กรุงเทพฯ--24 ต.ค.--ไอแอมพีอาร์
สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ ร่วมกับ จังหวัดลำปาง จัดเวทีเสวนาวิชาการ “คน เมือง ลำปาง” ร่วมค้นหา “ลำปางแต๊ๆ” เพื่อเปิดประเด็นเนื้อหาในนิทรรศการถาวรสู่สาธารณะ ตามโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้เมืองลำปาง “มิวเซียมลำปาง” หวังขยายผลจากต้นแบบ “มิวเซียมสยาม” สร้างพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ระดับภูมิภาค
นายราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ หรือ สพร. กล่าวถึงการจัดเวทีเสวนาวิชาการ “คน เมือง ลำปาง” ว่าเป็นการเปิดเวทีเพื่อให้นักวิชาการและ ผู้ทรงคุณวุฒิในพื้นที่ รวมถึงภาคประชาชน เข้าร่วมรับฟัง วิพากษ์ วิจารณ์ รายละเอียดในเนื้อหาของนิทรรศการถาวรตามโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้เมืองลำปาง
“การตามหาลำปางแต๊ๆ ในการเสวนาวิชาการครั้งนี้ เป็นอีกขั้นตอนหนึ่งตามกรอบแนวทางการดำเนินงานที่ได้กำหนดไว้ในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้เมืองลำปางหรือ มิวเซียมลำปาง เพื่อเป็นการขยายพื้นที่การเรียนรู้ในรูปแบบของพิพิธภัณฑ์เมือง ตามแนวทางของสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติให้ขยายไปสู่ภูมิภาค โดยจะขยายผลจากต้นแบบคือมิวเซียมสยามที่กรุงเทพฯ ไปสู่การสร้างต้นแบบในระดับภูมิภาค ซึ่งมิวเซียมลำปางจะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างและการพัฒนาเครือข่ายของพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ออกไปทั่วประเทศ” นายราเมศกล่าว
โดย โครงการเสวนาทางวิชาการ “คน เมือง ลำปาง” ตอนตามหา “ลำปางแต๊ๆ???” เป็นเวทีที่จะเปิดประเด็นเนื้อหาและการศึกษาทางวิชาการออกสู่สาธารณะเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ โดยได้รับเกียรติจาก ผศ.ประสงค์ แสงแก้ว ที่จะมาบอกเล่าถึงความเป็นมาของการจัดเวทีวิชาการ “คน เมือง ลำปาง” พร้อมกับรับฟังแนวคิดและกลยุทธ์ของมิวเซียมลำปาง “ลำปางแต๊ก๊ะ” จาก นายปรามินทร์ เครือทอง ที่ปรึกษาบทนิทรรศการโครงการพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้เมืองลำปาง เพื่อให้ทราบถึงความเป็นมาของเนื้อหาของนิทรรศการถาวรภายในพิพิธภัณฑ์
โดยเริ่มเปิดประเด็นภาคเช้าในหัวข้อ “คน” ซึ่งได้รับเกียรติจาก อาจารย์วิถี พานิชพันธุ์ ผู้อำนวยการสถาบันศึกษาและสืบสายศิลปวัฒนธรรมสถาปัตยกรรมล้านนา (ไต), ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ กรรมการบริหารสถาบันอาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่, ผศ.ดร.กนกวรรณ อู่ทองทรัพย์ อาจารย์ วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง และนายเมธาดล วิจักขณะ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 7 น่าน ในภาคบ่ายจะเป็นการเปิดประเด็นเรื่อง “เมือง” โดยมีวิทยากรร่วมแลกเปลี่ยนคือ ศ.สรัสวดี อ๋องสกุล ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ผศ.สุรีย์รัตน์ หาญคำ อดีตอาจารย์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง, อาจารย์สักเสริญ (ศักดิ์) รัตนชัย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านประวัติศาสตร์ลำปาง และ รศ.ธีระศักดิ์ วงศ์คำแน่น สาขาวิชาเทคโนโลยีสถาปัตยกรรม คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา ร่วมแลกเปลี่ยนในหัวข้อดังกล่าว
หลังจากนั้นเป็นการเปิดมุมมองในเรื่อง “ลำปาง” โดยมี รศ.ดร.วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์ หัวหน้าภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ผศ.สุรัตน์ วรางครัตน์ นักวิชาการอิสระ อดีตอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยโยนก, ผศ.ณรงค์ สมิทธิธรรม ผู้ทรงคุณวุฒิ สภาวัฒนธรรมจังหวัดลำปาง และ นายรณฤทธิ์ ธนโกเศศ ที่ปรึกษาสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) ร่วมพูดคุย
โดย โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้เมืองลำปาง หรือ “มิวเซียมลำปาง” จะเป็นการต่อยอดขยายผลพื้นที่การเรียนรู้ในรูปแบบของพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ “มิวเซียมสยาม” กรุงเทพฯ ไปสู่ภูมิภาค เพื่อให้พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้เป็นเครื่องมือสร้างและบ่มเพาะคนรุ่นใหม่ของสังคม ด้วยการนำความรู้และความคิดสร้างสรรค์มาเป็นพื้นฐานสำคัญ โดยเน้นกระบวนการเรียนรู้ที่สนุกสนานและเพลิดเพลิน มีการใช้ใช้เทคโนโลยีสื่อสารสนเทศที่ทันสมัย บนเนื้อหาที่เรียบเรียงในมุมมองที่น่าสนใจ และมีระบบการบริหารจัดการที่ดี เพื่อความยั่งยืนและมีชีวิตของพิพิธภัณฑ์ ซึ่งทาง สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ มุ่งหวังว่า “พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้เมืองลำปาง” หรือ “มิวเซียมลำปาง” ที่จะเกิดขึ้นนั้น จะเป็นต้นแบบของการสร้างสรรค์แหล่งเรียนรู้ในรูปแบบของ พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ (Discovery Museum) ประเภท พิพิธภัณฑ์เมือง (City Museum) ในระดับจังหวัด ซึ่งจะเป็นจุดสำคัญของการสร้างเครือข่ายพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ในภูมิภาค และยังมีความสำคัญอย่างยิ่งในการเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงกับเครือข่ายพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ที่มีอยู่ภายในจังหวัดลำปาง อาทิ วัดพระแก้วดอนเต้า, วัดศรีรองเมือง, บ้านเสานัก, กาดกองต้า, สะพานรัษฎาภิเศกฯลฯ และแหล่งเรียนรู้อื่นๆ ในจังหวัดใกล้เคียง
“พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้เมืองลำปาง จะเป็นต้นแบบของการใช้พิพิธภัณฑ์เป็นศูนย์ข้อมูลหรือคลังความรู้ของท้องถิ่นที่หลากหลาย เพื่อใช้เป็นฐานในการศึกษาพัฒนาพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต และพัฒนาพื้นที่ชุมชนเมืองของจังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งภารกิจของสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ โดย สพร. จะทำหน้าที่เป็นผู้จัดการความรู้ให้กับองค์กร หน่วยงาน และภาคส่วนต่างๆ ในการพัฒนาพื้นที่พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตดังกล่าวให้เป็นทั้งที่อยู่อาศัย ที่ทำงาน ที่พักผ่อนหย่อนใจ และแหล่งเรียนรู้ เพื่อรองรับการพัฒนาคนและสังคมอย่างยั่งยืนต่อไป” นายราเมศ พรหมเย็น ผอ.สพร.กล่าวสรุป
-ณอ-
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit