กรุงเทพฯ--14 ก.ย.--ไอแอม พีอาร์
สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ ร่วมกับ เทศบาลนครลำปาง และภาคีเครือข่ายภาคประชาชนจังหวัดลำปาง จัดเวทีเสวนาวิชาการ “คน เมือง ลำปาง” เปิดประเด็นเนื้อหาทางวิชาการ และร่วมกันค้นหา “ลำปางแต๊ๆ” ตามโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ “มิวเซียมลำปาง” หวังขยายผลจากต้นแบบ “มิวเซียมสยาม” สร้างพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ระดับภูมิภาค
นายราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ หรือ สพร. กล่าวในระหว่างการเปิดเวทีเสวนาวิชาการ “คน เมือง ลำปาง” ว่า ภารกิจหนึ่งที่สำคัญของ สพร. ก็คือการสร้างแหล่งเรียนรู้ทางเลือกให้เกิดขึ้นทั่วประเทศไทย โดยจัดทำในรูปแบบของพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ ภายใต้ปรัชญาหรือแนวคิด Discovery Museum ที่เน้นการกระตุกความคิด จุดประกายความอยากรู้ เพื่อให้เกิดประสบการณ์และทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเอง ภายใต้สภาวะแวดล้อมที่สนุกสนานและรื่นรมย์
“สพร.ได้เล็งเห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จึงได้จัดงานเสวนาวิชาการในครั้งนี้ขึ้น เพื่อให้นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิสาขาต่างๆ และประชาชนจากทุกภาคส่วนได้มาร่วมกันตามหาว่าลำปางแต๊ๆ นั้นเป็นอย่างไร และมีส่วนร่วมในการพิจารณาเนื้อหาเพื่อให้เกิดมุมมองที่หลากหลายในเรื่องราวที่เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับความเป็นลำปางในปัจจุบัน โดยสิ่งที่พูดคุยกันในวันนี้จะนำไปสู่การออกแบบรายละเอียดของนิทรรศการในมิวเซียมลำปางต่อไป” ผอ.ราเมศ กล่าว
โครงการเสวนาทางวิชาการ “คน เมือง ลำปาง” ตอน “ตามหาลำปางแต๊ๆ???” เป็นเวทีวิชาการที่เปิดประเด็นเนื้อหา และข้อมูลการศึกษาในเรื่องของประวัติศาสตร์และความเป็นมาของลำปางตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันสู่สาธารณะ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ ก่อนที่จะนำไปใช้ในการออกแบบนิทรรศการถาวรของ พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้เมืองลำปาง หรือ “มิวเซียมลำปาง”
โดยเนื้อหาในนิทรรศการถาวรของ “มิวเซียมลำปาง” มีวัตถุประสงค์เพื่อให้คนลำปางได้รู้จักตัวตนที่แท้จริงของตนเอง ด้วยการตั้งคำถามกับผู้ชมผ่านโครงเรื่องหลักของนิทรรศการคือ “ลำปางแต้ก๊ะ” โดยจะมีเนื้อหาที่บ่งบอกถึงความเป็นลำปางใน 3 มิติคือ “คน” ซึ่งมีความสัมพันธ์กับความเป็น “เมือง” และผสมผสานเชื่อมโยงกันเป็นจังหวัด “ลำปาง” ผ่านการนำเสนอแบบ “สัปปะม่วนนัน” ที่เน้นความสนุกสนานอันเป็นเอกลักษณ์ของคนท้องถิ่น
ดร.นิมิตร จิวะสันติการ นายกเทศมนตรีนครลำปาง กล่าวถึงโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้เมืองลำปางว่า เป็นสิ่งที่ชาวลำปางโหยหามาเป็นระยะเวลานาน และมีความต้องการที่จะสร้างพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ที่สมบูรณ์แบบให้เกิดขึ้นในพื้นที่ เพราะปัญหาของคนไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบันเมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวมถึงประเทศเพื่อนบ้านก็คือ เรายังขาดความเข้าใจในรากเหง้า และความเป็นตัวตนของคนไทย โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ เป็นกลุ่มคนที่เริ่มจะไม่มีรากแก้วที่หยั่งลึกลงไปอย่างมั่นคงในพื้นที่ เพื่อที่จะให้เราได้เจริญเติบโตอย่างมั่นคงและแข็งแรง
