เจาะลึกหุ้นเอเชียรายไตรมาส (ประจำไตรมาส 4/55) โดย ศูนย์วิจัยระดับโลก ธนาคารเอชเอสบีซี

18 Sep 2012

กรุงเทพฯ--18 ก.ย.--ธนาคารเอชเอสบีซี

กลุ่มตลาดที่มีโครงสร้างแข็งแกร่ง

  • ในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวทั่วภูมิภาคเอเชีย เรายังคงมองหาตลาดที่มีโครงสร้างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะในอาเซียน
  • ในขณะเดียวกัน ตลาดหุ้นบางแห่งเช่นจีน ยังคงมีหลักทรัพย์ที่มีราคาน่าสนใจอย่างยิ่ง และพร้อมจะปรับตัวขึ้นได้เมื่อตลาดมีการปรับเปลี่ยนการลงทุนหุ้นตามรอบ
  • ในภาพรวม เรายังคงเน้นการสร้างพอร์ตลงทุนหุ้นเอเชียในลักษณะสมดุล

เมื่อเดือนที่แล้ว เราระบุว่าการปรับตัวขึ้นของหุ้นในไตรมาสที่ 3 มีความแตกต่างอย่างมากจากในไตรมาสแรก และเป็นเวลาที่ควรจะใช้กลยุทธ์การลงทุนในหุ้นเอเชียแบบอนุรักษ์นิยมมากขึ้นเรายังคงใช้กลยุทธ์เช่นเดิมสำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นเอเชียในไตรมาสถัด ๆ ไป

ถึงแม้ว่าตลาดหุ้นเอเชียจะสามารถประคองตัวได้ดีในช่วงฤดูร้อนที่เพิ่งผ่านไป โดยได้แรงหนุนจากราคาหุ้นที่ต่ำและความคาดหวังด้านการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางต่าง ๆ แต่เครื่องบ่งชี้ถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ดูจะยังมีน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (purchasing managers indexes หรือ PMIs) ของประเทศต่าง ๆ เช่น จีน ไต้หวัน และเกาหลี ที่สะท้อนถึงสภาพความอ่อนแออย่างต่อเนื่องของปริมาณคำสั่งซื้อที่ผู้ส่งออกได้รับ ซึ่งเป็นข้อเตือนใจสำหรับนักลงทุนว่าภูมิภาคเอเชียก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบจากปัญหาความอ่อนแอของยุโรปและอเมริกาได้

ผลประกอบการรายไตรมาสของบริษัทต่าง ๆ ทั่วเอเชียที่ประกาศออกมาเมื่อเร็ว ๆ นี้แสดงว่า ภาวะการชะลอตัวนี้ได้เริ่มสร้างแรงกดดันต่อภาคธุรกิจในรูปของผลประกอบการ และเผยให้เห็นถึงสภาพความอ่อนแอเชิงโครงสร้างของภาคธุรกิจในเอเชีย ตัวอย่างเช่นในจีน เราสามารถสังเกตเห็นว่าการขยายตัวของภาคธุรกิจต้องพึ่งพาการเพิ่มเงินทุนหมุนเวียนมากขึ้นเรื่อย ๆ

เพราะฉะนั้นเราจึงมุ่งเน้นการลงทุนในตลาดที่มีโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและขยายตัวได้ต่อเนื่อง จึงทำให้เราเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย

ในขณะเดียวกัน เราก็ยังชอบประเทศจีนแต่ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน กล่าวคือ ถึงแม้ว่าผลประกอบการของบริษัทต่าง ๆ จะออกมาไม่ค่อยดี แต่ราคาหุ้นยังต่ำมาก ซึ่งจะช่วยให้ตลาดหุ้นจีนสามารถปรับตัวขึ้นได้ง่ายหากความเชื่อมั่นของนักลงทุนฟื้นตัว และมีการโยกเงินกลับเข้าลงทุนในหุ้นวัฎจักร นอกจากนี้ ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นจีนยังจะได้รับอานิสงส์จากมาตรการผ่อนคลายด้านนโยบายของรัฐบาลในอนาคต

ในการพิจารณาเลือกลงทุนในตลาดและกลุ่มธุรกิจ เราเน้นหลักเกณฑ์ 5 ประการในการสร้างพอร์ตลงทุนแบบสมดุล ดังนี้ (1) นโยบายกระตุ้นทางการเงินที่มีผลดีต่อตลาดหุ้น (2) โอกาส/ศักยภาพการขยายตัวของธุรกิจที่ดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ (3) กระแสข่าวในเชิงบวกต่าง ๆ (4) ราคาต่ำ (5) แนวโน้มที่ดีในระยะยาว

กลยุทธ์การลงทุน

  • ถึงแม้ว่าเครื่องบ่งชี้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียดูจะยังมีน้อย และเห็นได้ชัดว่ามีความเสี่ยงที่จะตามมา เราก็ยังคงให้น้ำหนักเพิ่มสำหรับการลงทุนในตลาดอาเซียนที่พึ่งพาปัจจัยภายในประเทศเป็นหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
  • ในขณะเดียวกัน ตลาดบางตลาดเช่นจีน มีราคาหุ้นที่ซื้อขายกันต่ำมาก และสามารถปรับตัวขึ้นได้เร็วเมื่อมีการปรับเปลี่ยนเข้าลงทุนในกลุ่มหุ้นวัฎจักร หรือหุ้นที่เล่นตามรอบ
  • เราเน้นการสร้างพอร์ตลงทุนหุ้นในเอเชียแบบสมดุล

เอเชีย: ในระยะข้างหน้า

  • การขยายตัวของเอเชียมาถึงช่วงของการชะลอตัวและการเปลี่ยนแปลง โดยจะมุ่งเน้นความสามารถในการเพิ่มผลผลิตมากขึ้น
  • เราคาดว่าปัจจัยการขยายตัวเชิงโครงสร้างมี 3 ด้านด้วยกัน คือ การส่งออกสินค้าคุณภาพสูง การประกันสุขภาพและความปลอดภัยของผู้สูงอายุ และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค

แนวทางพิจารณาธุรกิจที่มีการเติบโตเชิงโครงสร้าง

เศรษฐกิจเอเชียกำลังอยู่ในภาวะชะลอตัว โดยที่ผ่านมา บริษัทในเอเชียหลายแห่งดำเนินธุรกิจโดยได้ประโยชน์จากค่าจ้างแรงงานราคาถูกมาเป็นเวลานาน แต่ปัจจุบันภาระค่าแรงได้เพิ่มสูงขึ้นและบริษัทต่างๆขณะนี้จำเป็นต้องใช้แรงงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและส่งออกสินค้าคุณภาพสูงมากขึ้น รวมทั้งปรับตัวรับแนวโน้มตลาดใหม่ ๆ ดังนั้นปริมาณผลผลิต นวัตกรรม และความสามารถในการปรับตัว จึงเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จมากกว่าค่าแรงราคาถูกเช่นในอดีต

ความเห็นรายตลาด

เพิ่มน้ำหนักลงทุน (overweight) ในตลาดอินโดนีเซีย จีน มาเลเซีย และไทย

ให้น้ำหนักลงทุนเป็นกลาง (neutral) ในตลาดสิงคโปร์ เกาหลี ฟิลิปปินส์ และฮ่องกง

ลดน้ำหนักลงทุน (underweight) ในตลาดไต้หวัน และอินเดีย

ความเห็นรายกลุ่มธุรกิจ

เพิ่มน้ำหนักลงทุน (overweight): สินค้าเพื่อสุขภาพ กลุ่มพลังงาน สินค้าฟุ่มเฟือย

ให้น้ำหนักเป็นกลาง (neutral): ธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศ ธุรกิจการเงิน สินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ธุรกิจสื่อสาร

ลดน้ำหนักลงทุน (underweight): สินค้าอุตสาหกรรม กิจการสาธารณูปโภค สินค้าวัสดุ

เพิ่มน้ำหนักลงทุนในประเทศไทย (overweight)

  • เรายังคงเพิ่มน้ำหนักลงทุน (overweight) ในประเทศไทย
  • ตลาดไทยเป็นตลาดที่มีโครงสร้างที่แข็งแกร่งในระยะยาว และมีปัจจัยกระตุ้นการเติบโตในระยะสั้น
  • เป็นตลาดยอดนิยม แต่ราคาหุ้นยังอยู่ในระดับที่สมเหตุสมผล

เหตุใดจึงเพิ่มน้ำหนักลงทุนในตลาดหุ้นไทย

ประเทศไทยเป็นตลาดที่มีโครงสร้างที่แข็งแกร่งในระยะยาว ราคาหุ้นไทยอยู่ในระดับที่สมเหตุสมผล และมีความเป็นไปได้ที่จะเติบโตเกินคาดในระยะสั้น มีอัตราเงินปันผลตอบแทนที่น่าสนใจ ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองมีแนวโน้มผ่อนคลายลง

ตลาดหุ้นไทยเป็นตลาดยอดนิยมแห่งหนึ่งในภูมิภาคนี้ ทั้งในด้านซื้อและขาย นายเลอีฟ เอสกีเซน นักเศรษฐศาสตร์ของเอชเอสบีซี เชื่อว่านโยบายการคลังของไทยจะช่วยหนุนเศรษฐกิจได้ในปีนี้ ซึ่งจะช่วยชดเชยผลกระทบจากปัญหาเงินทุนไหลออกและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

ปัญหาเงินเฟ้อยังไม่น่าเป็นห่วง นักเศรษฐศาสตร์ของเอชเอสบีซี เชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยจะยังคงทรงตัวอยู่ได้ในปีนี้โดยได้รับแรงหนุนจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ร้อยละ 4.2 ในไตรมาสที่ 2 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นอัตราเติบโตที่สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ดีที่สุดของนักวิเคราะห์ แต่แนวโน้มของเศรษฐกิจยังไม่แน่นอน และเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะตัดสินใจใช้นโยบายโดยคำนึงถึงตัวเลขต่างๆที่จะออกมาในระยะข้างหน้าท่ามกลางความกังวลต่อสถานการณ์ในยุโรป

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขคาดการณ์ผลประกอบการของบริษัทต่าง ๆ สูงกว่าตัวเลขจริงเล็กน้อยหลังจากผลประกอบการในช่วงครึ่งแรกของปี 2555 ออกมาดีมาก ผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนไทยในไตรมาสที่ 2 พบว่า มีบริษัทที่มีผลประกอบการต่ำกว่าคาดอยู่ร้อยละ 43 และมีบริษัทที่มีผลประกอบการเกินคาดเพียงร้อยละ 14 เท่านั้น

น่าแปลกใจว่านักวิเคราะห์ไทยต่างพากันปรับลดตัวเลขคาดการณ์ลง แต่เราไม่เชื่อว่าจะปรับลดลงมาก ส่วนใหญ่เชื่อว่าบริษัทไทยจะสามารถเติบโตยอดขายได้ในระดับใกล้เคียงกับตัวเลขการขยายตัวเบื้องต้นของจีดีพี ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่น่าเชื่อถือ ในขณะนี้ความเห็นส่วนใหญ่คาดว่าตัวเลขยอดขายในปีนี้จะขยายตัวที่ร้อยละ 10.3 และตัวเลข EBIDA จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 และส่วนต่างของผลกำไรของบริษัทต่างๆที่ลดลงคงเป็นผลมาจากแรงกดดันด้านค่าจ้างแรงงาน และการขยายตัวของกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ของปีนี้คาดไว้ที่ร้อยละ 17.2

ราคาหุ้นไทยขณะนี้ซื้อขายกันที่ประมาณ 11 เท่าของตัวเลขคาดการณ์ผลประกอบการ ซึ่งใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในอดีต และใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย (ที่ 10.9 เท่า) ทั้งที่บริษัทไทยจะมีอัตราการขยายตัวของผลประกอบการที่ดีกว่า (ร้อยละ 17.2 เทียบกับร้อยละ 11.4)

ในภาพรวม ปีนี้นักลงทุนต่างชาติได้ซื้อหุ้นไทยเป็นมูลค่ารวม 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ได้ทยอยขายออกไป 700 ล้านเหรียญตั้งแต่เดือนพฤษภาคม เราคาดว่าจะมีกองทุนรวมต่างๆ เข้ามาซื้อหุ้นไทยเพิ่มขึ้นในไตรมาสถัด ๆ ไป เนื่องจากจำนวนหุ้นไทยที่มีอยู่ในพอร์ตขณะนี้ยังต่ำกว่าค่ามาตรฐานของน้ำหนักลงทุนที่ให้กับประเทศไทย

ถ้าพิจารณาในด้านอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) พบว่า หุ้นในหมวดสินค้าปลีกที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต และสินค้าฟุ่มเฟือย ให้ผลตอบแทนดีที่สุด สัดส่วนของราคาต่อหุ้น (price/book value) เมื่อเทียบกับอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) สะท้อนว่าราคาหุ้นในกลุ่มธุรกิจเหล่านี้ยังไม่แพงเกินไป

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ วรนันท์ สุทธปรีดา, สาวิตรี หมวดเมือง โทรศัพท์ 0-2614-4609, 0-2614-4606-กภ-