กรุงเทพฯ--5 พ.ย.--สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร
“ตลาด” ในความหมายตามพจนานุกรม เราท่านคงเข้าใจกันว่าเป็นศูนย์รวมของสินค้าบริโภค มีพ่อค้าแม่ค้าและลูกค้า แต่ที่นี่ “ตลาดสุขใจ” ไม่ได้เป็นเพียงตลาดทั่ว ๆ ไปเท่านั้น แต่หากว่าแตกต่างจากตลาดทั่วไปอย่างมากมาย ตลาดแห่งนี้เป็นศูนย์รวมของพ่อค้าแม่ค้าที่นอกจากมีอาชีพค้าขายซึ่งเป็น อาชีพเสริมแล้ว พ่อค้าแม่ค้าเหล่านี้ยังมีอีกหนึ่งอาชีพหลัก นั่นคือ เกษตรกร
เกษตรกรสมาชิกของสำนักกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ที่สังกัดกลุ่มพัฒนายั่งยืน จำนวนเกือบ 20 ครัวเรือน ได้เรียนรู้ฝึกปฏิบัติการ การเป็นพ่อค้าแม่ค้าในตลาดแห่งนี้ พ่อค้าแม่ค้าหรือเกษตรกรเหล่านี้ได้สร้างวัฒนธรรมการเป็นคนค้าขายที่ต่างจากตลาดทั่วไป ซึ่งเป็นเสน่ห์อีกข้อหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นความต่างระหว่างตลาดทั่วไปกับ “ตลาดสุขใจ” คนขายของในตลาดนี้จะมีน้ำใจต่อคนขายของด้วยกันเป็นภาพการย้อนวิถีชีวิตของคนรุ่นเก่า ๆ เช่น แผงขายที่นำของมาลงเพื่อจัดแผง พ่อค้าแม่ค้าที่อยู่ใกล้ ๆ กันก็จะช่วยกันยกข้าวยกของลง รวมถึงลูกค้าที่มาใช้บริการในตลาดซึ่งมีทั้งผู้เฒ่าผู้แก่และผู้มีปัญหา เรื่องสุขภาพ นอกจากความมีน้ำใจยังมีความซื่อสัตย์ต่ออาชีพของตน ทำไม “ความซื่อสัตย์” จำเป็นด้วยหรือกับการเป็นคนขายของของเกษตรกร คำตอบต่อคำถามนี้ก็คือ ตลาดแห่งนี้ขายผลผลิตการเกษตรปลอดสารพิษและพืชผักอินทรีย์ในราคาที่ยุติธรรม เกษตรกรที่เป็นคนขายของในวันเสาร์และวันอาทิตย์ที่ตลาดแห่งนี้ จะมีความซื่อสัตย์อย่างมาก เพราะสินค้าที่นำมาขายจะถูกผู้บริโภคที่มาซื้อด้วยความหวังว่าสินค้าที่ได้ไปนั้น ปราศจากสารเคมีจริง ๆ ซึ่งนั่นก็เป็นอีกเรื่องที่ตลาดแห่งนี้เข้มงวดเป็นอย่างมากกับการคัดเลือก สินค้าที่มีคุณภาพและสินค้าที่มีคุณภาพก็มาจากผู้ปลูกที่มีความซื่อสัตย์และมีคุณภาพเหมือนผลผลิตที่นำมาขาย
นายวิรัตน์ สมัครพงศ์ ประธานกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร(กฟก.) กล่าวว่า คณะกรรมการบริหารได้บริหารงบประมาณให้เเก่พี่น้องเกษตรกรอย่างทั่วถึง เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการรวมกลุ่มของเกษตรกร ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ส่งเสริมและสนับสนุนการฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมของเกษตรกร พัฒนาความรู้ในด้านเกษตรกรรมหรือกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับเกษตรกรรมเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่องค์กรเกษตรกร พัฒนาศักยภาพในการพึ่งพาตนเองและเกื้อกูลซึ่งกันและกันระหว่างเกษตรกรด้วยกัน นอกจากนี้ยังติดตามประเมินผลการดำเนินงานในกิจกรรมที่กล่าวข้างต้น ควบคุม ดูแลสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ ในฐานะที่เป็นประธานกรรมการบริหาร คิดว่าการประสานความร่วมือกับทุกภาคส่วนเป็นสิ่งที่สำคัญ โดยจุดมุ่งหมายหลักคือต้องการสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรรายย่อยมีภูมิคุ้ม กันสามารถปรับตัวภายใต้สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้ทุกรูปแบบ และน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นแนวทางปฏิบัติ
การดำเนินชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของสมาชิก กลุ่มพัฒนายั่งยืนนั้น สมาชิกส่วนใหญ่ขององค์กรอยู่ในพื้นที่อำเภอสามพราน จากการสำรวจที่ผ่านมา พบว่า อำเภอสามพรานมีการใช้สารเคมีในการเกษตรสูงสุดในจังหวัดนครปฐม แต่วันนี้เกษตรกรของกลุ่มพัฒนายั่งยืนปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตโดยยึดแนวทางพอเพียงและพึ่งตนเองรวมทั้งเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ตามวัตถุประสงค์ของสำนักงานกองทุนฟื้นฟู และพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) เรื่องราวเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลง เกิดจากสมาชิกในกลุ่มพัฒนายั่งยืน เริ่มจากการที่กลุ่มองค์กรได้งบสนับสนุนเพียง 30,000 บาท จากสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) เงินอุดหนุนไม่มากนักแต่กลุ่มองค์กรได้สร้างผลงานต่อยอดจนถึงปัจจุบันโดยการเริ่มเรียนรู้การลดต้นทุนการผลิตคือ ทำปุ๋ยใช้เอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมากในการเริ่มเปลี่ยนแปลงเพราะต้องฝ่ากระแสการใช้สารเคมี , สารไล่แมลง และปุ๋ยเคมี ของผู้ปลูกพืชผักและผลไม้ซึ่งใช้มายาวนาน เริ่มต้นใช้จากผู้นำไม่กี่คนแต่เป็นคนที่เอาจริงเอาจัง อย่างประธานกลุ่มพัฒนายั่งยืนและกรรมการของกลุ่มซึ่งเป็นผู้พิสูจน์โดยการลงมือทำเพื่อให้สมาชิกได้มีแบบในการเดินตาม
จนวันนี้ผลผลิตทางการเกษตรของสมาชิกกลุ่มจึงมีโอกาสเข้าไปร่วมกระบวนการกับ “ตลาดสุขใจ” เพราะสินค้าของกลุ่มนี้เป็นที่เชื่อถือของผู้มาซื้อ และสินค้าที่ซื้อจากตลาดแห่งนี้ส่วนใหญ่ซื้อไปให้คนในครอบครัวที่มีปัญหาสุขภาพ ไม่ว่าจะโรคร้ายแรงอย่างมะเร็ง หรือผู้ที่เป็นภูมิแพ้ รวมถึงปัญหาสุขภาพอื่นๆ ที่ต้องการบริโภคสินค้าเกษตรที่สะอาด ปราศจากการปนเปื้อนของสารร้ายทำลายชีวิต ตลาดแห่งนี้เริ่มจากเจ้าของสวนสามพรานผู้ซึ่งมีแนวคิดรับผิดชอบต่อสังคมในการประกอบการของตน จนได้รับรางวัล“ธุรกิจเพื่อสังคมแห่งเอเชีย” (Asia Responsible Entrepreneurship Awards (AREA)) สวนสามพรานได้แบ่งพื้นที่บริเวณหน้าสวนจำนวน 2 ไร่ จัดเป็นตลาดให้เกษตรกรหรือผู้ค้าขายที่ประสงค์ขายพืชผลการเกษตรหรือสินค้าเกษตรแปรรูปที่ปลอดสารเคมีรวมถึงสินค้าเกษตรอินทรีย์ และกลุ่มพัฒนายั่งยืนก็ได้มีโอกาสนำพาสมาชิกจำนวนหนึ่งเข้าไปค้าขาย ซึ่งก็เป็นแหล่งระบายสินค้าที่ดีแห่งหนึ่ง วันนี้กลุ่มพัฒนายั่งยืนจัดว่าเป็น กลุ่มนำร่องต้น ๆ ในการฟื้นฟูสมาชิกกลุ่มองค์กร ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของสำนักงานกองทุนฟื้นฟู และพัฒนาเกษตรกร(กฟก.) เริ่มตั้งแต่การสร้างความเข้มแข็งขององค์กร รวมถึงสมาชิกมีส่วนร่วมในกิจกรรมของกลุ่มอย่างต่อเนื่อง การผลิตพื้นฐานที่มีการลดต้นทุนโดยมีโรงปุ๋ยชีวภาพของกลุ่มมีการแปรรูปเพิ่มมูลค่าสินค้ามีการร่วมกันรวบรวมผลผลิตและนำพามาสู่ตลาด ซึ่งกลุ่มได้จัดหาโดยอาศัยฐานการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและเชื่อว่ากลุ่มพัฒนายั่งยืนจะพัฒนาองค์กรต่อไปอีก
กลุ่มพัฒนายั่งยืนต้องการพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งและความมั่นคงในอาชีพเกษตร ด้วยกำลังของสมาชิกเอง คือยึดหลักพึ่งตนเองก่อนการพึ่งพาบุคคลอื่น “ตลาดสุขใจ” แห่งนี้จะเปิดขายในวันเสาร์และวันอาทิตย์เท่านั้น หากผู้อ่านท่านใดผ่านไปแถวอำเภอสามพรานก็แวะเยี่ยมชม ให้กำลังใจพี่น้องเกษตรกรกลุ่มพัฒนายั่งยืนที่“ตลาดสุขใจ” หน้าสวนสามพรานกันได้นะคะ ขอกระซิบค่ะว่า...สินค้าที่นั่นนอกจากจะสดใหม่ คุณภาพดีแล้ว รับรองว่าราคาไม่แพงอย่างแน่นอนเพราะเกษตรกรปลูกเองขายเองค่ะ
-กผ-
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net