เชฟมือโปรจากเชียงใหม่และเชฟรุ่นจูเนียร์จากราชภัฏสวนดุสิตคว้าแชมป์

23 Jul 2012

กรุงเทพฯ--23 ก.ค.--อายิโนะโมะโต๊ะ

เสร็จสิ้นไปแล้ว สำหรับการแข่งขันการปรุงอาหาร Thailand Umami Culinary Challenge 2012 รอบชิงชนะเลิศ ด้วยมาตรฐานการแข่งขันระดับโลก ที่จัดโดย “อายิโนะโมะโต๊ะ” ร่วมกับสมาคมพ่อครัวไทย และ Thailand Culinary Academy เพื่อค้นหาสุดยอดเชฟทั้งรุ่นมืออาชีพและรุ่นเยาวชน โดยใช้ศาสตร์แห่ง “อูมามิ รสชาติพื้นฐานที่ 5” มาเป็นหนึ่งในเกณฑ์การตัดสิน เป็นครั้งแรกของประเทศไทย ร่วมด้วยกฎและกติกา การตัดสินตามมาตรฐานของสมาคมเชฟโลก (World Association of Chef Societies : WACS) นำโดยทีมผู้ตัดสิน คือ เชฟจำนงค์ นิรังสรรค์ นายกสมาคมพ่อครัวไทย เชฟวิวแมน ลีออง

ผู้ตัดสินเกรด A รับรองโดยสมาคมเชฟโลก และ ม.ล. ศิริเฉลิม สวัสดิวัตน์ หรือ เชฟหมึกแดง Thai Celebrity Food Expert เชฟสมศักดิ์ รารองคำ Executive Chef จากโรงแรม Grand Le Meridien และเชฟพันธมิตร จากต่างประเทศ ร่วมด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านศาสตร์อูมามิจากประเทศญี่ปุ่น โดยทุกทีมต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ และศิลปะการปรุงอาหารเฉพาะตัวเพื่อรังสรรค์เมนู “อูมามิ” ให้กลมกล่อมและมีคุณประโยชน์นำเสนอต่อกรรมการ มีเชฟระดับฝีมือและเชฟรุ่นเยาว์ ร่วม 70 ชีวิต ขึ้นประชันบนเวที รอบชิงชนะเลิศ ณ เอ็มซีซีฮอลล์ เดอะมอลล์ บางกะปิ

การแข่งขันเริ่มต้นด้วย เชฟระดับเยาวชนลงประชันฝีมือ โดยมีเวลาทั้งสิ้นทีมละ 90 นาที ซึ่งจากผลการตัดสินของคณะกรรมการ เชฟเยาวชนที่คว้ารางวัลชนะเลิศ คือ ทีม “Dream team” ประกอบด้วย นายพัชรวัฒน์ ธีรเกียรติธนากร และ นาย ทีปนนท์ พงศ์ทอง จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต กับผลงาน 3 เมนูที่ชนะใจกรรมการ คือ สลัดหอยเชลล์กุ้งรมควัน ซุปอูมามิสไตล์จีน และ เนื้อสันในหมักมิโสะ โดย “Dream team” นำเสนอ ถึงคุณประโยชน์ และรสชาติอร่อยกลมกล่อม ที่เหนือคู่แข่ง ด้วยการนำศาสตร์ของรสอูมามิ มาใช้ลำดับเมนูอาหาร เริ่มต้นด้วยรสของซอสมายองเนส ซึ่งให้รสหวานเลี่ยน เมื่อบวกกับ วาซาบิและน้ำมะนาว จะช่วยเพิ่มรสเปรี้ยวและตัดความเลี่ยนออกไป ต่อมาเมื่อได้ทานหอยเชลล์ ลิ้นจะสามารถลำดับรสชาติ และรับรสอร่อยกลมกล่อมได้ อีกทั้งยังกระตุ้นความอยากอาหารในเมนูถัดไป ซึ่งเป็นเมนูซุปอูมามิสไตล์จีน ซอสมิโสะช่วยเพิ่มรสอูมามิในน้ำซุปให้รสอร่อยกลมกล่อม และ ลดความคาวของเนื้อเป็ดได้ ซึ่งถือเป็นหลักการสร้างสมดุลของรสชาติอาหารไม่ให้มีกลิ่นฉุนนำ หรือรสชาติบางอย่างเด่นมากเกินไป ปิดท้ายด้วยเมนู เนื้อสันในหมักมิโสะ ซึ่งจะเป็นเมนูจานหลัก รังสรรค์จากวัตถุดิบที่อุดมด้วยกลูตาเมตในปริมาณสูง อาทิ เนื้อวัวสันใน เต้าเจี้ยวญี่ปุ่น และ มิโสะ ทำให้เมนูนี้จะมีอูมามิ เป็นแก่นหรือรสชาติพื้นฐานแก่อาหาร และยังช่วยดึงรสชาติปฐมภูมิอื่นๆ คือ รสหวาน เปรี้ยว เค็ม ขม มิให้ถูกกลบหายไป และรู้สึกว่าอร่อยกลมกล่อมอย่างแท้จริง ทีม “Dream team” เปิดเผยเคล็ดลับ

สำหรับการแข่งขันระดับระดับมืออาชีพ ซึ่งมีเวลาทั้งสิ้น 3 ชม. ทีมผู้ชนะคือสมาคมพ่อครัว-แม่ครัว ภาคเหนือจ.เชียงใหม่ ประกอบด้วย เชฟสรายุทธ์ แก้วยนต์ เชฟชณิณ จักเกษตร และ เชฟอรุณ คำปิน ซึ่งเชฟทั้ง 3 คน ได้รังสรรค์เมนูที่สามารถชนะใจกรรมการ จากแนวความคิดในการใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติมารังสรรค์เมนู ด้วยการต้มสาหร่ายคมบุ จนสามารถสกัดกลูตาเมต ออกมาในน้ำซุปได้ จากนั้นเติมปลาโอแห้ง ซึ่งมีปริมาณ อิโนซิเนตสูง ไปในแต่ละเมนู และยังนำเห็ดหอมชิตาเกะมาผัดในกระทะให้ร้อน กัวไนเลต ในเห็ดทำให้เกิดรสอร่อยกลมกล่อมได้ วัตถุดิบหลัก 3 อย่าง นี้ถือเป็น หัวใจสำคัญ เพราะ กลูตาเมต อิโนซิเนต และ กัวไนเลต ให้รสอูมามิในปริมาณที่สูง นอกจากนั้นวัตถุดิบอื่นๆ เช่น ซอสถั่วเหลือง เนื้อปู และ กุ้งก็ยังมีกลูตาเมตเช่นเดียวกัน จะเห็นว่าแท้จริงแล้วรสอร่อยกลมกล่อม ก็แทรกอยู่ในวัตถุดิบในครัวเรานี่เอง ทีมสมาคมพ่อครัว-แม่ครัว ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ เปิดเผยเคล็ดลับ

สำหรับผู้ชนะเลิศทั้งสองรุ่น จะได้รับเงินรางวัลทีมละ 50,000 บาทพร้อมถ้วยเกียรติยศและเหรียญทองไปครอง

-กผ-

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net