กรุงเทพฯ--31 ต.ค.--สสวท.
ป่าชุมชนบริเวณพื้นที่อำเภอดอนจาน จังหวัดกาฬสินธุ์ กลายเป็นห้องเรียนขนาดใหญ่ เมื่อนักวิจัยน้อยจากโรงเรียนดอนจานวิทยาคม ออกสำรวจ และเก็บข้อมูล เพื่อศึกษาหาความหลากหลายทางชีวภาพของไลเคน จนกระทั่งกลายมาเป็นผลงานวิจัยวิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบ” ซึ่งจัดโดยโครงการ GLOBE สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ผลงานวิจัย “การศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพ และการชี้วัดคุณภาพอากาศในเขตป่าเต็งรังของไลเคน” ของ ด.ญ.อารียา แสงไสย และด.ญ.อัญชลี ภารสำเร็จ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนดอนจานวิทยาคม จังหวัดกาฬสินธุ์ คือ ผลงานวิจัยที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ (การนำเสนอแบบโปสเตอร์) จากผลงานวิจัยกว่า 40 ผลงานที่ได้รับการคัดเลือกมานำเสนอในการประชุมวิชาการ การนำเสนอผลงานวิจัยวิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบ ระดับโรงเรียน ครั้งที่ 4 ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ที่ผ่านมา
อาจารย์ชุมพล ชารีแสน ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษางานวิจัย เล่าถึงที่มาของงานวิจัยชิ้นนี้ว่า ในชุมชนที่โรงเรียนตั้งอยู่มีป่าชุมชน เราจึงอยากสำรวจหาความหลากหลายทางชีวภาพของไลเคนภายในป่าชุมชน ดังนั้น ก่อนอื่นจึงต้องหาความรู้ก่อนว่า อะไรจะเป็น “ดัชนีชี้วัด” ได้ เมื่อนักเรียนได้ศึกษาหาข้อมูลก็ได้คำตอบว่า “ไลเคน” สามารถเป็นตัวชี้วัดคุณภาพของอากาศได้
งานวิจัยของน้องๆจึงมีจุดมุ่งหมาย 3 ประการ คือ เพื่อสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพของไลเคน , ศึกษาปัจจัยทางกายที่ส่งผลต่อการสำรวจพบไลเคนในป่าเต็งรัง และ เพื่อนำข้อมูลชนิดของไลเคนที่สำรวจพบมาใช้เป็นตัวชี้วัดคุณภาพอากาศในเขตโรงเรียน
น้องอารียา บอกว่า เรากำหนดพื้นที่ศึกษาเป็น 4 บริเวณจากถนนคำเม็ก-ดอนจอน หลังจากใช้เวลาสำรวจเก็บข้อมูล 3 เดือน ตั้งแต่เดือนมิถุนายน – เดือนสิงหาคม 2554 ผลการศึกษาพบว่าอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศ ของทั้ง 4 จุดไม่แตกต่างกัน ส่วนชนิดของไลเคนที่สำรวจพบมี 2 กลุ่มโครงสร้าง ซึ่งข้อมูลการสำรวจพบไลเคนนี้สามารถนำมาเป็นตัวชี้วัดคุณภาพอากาศได้
น้องอัญชลี เสริมต่อว่า ชนิดของไลเคนที่เราค้นพบมีทั้งกลุ่มที่ทนทานสูง และกลุ่มทนทาน แต่ไม่พบไลเคนในกลุ่มอากาศดี ดังนั้น งานวิจัยของเราสามารถทำให้รู้ว่าอากาศในปริเวณป่าชุมชนที่ทำการสำรวจนั้นมีคุณภาพพอใช้ ผลงานวิจัยชิ้นนี้เป็นผลงานชิ้นแรกจึงทำให้ได้รู้จักการทำงานวิจัย ได้ความรู้เพิ่มขึ้นจากการเรียนในห้องเรียนปกติ
“รู้สึกภูมิใจมาก ที่ผลงานได้รับการคัดเลือกให้ได้รับรางวัล เพราะตลอดเวลาที่ทำงานวิจัยชิ้นนี้ เราออกสำรวจพื้นที่กันบ่อยมาก ไปวัดอุณหภูมิของอากาศ ออกเก็บข้อมูลกันเกือบทุกวัน กว่าจะมาสำเร็จในวันนี้ วิทยาศาสตร์ที่หลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่อง “ยี้” จริงๆแล้วการทำงานวิจัยทำให้ชอบวิทยาศาสตร์ไปเลย และจะนำความคิด ความรู้ ที่ได้รับจากการทำงานวิจัยนี้ไปพัฒนาต่อไปค่ะ” น้องอัญชลี เล่าอย่างตื่นเต้นหลังจากได้รู้ว่าผลงานวิจัยของเธอและเพื่อนได้รับรางวัลชนะเลิศ
ด้านน้องอารียา บอกว่า การทำงานวิจัยชิ้นนี้เธอได้รับความรู้อย่างมาก โดยเฉพาะได้รู้จักความหลากหลายของไลเคน ได้รู้จักป่าชุมชนมากขึ้นทั้งที่อยู่ในบริเวณนี้มานานแล้ว แต่เมื่อก่อนไม่เคยรู้ว่าอากาศเป็นอย่างไร มีมลพิษมั๊ย เมื่อศึกษาแล้วรู้ว่าป่าชุมชนของเรามีสภาพาอากาศพอใช้ ก็ดีใจ
“การได้ลงมือทำงานวิจัย เก็บข้อมูล สำรวจข้อมูล ใช้กระบวนการวิทยาศาสตร์เพื่อศึกษาสิ่งต่างๆทำให้เห็นว่ามีความรู้ต่างๆอยู่รอบๆตัวเราอีกมาก วิทยาศาสตร์ทำให้เห็นถึงความก้าวหน้าต่างๆ และการทำวิจัยเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมของโลก ทำให้ได้รู้จักโลกของเรามากยิ่งขึ้นด้วยค่ะ” น้องอารียา พูดถึงวิทยาศาสตร์ที่มาเปิดโลกการเรียนรู้ของเธอให้กว้างขึ้น
สอดคล้องกับความเห็นของ อาจารย์ชุมพล ที่มองว่า การทำงานวิจัยทำให้เด็กๆได้เปิดโลกทัศน์ ได้ทำความรู้จักงานวิจัยที่หลากหลายขึ้น และได้มองเห็นว่าวิทยาศาสตร์มีประโยชน์ต่อสังคม สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ เด็กๆได้รู้จักการใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆในการทดลอง รู้วิธีการตรวจสอบสิ่งแวดล้อมต่างๆที่ตนเองสนใจ และอยากรู้ต่อไปในอนาคต
นี่คือสิ่งที่โครงการ GLOBE ต้องการฝึกฝนให้เยาวชนทั่วโลกได้ใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ของสิ่งแวดล้อมต่างๆ และมองเห็นความเชื่อมโยงและผลกระทบที่เกิดขึ้น เพื่อวันข้างหน้า เยาวชนคนรุ่นใหม่ จะตระหนักและช่วยกันรักษาโลกใบนี้ให้ยั่งยืนต่อไป
-กภ-
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit