ธรณีวิทยากับการกินอยู่

12 Nov 2012

กรุงเทพฯ--12 พ.ย.--สมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย

ทรัพยากรธรณีได้เข้าไปมีบทบาทในปัจจัยการดำรงชีวิตทั้งในด้านอาหาร และยารักษาโรค ทั้งในทางตรงและทางอ้อมโดยผ่านกระบวนการแปรรูปซึ่งไม่สามารถนำมาบรรยายได้ทั้งหมด แต่จะยกตัวอย่างบางชนิด เช่น แร่ยิปซั่ม (CaSO4) หรือปูนจืดใช้ในการทำให้น้ำเต้าฮู้จับตัวเป็นก้อนเต้าฮู้และผสมแป้งทำขนมปัง ปูนขาวใช้ทำน้ำปูนใสในการทำขนมไทยหลายชนิด ธาตุคาร์บอนจากถ่านกะลามะพร้าวใช้ในการทำขนมเปียกปูน และที่ใช้กันเป็นประจำในการปรุงอาหารคือ เกลือแกง ( NaCl )ไม่ว่าจะเป็นเกลือป่น หรือเกลือเม็ดซึ่งอาจเป็นเกลือสมุทร เกลือสินเธาว์ หรือเกลือหิน ซึ่งเกลือสองชนิดหลังมีอยู่มากมายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ส่วนใหญ่เกลือป่นที่ใช้โรยอาหารมักจะผสมธาตุไอโอดีน เพื่อป้องกันโรคคอหอยพอก นอกจากนั้นยังใช้ผลิตน้ำเกลือแร่ สำหรับผู้ป่วยที่ร่างกายอ่อนแอขาดเกลือแร่ทั้งนี้รวมทั้งนักกีฬาและผู้ที่อาจทำงานกลางแจ้งที่ร่างกายเสียเกลือแร่ไปกับเหงื่อ

แร่ธาตุต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อร่างกายมีอยู่ในพืชและเนื้อสัตว์ต่าง ๆ ที่มนุษย์นำมาใช้ทำอาหารและเครื่องดื่ม ในทางการแพทย์ใช้แร่ธาตุทั้งทางตรงและทางอ้อมมากมาย นอกจากใช้ทำเครื่องมือเครื่องใช้ในทางการแพทย์แล้วยังใช้ทำผลิตภัณฑ์เป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ในการซ่อมแซมสุขภาพทั้งภายนอกและภายในร่างกาย เช่น ในทางทันตกรรม ใช้ทองคำ เงิน ทองคำขาว และผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในการอุดฟัน จัดฟัน ใช้แร่ยิปซัมทำปูนปลาสเตอร์ในการทำพิมพ์ฟันปลอม ใช้ฟลูออไรด์ในการเคลือบฟัน และผสมยาสีฟัน อลูมิเนียมใช้ทำแขนขาเทียม ไม้เท้าใช้เหล็กโลหะผสม อลูมิเนียม และผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีใช้ทำรถเข็นผู้ป่วยและอุปกรณ์ยึดกระดูกที่หัก แร่แบไรต์ (BaSO4) บริสุทธิ์ใช้เป็นสารทึบแสงให้ผู้ป่วยกลืนที่เรียกว่า กลืนแป้งในการเอ็กซ์เรย์กระเพาะอาหาร แร่กัมมันตรังสี เช่น โคบอลต์-60 (Co-60) ใช้รักษามะเร็งบริเวณที่อยู่ลึกใต้ผิวหนัง เช่น บริเวณศรีษะ ลำตัว ช่องอก หรืออวัยวะที่มีความหนาไม่มากนัก โดยใช้ก้อนตะกั่วเป็นเครื่องกำบังรังสีเพื่อป้องกันเนื้อดีมิให้ถูกทำลาย หรือใช้ธาตุอิริเดียมในการรักษามะเร็งโดยการใส่หรือกลืนแร่ในบริเวณที่เป็นมะเร็งโดยตรง ธาตุกัมมันตรังสีที่ใช้รักษามะเร็งยังมีอีกหลายชนิด เช่น เรเดียม ซีเรียม ไอโอดีน และคาลิฟอริเนียม เป็นต้น

ร่างกายมนุษย์ต้องการแร่ธาตุต่าง ๆ ไม่น้อยกว่า 16 ชนิดในการเสริมสร้างโครงสร้างของร่างกายทุกวัน ในทุกระบบไม่ว่ากระดูก กล้ามเนื้อ เซลล์ต่าง ๆ ที่ประกอบเป็นอวัยวะต่าง ๆ รวมทั้งระบบประสาทและสมอง แร่ธาตุเหล่านี้แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ แร่ที่ใช้จำนวนมาก หรือ Macro Minerals มี Ca, Cl, P, K, Mg, Na และ S

แร่ที่ใช้จำนวนน้อยหรือ Micro หรือ Trace Minerals มี Br, Cr, Co, Cu, F, I, Fe, Mn, Mo, Ni, Se, Si, V และ Zn ระบบกระดูกและฟันใช้แคลเซียม (Ca) มากที่สุดรองลงไปคือฟอสฟอรัส (P) ในรูปของสารประกอบเกลือแคลเซียมฟอสเฟต โดยมีแมงกานีส (Mn) จำนวนเล็กน้อย

ระบบประสาทใช้แคลเซียมเป็นตัวส่งสัญญาณระหว่างเส้นประสาทต่อประสาท หรือประสาทกับกล้ามเนื้อ โดยมีโซเดียม (Na) และโปแตสเซียม (K) ในการรักษาประจุไฟฟ้าที่วิ่งส่งประจุไปมาระหว่างเซลล์ประสาท และแมกมีเซียม (Mg) ช่วยให้ประสาทสงบเป็นต้น ผู้สนใจสามารถค้นคว้าเพิ่มเติมจากเอกสารการแพทย์และเภสัชกรรมได้ทั่วไป

จะเห็นได้ว่าแร่ธาตุต่าง ๆ ที่ประกอบเป็นร่างกายมนุษย์ถึงแม้ว่าจะมิได้ใช้แร่ธาตุที่ขุดจากดินหรือหิน นำมาสร้างเสริมร่างกายโดยตรงดังเช่นการก่อสร้างอาคารก็ตาม แต่เป็นการได้แร่ธาตุจากดินและหินผ่านกระบวนการทางธรรมชาติคือผ่านพืชและสัตว์ที่มนุษย์นำมาประกอบอาหาร และผ่านการสร้างทางวิศวกรรมธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่จากแม่ สู่ลูกน้อยในครรภ์ จนเมื่อคลอดจากครรภ์แล้วก็ได้รับแร่ธาตุผ่านทางอาหารด้วยตนเอง หากเมื่อใดก็ตามที่ความสมดุลย์ของแร่ธาตุตัวใดตัวหนึ่งไม่ว่าจะเป็นแร่ธาตุในกลุ่มแมคโครหรือกลุ่มไมโคร ก็ตามก็จะทำให้เกิดเจ็บไข้ได้ป่วย ต้องเติมแร่ธาตุในรูปของยาหรือวิตามินต่าง ๆ เพื่อรักษาสมดุลของสภาพฟิสิกส์เคมีของร่างกาย แต่ถ้าร่างกายได้รับแร่ธาตุมากเกินไป หรือได้รับแร่ธาตุที่ร่างกายไม่ต้องการหรือเป็นพิษ ร่างกายก็จะขับออกมา ดังนั้นการรับประทานยาหรือวิตามินที่ผลิตจากแร่ธาตุที่เป็นทรัพยากรธรณีแท้ ๆในรูปของสารเคมี จึงควรเป็นไปตามคำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรเพื่อรักษาให้ระบบต่างๆ ของร่างกายอยู่ในภาวะสมดุลย์เสมอ

จะเห็นได้ว่าแร่ ธาตุ หิน ดิน น้ำ อากาศ ล้วนเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ตั้งแต่โครงสร้างของร่างกาย การรักษาสมดุลของแร่ธาตุ หรือสภาพฟิสิกส์เคมีของร่างกาย ที่อยู่อาศัยและส่วนควบ ในการอำนวยความสะดวกในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ไม้สอยพื้น ๆ ไปจนถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเลคโทรนิคส์ เครื่องมือสื่อสาร ยานพาหนะ และเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม เครื่องแต่งกาย และเครื่องประดับ พลอย เพชรนิลจินดา ทองคำ โลหะมีค่าอื่น ๆ ตลอดจนหินและฟอสซิลบางชนิดซึ่งมิได้กล่าวถึงในรายละเอียดในบทความนี้ เรียกได้ว่าชีวิตนี้ตั้งแต่เกิดจนตายก็ยุ่งเกี่ยวกับทรัพยากรธรณีตลอด แต่ก็มีผู้คนอีกไม่น้อยที่ยังต่อต้านการใช้ทรัพยากรธรณี อาจเนื่องมาจากไม่รู้ไม่เข้าใจ แต่ที่ต่อต้านนั้นเพราะเจตนาดีต้องการรักษาสภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี จุดพอดีจึงควรอยู่ที่รู้จักใช้ทรัพยากรธรณีอย่างพอเหมาะไม่ฟุ่มเฟื่อยเกินความจำเป็นนัก และรู้จักรักษาสมดุลย์ของการขุดหาทรัพยากรธรณีขึ้นมาใช้โดยไม่ให้กระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากเกินไป และเมื่อขุดนำทรัพยากรธรณีออกไปแล้วก็ควรปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้อยู่ในสภาพที่ดีหรือดีกว่าเดิม ไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อน รำคาญ หรือเป็นอันตรายต่อมนุษย์ สัตว์ พืช และต่อโลกมากนักโดยไม่เพิ่มสภาวะโลกร้อนให้มากขึ้น จึงจะเรียกว่า “รู้จักใช้ทรัพยากรธรณีในชีวิตประจำวันอย่างชาญฉลาด” นั่นเอง แต่บางประเทศก็ฉลาดเกิน โดยมีนโยบายจำกัดหรือกีดกันไม่ให้ขุดหาหรือทำเหมืองแร่ หรือบ่อผลิตปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติของประเทศตนเอง เพื่อเก็บไว้ใช้ในอนาคตก็ดี หรือเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของประเทศตนเองก็ดี แต่ส่งเสริมให้ไปลงทุนทำเหมืองแร่ และบ่อผลิตปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ ในประเทศอื่นแทนเช่นที่เห็นเป็นข่าวกันอยู่ในปัจจุบันนี้ จนเกิดสงครามแย่งชิงทรัพยากรธรณีกันทั่วโลก ดังนั้น ”การรู้จักโลกรู้จักธรณีจะทำให้ชีวีมีสุข” อย่างแท้จริง

สนับสนุนข้อมูลโดย

สมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย

-กผ-

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net