กรุงเทพฯ--14 ส.ค.--จีที เวลธ์ แมเนจเมนท์
สวัสดีครับเมื่อวันจันทร์มีข่าวหนึ่งที่น่าสนใจจึงขอหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกันในวันนี้เป็นเรื่องการกำหนดให้ธนาคารขนาดใหญ่ของสหรัฐฯทำแผนในการฟื้นฟูรวมถึงแผนการปิดกิจการ ซึ่งถือเป็นการวางกรอบในอนาคตกรณีที่เกิดความเสียหายขึ้นในภาคธนาคาร ที่ผ่านมาเป็นที่ทราบกันดีว่าวิกฤติ Subprime ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องเสียเงินภาษีไปเป็นจำนวนมากเพื่อที่จะพยุงไม่ให้ธนาคารขนาดใหญ่ล้มระเนระนาด จากนั้นเกิดคำถามมากมายว่าเหมาะสมแล้วหรือไม่ที่ธนาคารประกอบกิจการโดยมีความเสี่ยงในการลงทุนสินทรัพย์ ปล่อยสินเชื่อด้อยคุณภาพเพื่อหวังผลกำไรเป็นกอบเป็นกำ สุดท้ายพอขาดทุนก็ให้ประชาชนผู้เสียภาษีรับภาระ แต่ช่วงที่ธนาคารทำกำไรมหาศาลจากธุรกรรมที่มีความเสี่ยงผลประโยชน์กลับตกอยู่ในมือคนไม่กี่กลุ่ม การออกกฎระเบียบในการควบคุมธนาคารนี้ถือเป็นการป้องกันเงินภาษีของประชาชนอเมริกันในอนาคต นอกจากนี้ยังทำให้ธนาคารจำเป็นต้องระมัดระวังมากขึ้นในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งในมุมมองของผมก็ถือว่าเหมาะสมเพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีกในอนาคต
เหตุการณ์แบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในสหรัฐฯ ในช่วง Great Depression ในช่วงปี 1930 ระบบธนาคารก็สร้างปัญหาไม่น้อยจากการนำเงินไปลงทุนในตลาดหุ้น หลังจากวิกฤติได้มีการออกกฎในการควบคุมธนาคาร (The Glass Steagall Act) โดยให้แยกธุรกิจธนาคารพาณิชย์ (Commercial banking) และ ธุรกิจวาณิชธนกิจ (Investment banking) กฎดังกล่าวทำให้ธุรกิจที่เป็นลักษณะ Shadow banking เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยระบบนี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นตัวกลางทางการเงินด้านการลงทุนตัวอย่างเช่น กองทุนป้องกันความเสี่ยง (hedge fund) ซึ่งธุรกิจนี้สามารถนำเงินไปลงทุนในตราสารที่มีความซับซ้อนซึ่งเงินนั้นได้มาจากการก่อหนี้ ผลทางอ้อมคือทำให้เกิดนวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ อย่างมากมาย การเติบโตอย่างรวดเร็วทำให้ธนาคารที่รับฝากเงินเกิดความเสียเปรียบและเรียกร้องให้มีการผ่อนคลายกฏเกณฑ์ในเวลาต่อมา ท้ายที่สุดธนาคารต่าง ๆ ก็ต่างเดินเข้าสู่วังวนแห่งผลประโยชน์และสร้างความเสี่ยงมากมายในการประกอบธุรกิจ ในยามที่เศรษฐกิจดีธนาคารเหล่านี้สามารถสร้างรายได้จำนวนมากและทำให้ยิ่งมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด แต่เมื่อเศรษฐกิจประสบปัญหาก็ทำให้ธนาคารเหล่านี้แทบเอาตัวไม่รอดจากธุรกรรมที่ทำเอาไว้ นี่คล้ายกับหนังเรื่องเก่าที่เอามาเล่าใหม่ ซึ่งเชื่อว่าหลังจากที่วิกฤติครั้งนี้จบลงแล้วกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เคยผ่อนคลายให้กับภาคธนาคารจะต้องมีการสังคายนากันครั้งใหญ่ แม้จะมีแรงเสียดทานบ้างจากบรรดานายธนาคารที่ยังคงต้องการรักษารายได้ที่สวยหรูในอนาคต ที่ผ่านมา FED และรัฐบาลสหรัฐฯ เองได้แย้มออกมาหลายครั้ง ประกอบกับแรงกดดันจากประชาชนผู้เสียภาษีที่เรียกร้องให้บรรดาบริษัทรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
การเปลี่ยนแปลงกฏระเบียบจะทำให้เงินจำนวนมากที่ใช้ในการเก็งกำไรในตลาดลดลงหรือถูกควบคุม ขณะที่การทำธุรกรรมที่สร้างผลตอบแทนสูง ๆ ที่เคยจูงใจนักเก็งกำไรก็จะลดลงตามความเข้มงวดนี้ ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องกระทบต่อราคาสินทรัพย์อย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่แนวทางนี้ถือว่าจะสร้างเสถียรภาพให้ระบบการเงินไปได้อีกพักใหญ่ทีเดียว วันนี้ลากันไปก่อนครับ
กมลธัญ พรไพศาลวิจิต
ผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์
บริษัท จีที เวลธ์ แมเนจเมนท์ จำกัด
GT Wealth Management
www.gtwm.co.th
TEL : 02-673-9911
-กผ-
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit