ก.ไอซีที จับมือ ไอทียู จัดประชุม WTIM 2012 เพื่อพัฒนางานด้านสถิติและตัวชี้วัด ICT ระดับสากล

13 Sep 2012

กรุงเทพฯ--13 ก.ย.--ก.ไอซีที

นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยในงานแถลงข่าวการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมระดับโลกว่าด้วยตัวชี้วัดด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศปี ค.ศ. 2012 ว่า กระทรวงไอซีที ร่วมกับ สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union : ITU) กำหนดจะจัดการประชุมระดับโลกว่าด้วยตัวชี้วัดด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ ครั้งที่ 10 ประจำปี ค.ศ. 2012 (World Telecommunication/ICT Indicators Meeting : WTIM 2012) ขึ้น ระหว่างวันที่ 25 -27 กันยายน 2555 ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอนด์ บางกอกคอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิรลด์ กรุงเทพฯ เพื่อมุ่งเน้นการนำเสนอค่าสถิติต่างๆ ที่ใช้ในการพัฒนาเทคโนโลยีและตอบสนองความต้องการของประชาชนในประเทศ ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่มีภารกิจเกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวง หน่วยงานสถิติแห่งชาติ ผู้กำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม/ ICT ผู้ประกอบการด้านโทรคมนาคม/ ICT นักวิชาการ รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านสถิติและการจัดทำตัวชี้วัดสังคมสารสนเทศ จากประเทศสมาชิก ITU จำนวน 193 ประเทศทั่วโลก รวมประมาณกว่า 400 คน ที่เข้าร่วมประชุม ได้รับความรู้รวมทั้งแนวทางในการพัฒนาเทคโนโลยีและสามารถนำไปพัฒนาหน่วยงานของตนเอง เพื่อเตรียมตัวรองรับ AEC ในปี ค.ศ. 2015

“ที่ผ่านมาประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับข้อมูลสถิติและตัวชี้วัดด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ เพราะนอกจากจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการกำหนดนโยบายของประเทศแล้ว ยังเป็นเครื่องมือในการประเมินผลการดำเนินงานว่าบรรลุผลตามเป้าหมายที่กำหนดไว้หรือไม่ ซึ่งจากข้อมูลสถิติและตัวชี้วัดที่มีอยู่นั้นแสดงว่าประชากรโลกมีแนวโน้มการเชื่อมโยงเข้าหากันผ่านอินเทอร์เน็ตมากขึ้น โดยปัจจุบัน 1 ใน 3 ของประชากรโลกสามารถเข้าถึงโครงข่ายอินเทอร์เน็ตได้ ส่งผลให้การใช้งานแบนด์วิธของโลกเพิ่มปริมาณสูงขึ้นอย่างมาก ทั้งในกลุ่มประเทศยุโรป อเมริกา เอเชีย และแอฟริกา และการใช้เทคโนโลยีไร้สายก็ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน เนื่องจากมีจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือมากกว่า 6 พันล้านหมายเลข โดยมีประชากรโลกมากกว่าร้อยละ 90 สามารถเข้าถึงโครงข่าย 2G ขณะที่ร้อยละ 45 เข้าถึงโครงข่าย 3G ได้

สำหรับประเทศไทยนั้น เคยเป็นต้นแบบของการพัฒนาทางด้าน ICT ในพื้นที่ห่างไกล (ICT in village) และเป็นที่ยอมรับขององค์กรระหว่างประเทศในการดำเนินการเพื่อลดความเลื่อมล้ำในการเข้าถึง ICT ของประชาชนที่อยู่ในชนบทห่างไกล แต่ปัจจุบันอันดับการแข่งขันและขีดความสามารถทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของไทยลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2006 หรือ พ.ศ.2549 จากที่ Network Readiness Index ของไทยเคยอยู่ที่อันดับ 34 ในปี 2006 ได้ลดลงมาอยู่ที่อันดับ 77 ในปี 2012 รวมทั้งการกระจายตัวของ ICT ก็จะกระจุกตัวอยู่ในเขตเมืองโดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร มากกว่าในต่างจังหวัดหรือชนบท โดยกรุงเทพมหานครมีครัวเรือนที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ร้อยละ 35.6 ในขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีเพียงร้อยละ 7.3” นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ กล่าว

ดังนั้น การจัดทำสถิติและตัวชี้วัดต่างๆ ให้ครอบคลุม โดยจัดเก็บข้อมูลจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการ ผู้ให้บริการ ผู้ใช้บริการ รวมทั้งประชาชน จึงเป็นสิ่งสำคัญ และกระทรวงฯ ยังได้ตระหนักถึงความจำเป็นของการจัดเก็บข้อมูลในระดับบุคคลและครัวเรือน ซึ่งข้อมูลในระดับย่อยดังกล่าวนี้ มีความสำคัญอย่างมากเพราะหากรัฐได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและตรงจุดก็จะสะท้อนภาพที่แท้จริงของการพัฒนาทั้งในระดับภาพรวมของประเทศและระดับพื้นที่ที่แสดงสถานการณ์ด้านโทรคมนาคมและ เทคโนโลยีสารสนเทศ อันจะช่วยให้กระทรวงฯ และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทราบถึงปัญหาและจุดบกพร่องในการดำเนินงานที่ผ่านมาและเร่งแก้ไขในจุดดังกล่าว หรือปรับเปลี่ยนนโยบายให้มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบันของภาคโทรคมนาคมและ เทคโนโลยีสารสนเทศได้ดียิ่งขึ้น

สำหรับวัตถุประสงค์ของการจัดประชุม WTIM 2012 ครั้งนี้ ก็เพื่อให้เป็นเวทีกลางในการหารือเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ที่ว่าด้วยสถิติและตัวชี้วัดด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ การกำหนดตัวชี้วัดและคำจำกัดความ ความท้าทายที่เกี่ยวกับการวัดระดับสังคมสารสนเทศ และแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการจัดทำสถิติและตัวชี้วัดด้านนี้ให้สะท้อนความเป็นจริงและครอบคลุมมิติต่างๆ อย่างครบถ้วน เพื่อประโยชน์ในการกำหนดนโยบายและติดตามผลการพัฒนาด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพของภาครัฐ

ส่วนรายละเอียดของการประชุมฯ จะนำเสนอประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร อาทิ การชี้วัดเรื่องบรอดแบนด์ ทั้งด้านราคา ความเร็ว และขีดความสามารถ การชี้วัดพัฒนาการในการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามผลการประชุมสุดยอดระดับโลกว่าด้วยสังคมสารสนเทศ ในประเด็นด้านการศึกษา ธุรกิจ และความมั่นคงปลอดภัย การทบทวนและปรับปรุงแก้ไขตัวชี้วัดเรื่องการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารระดับครัวเรือน และการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในระดับบุคคล รวมทั้งประเด็นที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น การชี้วัดเรื่องการส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล และเนื้อหาที่แสดงผ่านอินเทอร์เน็ต เป็นต้น

“การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม WTIM 2012 ครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้เน้นย้ำถึงบทบาทและการมีส่วนร่วมของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศ ในฐานะประเทศสมาชิกของ ITU และสมาชิกของสหประชาชาติ พร้อมกันนี้ยังเป็นการเปิดโอกาสให้หน่วยงานของไทยที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บข้อมูลเชิงสถิติและการจัดทำตัวชี้วัด รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศได้มีโอกาสในการเข้าร่วมการประชุมระดับโลก อีกทั้งได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้แทนจากประเทศต่างๆ ตลอดจนสามารถนำความรู้และผลการประชุมมาปรับใช้ในการดำเนินงานตามภารกิจที่หน่วยงานนั้นๆ รับผิดชอบด้วย” นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ กล่าว-นท-