“ก่อนที่จะไปถึงเรื่องของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่เรากำลังเห่อกันมากๆ จะทำอย่างไรที่จะปลุกกระแสและรณรงค์สร้างกระบวนการให้คนไทยรู้จักตัวเอง รู้จักรากเหง้า และภูมิใจในประวัติศาสตร์ของเรา เพื่อที่จะเดินไปสู่อนาคตข้างหน้าอย่างภาคภูมิ ซึ่งตรงนี้มีความสำคัญมาก ทำอย่างไรเราจึงจะสร้างแหล่งเรียนรู้ให้เกิดขึ้น ให้ทุกอย่างที่อยู่รอบตัวของเรา สามารถที่จะสร้างให้เกิดเรียนรู้ เกิดความเข้าใจในตัวตนและรากเหง้าของเราทั้งหมด ซึ่งนครลำปางจะต้องเป็นนครแห่งการเรียนรู้ให้ได้ โดยทางเทศบาลฯ พร้อมที่จะสนับสนุนทุกอย่างเพื่อให้เกิดสิ่งดีๆ เหล่านี้ขึ้นในจังหวัด” ดร.นิมิตร ระบุ
ศ.เกียรติคุณ สยมพร ศิรินาวิน ผู้แทนเครือข่ายภาคประชาชนจังหวัดลำปาง เปิดเผยว่าเมื่อเกิดโครงการพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้เมืองลำปางขึ้นแน่นอนว่าชาวลำปางทุกคนก็มีความดีใจ เพราะลำปางยังไม่เคยมีพิพิธภัณฑ์ของจังหวัด และเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ยังเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต เพราะมิวเซียมลำปางเกิดขึ้นจากความคิดและความต้องการของประชาชนชาวลำปางที่ได้เข้าไปทำงานร่วมกับภาควิชาการ โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้สนับสนุนตั้งแต่แรกเริ่มดำเนินการ
“มิวเซียมลำปางจะไม่ใช่ที่ตั้งเก็บหรือจัดแสดงของเก่าต่างๆ แต่จะเป็นสถานที่ๆ เปิดโอกาสให้คนลำปางจะได้ทบทวนตัวตนของตนเอง ทบทวนศิลปะ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ของเมืองลำปางผ่านการนำเสนอในรูปพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ ที่สามารถเชื่อมโยงโยงไปถึงประชาชนทุกระดับในท้องถิ่นต่างๆ นอกจากจะเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของจังหวัดแล้ว ยังเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ชาวลำปางทุกคนอยากจะให้เป็น โดยภาคประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน ซึ่งภาคประชาชนจะเป็นแรงขับดันและพลังที่สำคัญที่จะทำให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เกิดความยั่งยืนในอนาคต” อ.สยมพร กล่าว
สำหรับ โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้เมืองลำปาง หรือ “มิวเซียมลำปาง” เป็นการต่อยอดขยายผลพื้นที่การเรียนรู้ในรูปแบบของพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ “มิวเซียมสยาม” กรุงเทพฯ ไปสู่ภูมิภาค เพื่อให้พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้เป็นเครื่องมือสร้างและบ่มเพาะคนรุ่นใหม่ของสังคม ซึ่งทางสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติมุ่งหวังว่า “มิวเซียมลำปาง” ที่จะเกิดขึ้นนั้น จะเป็นต้นแบบของการสร้างสรรค์แหล่งเรียนรู้ในรูปแบบของ พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ (Discovery Museum) ประเภท พิพิธภัณฑ์เมือง (City Museum) ในระดับจังหวัด ซึ่งจะเป็นจุดสำคัญของการสร้างเครือข่ายพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ในภูมิภาค และยังมีความสำคัญอย่างยิ่งในการเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงกับเครือข่ายพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ที่มีอยู่ภายในจังหวัดลำปาง
“จุดเด่นของลำปางคือการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน โดยได้รับการผลักดันอย่างต่อเนื่องจากภาคประชาชน นักวิชาการ และผู้บริหารของท้องถิ่น ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างมากต่อความสำเร็จและยั่งยืนของพิพิธภัณฑ์ในอนาคต ซึ่งการเกิดขึ้นของมิวเซียมลำปางไม่ใช่ผลลัพธ์สุดท้าย เพราะกระบวนการในการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์เมืองลำปางในขั้นตอนต่างๆ นั้นจะกลายเป็นนวัตกรรมหรือเป็นต้นแบบในการนำองค์ความรู้ในการทำงาน ไปปรับใช้ในการพัฒนาให้เกิดแหล่งเรียนรู้อื่นๆในประเทศต่อไปในอนาคต” ผอ.ราเมศกล่าวสรุป.
-กผ-
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit