กรุงเทพฯ--24 ต.ค.--กองประชาสัมพันธ์ กทม.
ผู้ว่าฯ กทม.กำชับหน่วยงานในสังกัดจัดทำยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ดึงความร่วมมือภาครัฐ เอกชน ประชาชน รวมพลังป้องกันยาเสพติดภัยคุกคามความปลอดภัย พร้อมเน้น 4 นโยบาย สร้างชุมชนเข้มแข็งเขตละ 1 ชุมชนเป็นต้นแบบ ปลุกพลังคนในชุมชนร่วมเฝ้าระวังพร้อมเสริมทีมทหารกองหนุนปฏิบัติการในพื้นที่ ควบคุมปัจจัยเสี่ยงรอบสถานศึกษา และช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัดรักษาพร้อมส่งเสริมอาชีพให้กลับคืนสังคม
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ พร้อมทั้งมอบนโยบายในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติดในพื้นที่ ประจำปี 2556 ให้แก่หน่วยงานและส่วนราชการในสังกัดกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย สำนักอนามัย สำนักพัฒนาสังคม สำนักการศึกษา สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว สำนักเทศกิจ สำนักงานปกครองและทะเบียน และสำนักงานเขต 50 เขต โดยมี นายเพิ่มพงษ์ เชาวลิต รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด นพ.พีระพงษ์ สายเชื้อ รองปลัดกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร นพ.ชวินทร์ ศิรินาค รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย นางป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและบำบัดการติดยาเสพติด (ปปส.กทม.) น.ส.จันทร์เพ็ญ จิตร์วิวัฒน์ ผู้อำนวยการส่วนยุทธศาสร์และอำนวยการสำนักงาน ปปส.กทม. และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด ปี 2556 ร่วมในพิธีเปิด ณ โรงแรมเอเชีย เขตราชเทวี
ทั้งนี้ ผู้ว่าฯ กทม. กำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยเน้นการมีส่วนร่วมของภาครัฐ เอกชน และประชาชน เพื่อรวมพลังในการแก้ไขปัญหายาเสพติดซึ่งเป็นปัญหาคุกคามร้ายแรงด้านความปลอดภัยของประชาชน โดยมุ่งเน้น 4 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1.การสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน เพื่อเป็นต้นแบบการแก้ไขปัญหายาเสพติดเขตละ 1 ชุมชน และขยายไปยังชุมชนอื่นๆ รวมถึงจัดโครงการกองทุนแม่ของแผ่นดินกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นโครงการที่น้อมนำความจงรักภักดีของประชาชนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นหลักในการแก้ไขปัญหายาเสพติด 2.เฝ้าระวังปัญหายาเสพติดในชุมชน โดยการปลุกพลังประชาชนร่วมเฝ้าระวัง ดูแล สอดส่องปัญหาผู้ค้า ผู้เสพในชุมชน อีกทั้งพัฒนาทหารกองหนุนที่ปลดประจำการให้เป็นเครือข่ายเฝ้าระวังยาเสพติดในชุมชน 3.ป้องกันปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดในกลุ่มเด็กและเยาวชนในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร รวมถึงให้ความสำคัญในการดำเนินการควบคุมพื้นที่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลต่อการแพร่ระบาดของยาเสพติดรอบสถานศึกษา 4.ป้องกันและแก้ไขผู้ติดยาเสพติด โดยให้มีการติดตาม ดูแล ช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัดรักษา ตลอดจนส่งเสริมการฝึกอาชีพ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้ปกติ -กภ-
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit