ศูนย์ต้นคิด(กลุ่มผลิตภัณฑ์ผ้าและเครื่องแต่งกาย) พร้อมผลักดันแฟชั่นไทย ก้าวสู่ผู้นำแฟชั่นอาเซียน

03 Aug 2012

กรุงเทพฯ--3 ส.ค.--OK MASS

ศูนย์ต้นคิด(กลุ่มผลิตภัณฑ์ผ้าและเครื่องแต่งกาย) โดยความร่วมมือระหว่าง มูลนิธิพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย (SHARE) และ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (OKMD) แหล่งการเรียนรู้แห่งใหม่ของผู้ประกอบการ SMEs ธุรกิจสิ่งทอ สินค้าแฟชั่น ดีไซน์เนอร์

ขณะนี้ภาคการผลิตธุรกิจแฟชั่น เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย และสิ่งทอของประเทศไทย เป็นอุตสาหกรรมหลักที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศเป็นอันดับต้นๆ ประกอบกับอัตลักษณ์ความเป็นไทยที่ถ่ายทอดออกมาอย่างเด่นชัด ในผลงานผลิตภัณฑ์ต่างๆ ส่งผลในอุตสาหกรรมแฟชั่นของประเทศ ติด 1 ใน 10 ของโลก และอยู่ในระดับแถวหน้าของอาเซียน อันเป็นที่มาของโครงการศูนย์ต้นคิด(กลุ่มผลิตภัณฑ์ผ้าและเครื่องแต่งกาย) ซึ่งจัดโดยมูลนิธิพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย (SHARE) ร่วมกับ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (OKMD) หน่วยงานหลักที่เกาะติดในเรื่องของการพัฒนาภาคการผลิตสิ่งทอ แฟชั่น ผลิตภัณฑ์ผ้า และเครื่องแต่งกาย โดยมีการวิเคราะห์ทิศทางการเจริญเติบโตของภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอแฟชั่น ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจสิ่งทอและสินค้าแฟชั่น สามารถผลิตต้นแบบอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน เข้าใจตลาด สามารถวิเคราะห์ตลาด ความต้องการของลูกค้า และแนวทางของผู้บริโภคสินค้าแฟชั่นอย่าง ถ่องแท้ นำไปสู่การเพิ่มยอดอัตราการส่งออกของประเทศ ตลอดจนตลอดจนการเป็นอันดับ 1 ในตลาดอาเซียนและระดับโลก

นายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธานกรรมการมูลนิธิพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย เล่าถึงกระบวนการดำเนินงานของศูนย์ต้นคิด (กลุ่มผลิตภัณฑ์ผ้าและเครื่องแต่งกาย) ว่า “เป็นการเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการในการพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ ช่วยลดต้นทุนการออกแบบ การขึ้นต้นแบบ ลดเวลาและต้นทุนการผลิตให้กับกลุ่มเป้าหมายผู้ได้รับประโยชน์ ได้แก่ ผู้ประกอบการ ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ OTOP วิสาหกิจชุมชน SMEs ผู้ประกอบการรายย่อย และบุคคลทั่วไป ที่ดำเนินธุรกิจในกลุ่มผลิตภัณฑ์ผ้าและเครื่องแต่งกาย จำนวน 50 ราย ที่เข้าสู่กระบวนการให้คำปรึกษา (Coaching) ของทีมผู้เชี่ยวชาญและสนับสนุนการพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ร่วมกัน นำโดย ดร. โชคอนันต์ บุษราคัมภากร ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการใช้ความคิดสร้างสรรค์เชิงพาณิชย์ ประธานหลักสูตรบัณฑิตศึกษา คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ ผศ.ดร.อโนทัย ชลชาติภิญโญ ผู้เชี่ยวชาญด้านแฟชั่น เทรนด์ และการออกแบบแฟชั่น หัวหน้าภาควิชาวิทยาการสิ่งทอ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์”

ด้าน ผศ.ดร.กฤตินี ณัฎฐวุฒิสิทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภค อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด สถาบันบัณฑิต บริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในวิทยากรของศูนย์ต้นคิด (กลุ่มผลิตภัณฑ์ผ้าและเครื่องแต่งกาย) กล่าวไว้ใน งานเสวนาเรื่อง “ทำอย่างไร ให้รู้จักตลาด รู้ใจสินค้า ทำสินค้าให้ขายดี” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจตลาด ความต้องการของลูกค้า แนวทางของผู้บริโภคสินค้าแฟชั่นแก่ผู้ประกอบการ SMEs ในกลุ่มธุรกิจสิ่งทอและสินค้าแฟชั่น ณ งานแสดงสินค้าแฟชั่นและเครื่องหนัง 2012 (BIFF&Bil 2012) อิมแพ็ค เมืองทองธานี อย่างน่าสนใจว่า “การเจาะตลาดโดยการวิเคราะห์ในรูปแบบเก่า จะใช้วิธีการทำวิจัย การทำสำรวจโดยใช้แบบสอบถาม ซึ่งบทสรุปที่ได้ ก็ยังไม่สามารถประเมินตลาดกลุ่มผู้บริโภคได้อย่างแท้จริงว่าปัจจัยที่เอต่อการซื้อผลิตภัณฑ์ นั้นคืออะไร ผู้ทำแบบสอบถามอาจจะตอบว่า เลือกที่แบบเสื้อผ้า และคำนึงถึงวัตถุดิบ ซึ่งก็ยังไม่สามารถลงลึกได้ว่า แท้จริงแล้วผู้ผลิตควรผลิตอะไร รูปแบบไหนจึงจะถูกใจลูกค้ามากที่สุด ดังนั้นเราควรใช้หลักการสังเกตและวิเคราะห์ฐานลูกค้าในปัจจุบัน ว่ามีความลึก ความกว้าง ความยาว อย่างไร เช่น สมมุติว่าเราจะเจาะกลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้หญิงทำงาน ในส่วนแรกเราต้องเข้าใจว่าความลึกในมิติของผู้หญิงทำงานนั้นประกอบด้วยอะไรบ้าง ครอบคลุมไปถึงว่าลูกค้าทำงานอะไร ในวาระนั้นต้องไปพบใครบ้างและเกิดขึ้นในช่วงเวลาไหน ในแต่ละวันมีกิจกรรมอะไรบ้าง รวมถึงไปถึงใน 1 ปี ใน 1 เดือน ลูกค้าต้องทำอะไรบ้าง ความเข้าใจเชิงลึกตรงนี้จะช่วยให้เราเข้าถึงผลิตภัณฑ์ที่สนองวิถีชีวิต ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ ส่วนที่สอง การวิเคราะห์ความกว้าง คือ เข้าใจว่าลูกค้าไม่ได้เป็นเพียงผู้หญิงทำงาน แต่ยังมีมิติอื่นๆในชีวิต เช่น มิติแห่งการแม่เป็น ซึ่งเกี่ยวข้องตรงที่ในหนึ่งวันนั้นลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย หลังเลิกงานแล้วทำอะไร อาจจะต้องพาลูกไปว่ายน้ำ หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ดังนั้น เสื้อผ้าที่ใส่ออกจากบ้านก็ควรมีความเหมาะสมกับกิจกรรมด้วย เพราะฉะนั้น เราสามารถพูดได้ว่า มิติความกว้างมีผลต่อการเลือกซื้อเสื้อผ้า ตลอดจนการออกแบบเสื้อผ้าให้สอดคล้องกับความต้องการทั้งสิ้น อีกส่วนหนึ่งคือความยาวหรือระยะเวลา เป็นความยาวในมิติชีวิตของลูกค้า จากกรณีเดิมสมมุติว่าในวันนี้ลูกค้าเป็นคุณแม่ของลูกวัยเล็ก ในอีก 5 ปี ข้างหน้าแน่นอนว่าไลฟ์สไตล์ชีวิตของผู้หญิงคนนี้ก็จะต้องเปลี่ยนไป ต้องรู้จักอ่านโจทย์ชีวิตของลูกค้าเราให้ยาวออกไปด้วย เพราะฉะนั้น ทั้ง 3 มิติเหล่านี้เป็นตัวช่วยให้การทำงานในการเข้าใจลูกค้าของเรามีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย” ผศ.ดร.กฤตินี กล่าว

ด้านคุณมิ่งขวัญ โลทารักษ์พงศ์ ผู้ประกอบการธุรกิจส่งออกเสื้อผ้า บริษัท วี ที การ์เม้น จำกัด หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการศูนย์ต้นคิด(กลุ่มผลิตภัณฑ์ผ้าและเครื่องแต่งกาย) เล่าถึงประโยชน์ที่ได้รับหลังการเข้าร่วมกิจกรรมที่ผ่านๆมาของโครงการว่า “ช่วยให้ได้รับข้อมูล และหลักการทำความเข้าใจลูกค้าเป็นอย่างดียิ่ง ด้วยขณะนี้ทางบริษัทฯเองก็กำลังจะมีการขยายองค์กร โดยในส่วนของการผลิตนั้นองค์กรค่อนข้างมีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว เนื่องจากเปิดกิจการมายาวนานกว่า 31 ปี สิ่งที่ต้องเรียนรู้ก็คือ การดีไซน์ การรู้จักลูกค้า การศึกษาตลาด ซึ่งจากการสัมมนาโดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญก็ทำให้รู้ถึงเป้าหมายที่ชัดเจน ส่วนที่อาจจะต้องศึกษาเพิ่มเติมจากโครงการนี้ก็คือกระบวนการ ที่จะส่งเสริมให้องค์กรก้าวไปยังเป้าหมายนั่นเอง”

ตัวแทนธุรกิจผลิตและจัดจำหน่าย ผ้าไทย คุณราชานนท์ ลิมป์รัชตามร จากห้างหุ้นส่วนจำกัด เอมจิตต์ ธุรกิจเก่าแก่ที่เปิดมายาวนานกว่า 60 ปี เล่าว่า “เนื่องจากเป็นบริษัทผลิตและจัดจำหน่ายผ้าไทย ดังนั้น รูปแบบ สี และลวดลายของผ้า จึงเป็นแบบดั้งเดิม โบราณ แต่ด้วย 10 ปีให้หลังมานี้ มีการเปลี่ยนแปลงในสังคม เศรษฐกิจ ค่อนข้างมาก องค์กรจึงไม่สามารถจะอยู่กับที่ได้อีกต่อไป ต้องสร้างความแตกต่าง คิดให้ ทำใหม่ พร้อมทั้งต้องหาทางออกของผลิตภัณฑ์ ต่อมาก็ได้รับทราบข้อมูลของโครงการจากมูลนิธิพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย (SHARE) เห็นว่าน่าสนใจ ทั้งในส่วนของวิทยากรที่ปรึกษา และกิจกรรมต่างๆของโครงการ โดยคาดหวังว่าการเข้าร่วมโครงการนี้ จะทำให้สามารถสร้างและพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างสร้างสรรค์ได้ด้วยตนเอง และเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างแท้จริง“

ติดตามข่าวสารของศูนย์ต้นคิด (กลุ่มผลิตภัณฑ์ผ้าและเครื่องแต่งกาย) ได้ผ่านทาง www.share-apparel.org หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ มูลนิธิพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย โทร. 02-681-2559

-นท-

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net