทศไทยจะเดินทางไปแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกในวันที่ 22 - 30 กันยายน 2555 ณ เมืองเซอร์มีโอเน ประเทศอิตาลี โดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ จะจัดพิธีส่งในวันศุกร์ที่ 21 กันยายน 2555 เวลา 20.00 น. ณ ชั้น 4 ด้านในประตูที่ 1 ตรงซุ้มการบินไทย สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งผู้แทนประเทศไทยของเราจะออกเดินทางไปประเทศอิตาลีด้วยเที่ยวบิน TG 940
ผู้แทนประเทศไทยของเราทั้ง 4 คน ประกอบด้วย นายจิรายุ ลือเวศย์วณิช โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ นายณัฐกุล กิจถาวร โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ นายวรท เปรมตุ่น โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม และนายสวรวีย์ พรเจริญวาสน์ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ส่วนคณะอาจารย์ ผู้ควบคุมทีม ได้แก่ รศ. ดร. พันธุ์ปิติ เปี่ยมสง่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหัวหน้าทีม ผศ. ดร. สุกรี สินธุภิญโญ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นรองหัวหน้าทีม ดร. นัทที นิภานันท์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ช่วยหัวหน้าทีม และนายนิรมิษ เพียรประเสริฐ สสวท. เป็นผู้จัดการทีม
นายจิรายุ ลือเวศย์วณิช (เฟอร์) ชั้น ม.6 โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เล่าให้ฟังถึงการเตรียมตัวว่ามีการอ่านทบทวนเนื้อหาที่เคยเรียนไปในค่าย สอวน. และ สสวท. จากนั้นก็ทำโจทย์มากๆ ส่วนในเรื่องทางด้านจิตใจนั้น ก็พยายามคิดว่าโจทย์ทุกข้อบนโลกมันง่าย แม้ว่ามันจะยากก็ตาม เพื่อเป็นกำลังใจให้ตัวเองในการขับเคลื่อนทำโจทย์แต่ละข้อต่อไปได้โดยไม่ท้อ “ผมก็เป็นเหมือนเด็กทั่วไปครับ เมื่อเครียดมากๆ ก็จะหาเกมเล่น หรือไม่ก็หาเพื่อนคุย”
น้องเฟอร์บอกว่าดีใจและภูมิใจที่ตัวเองกำลังจะได้ไปทำชื่อเสียงให้กับประเทศชาติ แอบดีใจที่จะได้ไปเที่ยวยุโรปด้วย “ผมมีความตั้งใจที่จะไปคว้าเหรียญทองมาอย่างที่รุ่นพี่ของผมทำกันมาทุกปี ผมโลดแล่นอยู่ในวงการคอมพิวเตอร์โอลิมปิกมานานแล้ว ส่วนตัวผมจึงคิดว่าการเป็นเจ้าภาพของไทยไม่ได้ส่งผลอะไรต่อตัวผม แต่สำหรับคนอื่นๆ โดยส่วนตัวผมคิดว่ามีส่วนกระตุ้นให้ผู้คนตื่นตัวในเรื่องของคอมพิวเตอร์มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่นรุ่นน้องที่โรงเรียนของผม ที่มีความสนใจมากขึ้นจากการเป็นเจ้าภาพคอมพิวเตอร์โอลิมปิกของประเทศไทย”
นายณัฐกุล กิจถาวร (กุล) เพิ่งเรียนจบ ม. 6 จากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ปัจจุบันศึกษาชั้นปีที่ 1 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าว่า ได้ ขยันทำโจทย์ หาโจทย์ใหม่ๆมาฝึกฝนเรื่อยๆ บางครั้งก็ทำสมาธิ ผมว่าการนั่งสมาธิอย่างสม่ำเสมอทุกๆ วันสามารถทำให้จิตใจสงบขึ้นนะครับ ความตั้งใจสำหรับการไปแข่งขันครั้งนี้ผมพยายามอย่างเต็มที่ แต่ต้องแบ่งเวลาให้กับกิจกรรมและการเรียนมหาวิทยาลัยด้วย “การเรียนรู้วิชาคอมพิวเตอร์นี้วัดกันที่กระบวนการคิดแก้ปัญหา รูปแบบการเขียนเป็นเพียงแค่พื้นฐานเท่านั้น เพราะฉะนั้นแค่ฝึกคิด คิดให้เก่ง คิดให้ลึก คิดให้รอบด้าน ก็เก่งได้แล้วนะครับ หาโจทย์เชาวน์ท้าทายสมองเรื่อยๆ โจทย์คอมพิวเตอร์สำหรับโอลิมปิก ก็เหมือนโจทย์เชาวน์ข้อหนึ่งนั่นแหละครับที่มีความท้าทายอยู่ที่ประสิทธิภาพของวิธีการในการแก้ไขปัญหา เสน่ห์ของวิชาคอมพิวเตอร์อยู่ที่ตรงนี้แหละครับ”
นายวรท เปรมตุ่น (ปอนด์) ชั้น ม.6 โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม เคยเป็น ผู้เข้าร่วมการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกปี 2554 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพซึ่งมีสิทธิ์ส่ง “ทีมผู้เข้าร่วมการแข่งขัน” เพิ่มเติมจากทีมผู้แทนประเทศไทยตามปกติ โดยคราวนั้นได้ร่วมแข่งขันเหมือนผู้แทนประเทศไทย แต่ไม่ได้รับเหรียญรางวัล ได้เป็นประกาศนียบัตรเทียบเท่าเหรียญรางวัลแทน ซึ่งได้รางวัลประกาศนียบัตรเทียบเท่าเหรียญทองแดง
การเตรียมตัวของน้องปอนด์นั้น เขาเล่าว่า ส่วนมากจะหาความรู้ทางอินเทอร์เน็ตครับ แล้วก็ทบทวนความรู้เก่า ๆ เอาเอกสารที่เคยเรียน หรือโค้ดโปรแกรมที่เคยเขียนไว้มาย้อนดูหลักการแนวคิดต่าง ๆ จากนั้นก็ฝึกทำโจทย์บ่อย ๆ เพราะยิ่งฝึกเราก็ยิ่งมีประสบการณ์ มีแนวคิดไปใช้กับโจทย์ข้อต่อ ๆ ไปมากขึ้น ส่วนในด้านจิตใจ ผมเป็นคนปฏิบัติธรรม ธรรมะช่วยลดปัญหาด้านจิตใจได้เยอะเลยครับ ปีที่แล้วผมได้รับเลือกเป็นผู้เข้าร่วมการแข่งขันในทีมที่ 2 ทำให้ได้สัมผัสบรรยากาศการแข่งขัน และคิดว่าถ้าได้ไปแข่งขันอีก ในฐานะผู้แทนประเทศจริงๆ เราน่าจะทำได้ จึงมาเข้าอบรมคัดเลือกในปีนี้
“โรงเรียนมีโครงการสอนพื้นฐานการเขียนโปรแกรมให้กับนักเรียนที่สนใจ เพื่อเตรียมตัวแข่งขันโครงการโอลิมปิกวิชาการอยู่แล้ว ก็พยายามเรียนจนเข้าใจพื้นฐานสำคัญ ๆ แล้วก็ฝึกฝนด้วยตัวเอง พอได้มาเข้าค่ายที่สอวน. และ สสวท. ก็ตั้งใจเก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์ให้มากที่สุด เพราะในค่ายจะมีทั้งเพื่อนและอาจารย์เก่ง ๆ ที่หาไม่ได้จากที่อื่น”
นายสรวีย์ พรเจริญวาสน์ (โอ๊ค) ชั้น ม. 6 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา บอกว่า “ความรู้สึกแรกที่ทราบว่าได้เป็นผู้แทนประเทศไทย รู้สึกดีใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นความฝันตั้งแต่เรียนมัธยมศึกษาปีที่ 4 แล้วว่าอยากจะเป็นผู้แทนประเทศไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ ความตั้งใจในการไปแข่งขันครั้งนี้ ผมจะทำให้ดีที่สุด เพื่อคุณพ่อคุณแม่ โรงเรียน และประเทศไทย”
พร้อมกันนั้นน้องโอ๊ค ได้แนะนำว่าการเรียนคอมพิวเตอร์ให้เก่งได้ก็ต้องมีความชอบ ก่อนอื่นก็ต้องมีพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ที่ดีมาก่อนและสนุกกับการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ โดยไม่จำเป็นที่จะต้องได้คะแนนดีมาก เนื่องจากคณิตศาสตร์จะมาเป็นพื้นฐานในการเขียนโปรแกรมอีกทีจากนั้นก็เริ่มต้นจากการศึกษาการเขียนโปรแกรม แนะนำภาษาซี เนื่องจากใช้ในการแข่งขันและเรียนรู้ง่ายกว่าภาษาอื่น พยายามตั้งคำถามกับตัวเองไปด้วยว่าปัญหาต่างๆควรจะแก้ไขอย่างไรถึงจะดี การฝึกทำโจทย์ แนะนำเว็บ www.programming.in.th ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ สสวท. จัดทำขึ้นมาให้ฝึกทำโจทย์การเขียนโปรแกรม นอกจากนี้ยังมีบอร์ดเอาไว้ให้ถามถึงการเขียนโปรแกรมอีกด้วย และหากที่โรงเรียนมีรุ่นพี่หรือเพื่อนๆ ที่สนใจด้านเดียวกันก็สามารถแลกเปลี่ยนความรู้กันได้ ตัวผมเองก็ได้ความรู้มากจากรุ่นพี่มากมาย-กภ-
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit