ผลสำรวจล่าสุดเผยผลกระทบรุนแรงของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชีย

19 Jul 2012

กรุงเทพฯ--19 ก.ค.--เวเบอร์ แชนด์วิค

  • ชาวไทยอายุมากกว่า 40 ปี ป่วยเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ประมาณ ร้อยละ 5
  • กว่า 2 ใน 3 ของผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังในประเทศไทยไม่รู้ตัวว่าตนเองป่วยเป็นโรคนี้
  • 1 ใน 6 ของผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง* เป็นผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มอาการรุนแรง ซึ่งรวมถึง:
  • ภาวะโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังระยะรุนแรงหรือรุนแรงมาก หรือ
  • ตรวจพบว่าเป็นโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง มีอาการไอ มีเสมหะมาก และยังมีอาการกำเริบเฉียบพลันบ่อยครั้ง (อย่างน้อย 2 ครั้งในรอบปีที่ผ่านมา)
  • มากกว่าครึ่งของผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังในไทยต้องทนทุกข์ทรมานจากอาการกำเริบเฉียบพลันในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา

บริษัท ทาเคดา (ประเทศไทย) จำกัด เผยผลการสำรวจล่าสุด ระบุว่าโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังเป็นโรคร้ายอันเป็นภาระหนักของผู้ป่วยในทวีปเอเชีย โดยข้อมูลจากผลการสำรวจล่าสุดในหัวข้อ “ระบาดวิทยาและผลกระทบจากโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังในทวีปเอเชีย” (Epidemiology and Impact of COPD in Asia’ survey หรือ EPIC Asia Survey) พบว่าโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและประสิทธิภาพในการทำงาน แต่ทว่าผู้ป่วยส่วนมากกลับยังไม่รู้ตัวว่าตนเองเป็นโรคนี้ จึงไม่ได้เข้ารับการตรวจรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม

ศาสตราจารย์แพทย์หญิง สุมาลี เกียรติบุญศรี หน่วยโรคระบบการหายใจและเวชบำบัดวิกฤต คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และนายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า “โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังนั้นจะทำให้เกิดอาการปอดอักเสบเรื้อรัง ซึ่งทำให้โครงสร้างของหลอดลมเปลี่ยนไปจนแคบลง โดยอาการอักเสบนี้เกิดขึ้นจากการสูดเอาสารพิษต่างๆ เข้าสู่ปอด เช่นควันบุหรี่ ซึ่งทำให้อาการอักเสบแพร่ขยายออกไปกว้างยิ่งขึ้น”

โดยทั่วไปแล้ว โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังทำให้อาการอักเสบและการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างหลอดลมรุนแรงขึ้นไปตามลำดับ และอาการจะไม่หายไป แม้ผู้ป่วยจะเลิกสูบบุหรี่1 โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังถือเป็นโรคปอดที่มีอาการลุกลามและไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยจะทำให้ผู้ป่วยหายใจลำบาก ทั้งยังอาจก่อให้เกิดอาการกำเริบอย่างรุนแรงเป็นช่วงๆ ได้อีกด้วย

*ผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หมายถึง ผู้ป่วยที่ตรวจพบอาการโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) โรคทางเดินหายใจอุดกั้นเรื้อรัง (COAD) โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง (COLD) โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง (chronic bronchitis) โรคถุงลมโป่งพอง (emphysema) หรือผู้ที่ยังไม่เคยตรวจพบแต่มีอาการของโรคต่างๆ ข้างต้น (โรคถุงลมโป่งพองมีอาการไออย่างต่อเนื่องและมีเสมหะเป็นเวลานานติดต่อกัน 3 เดือนเป็นอย่างน้อยในแต่ละปี ติดต่อกัน 2 ปีหรือมากกว่านั้น หรืออาการหายใจติดขัดติดต่อกันเป็นเวลา 3 เดือนหรือมากกว่า เป็นเวลา 2 ปีขึ้นไป)

โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ทั้งยังทำให้ผู้ป่วยหายใจลำบาก เนื่องจากปอดถูกทำลายและเกิดอาการอักเสบ โรคกลุ่มนี้ยังเป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก องค์การอนามัยโลก (WHO)2 ได้ประมาณการว่ามีผู้ป่วยจากโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังอยู่กว่า 65 ล้านคนทั่วโลก ปัจจุบัน โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 5 ของโลก และอาจขยับขึ้นเป็นอันดับที่ 3 ในปี 2573 อีกด้วย โดยในปี 2548 นั้น มีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ถึง 3 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 5 ของจำนวนผู้เสียชีวิตรวมทุกสาเหตุทั่วโลก ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่าจะมีผู้เสียชีวิตเนื่องจากโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 30 ในอีก 10 ปีข้างหน้า นอกเสียจากว่าจะมีการจัดการป้องกัน และรณรงค์อย่างจริงจัง โดยเฉพาะพฤติกรรมสูบบุหรี่ซึ่งถือเป็นสาเหตุหลักของโรค

เมื่ออาการของโรคปอดอุดกั้นกำเริบขึ้น หลอดลมของผู้ป่วยก็จะมีอาการอักเสบรุนแรงขึ้น ทั้งยังเกิดความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพภายในปอด ทำให้ผู้ป่วยมีอาการหายใจติดขัด หอบ ไอเรื้อรัง เหนื่อยง่าย มีเสมหะมาก และอาการอื่นๆ ที่ส่อให้เห็นถึงความผิดปกติทางร่างกาย โดยในหลายๆ กรณี ผู้ป่วยจะต้องเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาล และอาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้

“ผู้ป่วยบางคนที่เป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังจะไม่สามารถทำกิจกรรมใดๆได้เลยแม้แต่กิจกรรมง่ายๆ ประจำวัน เช่น งานบ้านทั่วไปหรือแม้กระทั่งการอาบน้ำ ซึ่งก็หมายความว่าผู้ป่วยจะไม่สามารถทำงานได้โดยปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออาการของโรคค่อยๆ ทรุดลง ผู้ป่วยหลายคนเลือกที่จะอยู่บ้าน ไม่ออกไปไหน เพราะสภาพร่างกายของตนเองไม่อำนวย จึงเท่ากับว่าโรคนี้ได้สร้างภาระให้ทั้งตัวผู้ป่วยเองและคนรอบข้างอีกด้วย ดังนั้นผู้ป่วยและผู้ดูแลจึงควรได้รับความรู้และข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับธรรมชาติและอาการของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง รวมทั้งวิธีการรักษาที่เหมาะสม และวิธีการป้องกันโรคดังกล่าวเพื่อผ่อนคลายความเครียดในชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ดี เนื่องจากโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังเป็นโรคที่ไม่มีทางรักษาให้หายขาดได้ ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงจึงควรเข้ารับการตรวจสภาพปอดอยู่สม่ำเสมอ เพื่อจะได้ตรวจหาอาการของโรคพบแต่เนิ่นๆ และรับการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมต่อไป” ศาสตราจารย์แพทย์หญิง สุมาลี เกียรติบุญศรี กล่าวเสริม

จากการสำรวจ “ระบาดวิทยาและผลกระทบจากโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังในทวีปเอเชีย” (Epidemiology and Impact of COPD in Asia’ survey หรือ EPIC Asia Survey) ซึ่งดำเนินการโดยบริษัท ทาเคดา ฟาร์มาซูติคอล ถือเป็นการสำรวจขนาดใหญ่เกี่ยวกับโรคปอดอุดกั้นครั้งแรกของเอเชีย ซึ่งครอบคลุมกลุ่มตัวอย่างจากกว่า 100,000 ครัวเรือนทั่วเอเชีย ทั้งในประเทศจีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน ไทย และเวียดนาม เพื่อเก็บข้อมูลเชิงลึก นอกจากนี้ การสำรวจครั้งนี้ยังมีข้อมูลจากผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังถึง 1,800 คน ทั้งที่รู้ตัวอยู่แล้ว และผู้ที่คาดว่าน่าจะป่วยจากโรคนี้ เข้ามาช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคร้ายนี้อีกด้วย

ข้อมูลจากการสำรวจ EPIC Asia Survey พบว่าผู้ป่วยต้องหยุดงานอยู่บ้านเป็นเวลาเฉลี่ยถึง 42 วันในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา เนื่องมาจากอาการของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง

“จากผลการสำรวจ EPIC Asia Survey จะเห็นได้ว่าความชุกของโรคอยู่ในกลุ่มคนวัย 40 ปีขึ้นไป คิดเป็นประมาณร้อยละ 6 นอกจากนี้ยังพบอีกว่า 1 ใน 5 ของผู้ป่วยในประเทศที่เราไปทำการสำรวจมานั้น เป็นผู้ป่วยที่มีอาการอยู่ในระดับรุนแรง หมายความว่ามีทั้งไอและเสมหะเยอะ บวกกับมีการกำเริบของโรคในระดับค่อนข้างถี่อีกด้วย” รศ.นพ.วัชรา บุญสวัสดิ์ ประธานเครือข่ายคลินิกโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น อธิบาย

นอกจากนี้ การสำรวจ EPIC Asia Survey ยังเน้นให้เห็นว่าโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังเป็นโรคที่เป็นภาระทั้งในแง่เศรษฐกิจและสังคม เนื่องจากมีผู้ป่วยมากกว่า 1 ใน 3 ที่ไม่สามารถไปทำงานได้เนื่องจากอาการป่วย ส่วนในกลุ่มที่สามารถไปทำงานได้นั้น กว่าร้อยละ 61 ก็ต้องลาพักเนื่องจากอาการป่วยโดยเฉลี่ยประมาณ 13 วันในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา

“ในประเทศไทย ร้อยละ 61 ของผู้ที่เข้าร่วมการสำรวจจำนวน 214 คน เป็นผู้ป่วยที่ได้ไปพบแพทย์แล้วเนื่องจากมีอาการของโรคและอาการกำเริบต่างๆ ซึ่งผู้ป่วยเหล่านี้ส่วนใหญ่มีโอกาสเจ็บป่วยสูง เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยง เช่น การสูบบุหรี่ และอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่หรือสภาพแวดล้อมอื่นๆ ที่มีมลพิษทางอากาศอยู่รอบตัว” นายแพทย์วัชรา กล่าวเสริม

นอกจากนั้น จากผลการสำรวจ EPIC Asia survey ยังแสดงให้เห็นว่าอาการปอดอุดกั้นเรื้อรังนั้นส่งผลต่อคุณภาพชีวิตผู้ป่วยชาวไทยอย่างชัดเจน เช่น

  • ผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังมักตื่นขึ้นกลางดึก ด้วยอาการหายใจติดขัด ไอ และ หายใจลำบาก มีเสียงฟืดฟาดในคอ
  • 6 ใน 10 ของผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังต่างกังวลว่าจะเกิดอาการกำเริบรุนแรงเมื่อต้องเดินทางออกจากบ้าน
  • ผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังต้องเผชิญความลำบากในการวางแผนการล่วงหน้า เนื่องจากไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าต่อไปอาการจะเป็นอย่างไร ทำให้ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตทั้งของตนและคนรอบข้างเป็นอย่างมาก

จากผลการสำรวจดังกล่าว ยังพบว่าโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง คือโรคที่ก่อให้เกิดผลร้ายต่อประสิทธิภาพในการทำงานอย่างยิ่งยวดในประเทศไทย ดังจะเห็นได้จากสถิติข้างล่างนี้

  • กว่า 3 ใน 10 ของผู้ร่วมทำแบบสำรวจไม่มีงานประจำ เนื่องจากไม่สามารถไปทำงานได้อย่างเต็มเวลาเพราะเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
  • ครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยที่ทำงานประจำต้องลางานติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน
  • ในช่วงเวลา 12 เดือนที่ผ่านมา พบว่า 1 ใน 4 ของผู้ร่วมทำแบบสำรวจชาวไทยต้องเข้าพบแพทย์ในแผนกฉุกเฉินด้วยสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับอาการของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และมากกว่า 1 ใน 5 ก็ต้องเข้าพบแพทย์แบบฉุกเฉินโดยไม่ได้นัดหมาย

อาการของโรคในขณะกำเริบเฉียบพลันจะรุนแรงขึ้นมาก ส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับความทุกข์ทรมานอย่างยิ่งยวด จากผลการสำรวจในทวีปเอเชียพบว่า เกือบครึ่ง (ร้อยละ 46) ของผู้ที่ร่วมทำการสำรวจต่างประสบกับอาการกำเริบแบบเฉียบพลันในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา โดยมีช่วงเวลาการกำเริบเฉลี่ยอยู่ที่ 13 วันต่อราย ซึ่งในขณะอาการกำเริบนี้ ผู้ป่วยจะไออย่างต่อเนื่อง และมีเสมหะจำนวนมากแทบทุกราย

โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังถือว่าเป็นโรคที่นำความทุกข์ทรมานแสนสาหัสมาให้ผู้ป่วย ซึ่งต้องวิตกกังวลกลัวอาการกำเริบเฉียบพลัน โดยผู้ร่วมการสำรวจกว่าครึ่งกลัวว่าจะเกิดอาการกำเริบเฉียบพลันขึ้นกับผู้ปวยเวลาไปทำธุระนอกบ้านและไม่สามารถวางแผนอะไรล่วงหน้าได้ เนื่องจากไม่รู้ว่าอาการจะเป็นอย่างไรในอนาคต ซึ่งส่งผลกระทบต่อตัวผู้ป่วยเองและคนใกล้ชิด

นายแพทย์รัตน์ เชื้อชูวงศ์ แพทย์ที่ปรึกษา บริษัท ทาเคดา (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “เราหวังว่าการสำรวจ EPIC Asia Survey ในครั้งนี้จะช่วยเติมเต็มข้อมูลในส่วนที่ยังขาดอยู่ เนื่องจากยังไม่เคยมีใครทำการสำรวจเรื่องความชุกของโรค ภาระอันเกิดโรค การรักษา การตอบสนองของผู้ป่วยต่อการรักษา ความคาดหวังของผู้ป่วยเกี่ยวกับอาการของโรคและการรักษา และประเด็นอื่นๆ อีกมากมาย”

“ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยเติมเต็มเรื่องข้อมูลโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่ยังขาดอยู่ทั้งในเอเชีย และประเทศไทยเอง และขอย้ำว่าการป้องกันอาการปอดอุดกั้นเรื้อรังกำเริบแบบเฉียบพลันตามมาตรฐานแนวทางการรักษาระหว่างประเทศจากโครงการโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังระดับโลก หรือ GOLD 2011 ที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลกนั้น เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการยับยั้งโรคร้ายนี้ ซึ่งกำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ในเอเชีย ทั้งนี้ ประเทศต่างๆ ทั่วเอเชียควรเร่งให้ความรู้เกี่ยวกับโรคปอดอุดกั้นแก่ประชาชน เพื่อให้ผู้ป่วยที่ยังไม่ทราบว่าตนเองเป็นโรคนี้เข้ามาพบแพทย์และรับการรักษา ในประเทศไทย หลายคนที่เป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังเชื่อเพียงว่าอาการไอเรื้อรังนั้นเกิดมาจากโรคที่ไม่ร้ายแรงอื่นๆ เช่นคออักเสบ หืดหอบ หรือไข้หวัด จึงไม่เข้ารับการรักษาเพราะเชื่อว่าอาการจะหายไปเอง ก่อนที่จะมารู้ความจริงเอาเมื่ออาการของโรคอยู่ในขั้นร้ายแรงแล้ว ข้อมูลจากการสำรวจ EPIC Asia และเทคนิคการรักษาล่าสุดจะช่วยให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสามารถจัดการกับโรคร้ายนี้ได้ดีขึ้น”

เกี่ยวกับการสำรวจ EPIC Asia

การสำรวจ EPIC Asia ครอบคลุมกลุ่มตัวอย่างกว่า 100,000 ครัวเรือน และผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง 1,800 รายในประเทศจีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน ไทย และเวียดนาม โดยกลุ่มตัวอย่างนี้ได้ถูกสุ่มเลือกขึ้น ครอบคลุมถึงกลุ่มผู้ป่วยอายุ 40 ปีขึ้นไปที่มีอาการของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หลอดลมอักเสบเรื้อรัง ถุงลมโป่งพอง หรือมีอาการเข้าข่ายของโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ทั้งนี้การสำรวจดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากทาเคดา และทำการสำรวจโดยบริษัทวิจัยระดับโลกอย่าง อย่าง Abt SBRI Fieldwork ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2555 นี้

เกี่ยวกับโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง

โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังถือว่าเป็นโรคเรื้อรังและรักษาให้หายขาดไม่ได้ โดยเป็นโรคร้ายที่สร้างความเสียหายให้กับปอดและส่งผลให้มีอาการหายใจลำบาก เหนื่อยหอบ มีเสมหะมาก มีอาการไอเรื้อรัง สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังนั้นก็คือการสูดเอามลภาวะต่างๆ เข้าไปในปอด ไม่ว่าจะเป็นควันบุหรี่ ควันจากเตาถ่าน และอื่นๆ ซึ่งทำให้เกิดอาการเนื้อเยื่อปอดอักเสบ และส่งผลให้ทางเดินหายใจตีบตัน จนสุขภาพของผู้ป่วยทรุดโทรมลงอย่างร้ายแรงในที่สุด

อาการของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังอาจกำเริบได้แบบเฉียบพลัน จนกระทั่งผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประมาณการณ์ว่ามีผู้ป่วยจากโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังในระดับความรุนแรงปานกลางถึงสูงอยู่กว่า 65 ล้านคนทั่วโลก โดยในปี 2548 นั้น มีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ถึง 3 ล้านคน หรือคิดเป็น 5 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนผู้เสียชีวิตทั่วโลก ปัจจุบัน โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 5 ของโลก และอาจขยับขึ้นเป็นอันดับที่ 3 ในปี 25733อีกด้วย

เกี่ยวกับ บริษัท ทาเคดา (ประเทศไทย) จำกัด

บริษัท ทาเคดา (ประเทศไทย) จำกัด เป็นบริษัทยาอันดับหนึ่งของประเทศญี่ปุ่นและยังเป็นหนึ่งในผู้นำในอุตสาหกรรมยาทั่วโลก โดยบริษัทมุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการแพทย์ใหม่ๆ ขึ้นเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้นของมวลมนุษยชาติทั่วโลก ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับบริษัทได้ที่ www.takeda.com

ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับสื่อมวลชน กรุณาติดต่อ:

ฤทัยวรรณ ศิลปาจารย์ หรือ เดชาวุธ วุฒิศิลป์

เวเบอร์ แชนด์วิค

โทรศัพท์ 0-2343-6000 ต่อ 067 หรือ 181

อีเมล์ [email protected] หรือ [email protected]

[1] Global Initiative for Chronic Obstructive Lung Disease (GOLD). Global Strategy for the Diagnosis, Management, and Prevention of Chronic Obstructive Pulmonary Disease. Updated 2010. Available from http://www.goldcopd.com/

[2] World Health Organization, Chronic Respiratory Diseases, http://www.who.int/respiratory/copd/burden/en/index.html, Accessed 230312

[3] Takeda. Data on file. ‘Epidemiology and Impact of COPD in Asia’ Survey. Fieldwork carried out by Abt SRBI. June 2012 -กภ-

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit