มูลนิธิกองทุนไทยและมูลนิธิสยามกัมมาจล จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ "เรียนรู้ สู่ การพัฒนาโครงการ" รุ่นที่ 2

12 Nov 2012

กรุงเทพฯ--12 พ.ย.--มูลนิธิสยามกัมมาจล

มูลนิธิกองทุนไทยและมูลนิธิสยามกัมมาจล จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ "เรียนรู้ สู่ การพัฒนาโครงการ" รุ่นที่ 2 เสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ คิดเชิงสร้างสรรค์ และการวางแผนการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมให้เยาวชนที่ตั้งใจอยากฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในชุมชน

ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีหลังจากเปิดรับสมัครโครงการ “ปลูกใจ...รักษ์โลก” กิจกรรมดี ๆ ที่จะช่วยพัฒนาศักยภาพของเยาวชนเติบโตเป็นพลเมืองรุ่นใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ผ่านการทำโครงการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม (Community Project) ในครั้งนี้ทางมูลนิธิกองทุนไทยร่วมกับมูลนิสยามกัมมาจล และภาคีเครือข่ายสิ่งแวดล้อมจัดกิจกรรมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “เรียนรู้ สู่ การพัฒนาโครงการ” รุ่นที่ 2 ขึ้น เพื่อเสริมความรู้และทักษะในการคิดวิเคราะห์ปัญหา (Critical Thinking) การคิดเชิงระบบ (Systems Thinking) และการคิดเชิงสร้างสรรค์ (Creative Thinking) เพื่ออกแบบกิจกรรมและวางแผนการทำโครงการเพื่อคลี่คลายปัญหาสิ่งแวดล้อมร่วมกับชุมชน ให้เยาวชนสามารถนำกลับไปประยุกต์ใช้แก้ปัญหาทรัพยากรดิน น้ำ ป่า และมลภาวะในชุมชนของตนเองได้ในอนาคต

นายกรรชิต สุขใจมิตร ผู้อำนวยการมูลนิธิกองทุนไทย กล่าวว่า จากการเปิดรับสมัครโครงการปลูกใจ...รักษ์โลกพบว่ามีเยาวชนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก โดยมีเยาวชนสนใจส่งเข้าประกวดในแต่ละครั้ง 60-70 โครงการ โดยเราคัดเลือกจาก 2 ประเด็นหลักๆ คือ ทีมทำงานว่ามีการรวมกลุ่มในการทำงานหรือไม่ มีความสนใจมากน้อยแค่ไหน ซึ่งเราสามารถดูได้จากสิ่งที่เขานำเสนอผ่านการเขียน คลิปวิดิโอและภาพถ่ายที่ส่งเข้ามา อีกประเด็นเรามองที่ปัญหาที่เยาวชนต้องการที่จะแก้ไขว่า มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนในการที่จะแก้ไข เป็นปัญหาที่เขาเข้าใจชัดเจนหรือไม่ โดยเราจะมองที่ 2 ประเด็นนี้เป็นหลัก

“โครงการส่วนใหญ่ที่ส่งเข้ามาจะคละกันไป เช่น เรื่องขยะ ป่าไม้ พลังงาน และน้ำ ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ของแต่ละกลุ่ม สิ่งที่เราเห็นนั้นจะเป็นในเรื่องของเอกสารเท่านั้น แต่ในช่วงที่เราจัดกิจกรรมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ จะเริ่มเห็นว่ากลุ่มไหนที่โดดเด่น หรือกลุ่มไหนที่มีการรวมกลุ่มที่ดี มีความตั้งใจ และมีความชัดเจน โดยเราจะเห็นได้ชัดก็ต่อเมื่อเขาได้เริ่มดำเนินโครงการ ในช่วงที่เขาส่งข้อมูลมารายงานเราบนเว็บไซต์ และอาจจะมีการลงไปติดตาม แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งอาจทำให้โครงการต่างๆ ชัดเจนยิ่งขึ้น” กิจกรรมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ นี้จะเป็นการฝึกวิเคราะห์ชุมชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายผ่านการวาดรูปชุมชนที่ตนเองต้องการแก้ไข วิเคราะห์ปัญหา สาเหตุและผลกระทบที่เกิดภายในพื้นที่ จากนั้นมีการจัดตลาดนัดโครงการเพื่อนำเสนอ แลกเปลี่ยน ร่วมกันวิพากษ์ วิจารณ์และร่างแนวคิดโครงการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม จากนั้นร่วมกันเขียนข้อเสนอโครงการจากการวิเคราะห์ ออกแบบการแก้ปัญหาทีละหัวข้อ อาทิ การเขียนที่มาและความสำคัญ นำเสนอประเด็นปัญหา สาเหตุและแรงบันดาลใจในการแก้ไข

นางสาวอรรวินท์ ธรรมมาลา หรือน้องเอย ตัวแทน โครงการปันใจ...สู่ป่า ชมรมคนรักป่าสลักพระ เล่าถึงที่มาของโครงการว่า ชมรมคนรักษ์ป่าสลักพระ เกิดจากการรวมกลุ่มของเด็กค่ายที่มีความต้องการอยากที่จะฟื้นฟูผืนป่าเขาสลักพระ ให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง เนื่องจากปัญหาที่เราพบจากการเข้าค่ายสิ่งแวดล้อมพบว่า ป่ามีการเสื่อมโทรมลงเรื่อย ๆ สัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ในป่าบริเวณนั้นต้องออกไปหากินในย่านชุมชนใกล้เคียง ชมรมจึงมีความคิดที่อยากจะเข้าไปทำโป่งเทียมเพื่อเป็นแหล่งอาหารทางเลือกให้กับสัตว์ป่าเหล่านั้น เพราะจากที่เคยลงพื้นที่ลองทำโป่งเทียมดูพบว่ามีร่องรอยของเท้าสัตว์เข้ามากินโป่งเทียมที่เราทำไว้ อีกปัญหาหนึ่งเป็นเรื่องของน้ำ เนื่องจากป่าบริเวณนี้ตั้งอยู่ติดกับชุมชนชาวบ้านบางคนเข้ามาลักทำทางน้ำใหม่ เปลี่ยนทิศทางการเดินน้ำให้ไหลเข้าสู่หมู่บ้าน ส่วนที่เคยไหลในป่าเริ่มแห้งลง จากการเข้าค่ายพวกเราเคยร่วมกันทำฝายเพื่อชะลอการไหลของน้ำเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พบว่าสามารถกักเก็บน้ำได้จริง ทำให้ทางชมรมเราตกลงที่จะร่วมกันทำฝายและโป่งเทียม โดยประเด็นที่เราให้ความสำคัญที่สุดคือ เรื่องของน้ำ เพราะเราเชื่อว่าถ้ามีน้ำ ป่าก็จะชุ่มชื้น เมื่อป่าชุ่มชื้นแหล่งอาหารของสัตว์ก็มีมากขึ้นตามลำดับ

ด้านนายศักดา ศรีพูล หรือ แจ๊ค กลุ่มเยาวชนรักษ์นกจอมทอง จังหวัดพิษณุโลก เล่าว่า สำหรับการเขียนโครงการในครั้งนี้เราต้องการที่จะอนุรักษ์เกี่ยวกับเรื่องของพันธุกรรมท้องถิ่นในอำเภอจอมทอง จังหวัดพิษณุโลก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ชาวบ้านเห็นว่าพันธุกรรมมีประโยชน์อย่างไร ซึ่งที่มาของโครงการเยาวชนอาสาอนุรักษ์พันธุกรรมท้องถิ่นลำน้ำน่าน-แควน้อย จ.พิษณุโลกนั้น ทุก ๆ 2 เดือนจะมีชาวบ้านในพื้นที่ทำอาหารพื้นบ้าน โดยนำพืชพื้นถิ่นมาประกอบอาหารให้ทางชมรมทานเป็นประจำ เช่น มะม่วงกะล่อน ต้นขนุนสำมะลอ ผักกาดคอกควาย ต้นไข่เน่า เป็นต้น เราจึงเกิดความสงสัยว่าเมล็ดพันธุ์เหล่านี้หามาจากไหน จึงเกิดแนวคิดที่จะไปหาเมล็ดพันธุ์มาเก็บไว้ จนมีโครงการปลูกใจ...รักษ์โลกเข้ามาทางเราจึงสนใจและเขียนโครงการนำเสนอเข้ามาเพื่อที่จะได้นำทุนนี้มาต่อยอดในการที่จะเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์เหล่านี้ไม่ให้หายไปจากชุมชนจอมทอง เพราะเราเชื่อว่าหากพันธุกรรมในท้องถิ่นหายไป ตำราอาหารที่เคยทำก็ต้องปรับเปลี่ยนไปด้วย ”

นางสาววิมล โพธิกมล น้องเกม ตัวแทนกลุ่มเยาวชนต้นคิด พลิกชีวิตครอบครัว วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี จังหวัดชัยนาท เล่าถึงที่มาของโครงการเยาวชนต้นคิด พลิกชีวิตครอบครัวว่า เนื่องจากพื้นที่ในวิทยาลัยพยาบาลมีพื้นที่ว่างค่อนข้างมาก เราจึงทำการปรับปรุงพื้นที่บริเวณนั้นให้เป็นพื้นที่สำหรับปลูกพืชผักสวนครัว ซึ่งผลที่ได้ออกมาคือพืชผักไม่เจริญเติบโต สาเหตุพบว่าพื้นที่บริเวณนี้เคยมีการเผาขยะบนหน้าดิน มีการนำเศษวัสดุก่อสร้างไปทิ้งไว้บริเวณนี้ เราจึงเกิดแนวคิดอยากที่จะฟื้นฟูดินบริเวณนี้ให้สามารถกลับมามีความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง หากพวกเราสามารถแก้ปัญหาเรื่องดินจากในวิทยาลัยของเราได้แล้ว เราคิดต่อไปว่าอยากจะนำความรู้ที่ได้ลงสู่ชุมชนด้วย เพราะชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร และมีการใช้สารเคมีร่วมด้วย ชาวบ้านอาศัยอยู่ริมแม่น้ำสองฝั่ง ปลูกผักริมแม่น้ำ พอน้ำไหลสารเคมีเหล่านั้นก็ไหลลงสู่แม่น้ำ ส่งผลเสียทั้งแม่น้ำละดิน”

น้องเกมยังบอกต่ออีกว่า จากการเข้าค่ายในครั้งนี้ช่วยในเรื่องของการชี้แนวทางว่าควรจะทำไปในทิศทางไหน ภายในนะยะเวลา 8 เดือน เราจะสามารถทำอะไรได้บ้างและสามารถทำได้จริงหรือไม่ เพราะที่เราเขียนมานั้นเป็นการเขียนตั้งแต่ต้นไปจนถึงผลลัพธ์ แต่เราไม่ได้กำหนดระยะเวลาว่าเราจะทำกี่เดือน แต่จากการเข้าค่ายในครั้งนี้ช่วยเราในเรื่องของการลำดับขั้นตอนของการทำงาน ว่าขั้นต้นเราควรทำอย่างไรแล้วจะไปถึงผลสำเร็จนั้นจะต้องใช้เวลาเท่าไหร่ เหมือนเป็นการปูพื้นฐานให้กับเราในการที่จะต่อยอดโครงการนี้ต่อไป

พี หรือพีระพงศ์ ดวงดี ตัวแทนโครงการเยาวชนรักษ์คลองลำพู เผยว่า ที่มาของโครงการนี้สืบเนื่องมาจากว่า เราอยากให้คลองบางลำพูของเรานั้นกลับมาสะอาดใส ปราศจากขยะ ประกอบกับเคยมีทางผู้ใหญ่กลุ่มรักคลองลำพูเขาเคยทำมาก่อนหน้านี้อยู่แล้ว เราจึงอยากที่จะสานต่อโครงการนี้ให้ต่อเนื่องและยั่งยืน โดยเป้าหมายของเราคือ อยากทำค่ายเรื่องการรักแม่น้ำลำคลอง เป็นค่ายเกี่ยวกับเยาวชนโดยดึงให้เด็กในย่านบางลำพูมาร่วมกันทำกิจกรรม และอาจจะมีการตั้งกลุ่มดูแลรักษาคลองลำพู และอาจจะตั้งเป็นธนาคารขยะซึ่งก็เป็นเรื่องที่คิดที่จะทำต่อไปในอนาคต

สำหรับกิจกรรมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ในครั้งนี้สิ่งที่เราได้คือ เรื่องของการวิเคราะห์ปัญหาให้ตรงประเด็นมากขึ้น เพราะตอนแรกที่เขียนเข้ามาทางเราก็ไม่ค่อยมีประสบการณ์ในการเขียนโครงการมากนัก แต่เมื่อเข้าร่วมกิจกรรมตรงนี้ทำให้เราชัดเจนในเรื่องของหลักการการเขียนโครงการมากขึ้น”

จากการได้พูดคุยกับตัวแทนทั้ง 4 โครงการนี้นับเป็นการส่งสัญญาณให้รับรู้ได้ว่า ยังมีเยาวชนอีกหลายกลุ่ม จากทั่วทุกภูมิภาคที่มีความตระหนักในความเปลี่ยนแปลง และปัญหาสิ่งแวดล้อมในชุมชนที่ตนเองอาศัยอยู่ และมีความตั้งใจที่อยากมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูให้สิ่งแวดล้อมกลับมามีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น ในขณะเดียวกัน การทำโครงการเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมก็เป็นยุทธศาสตร์ที่จะพัฒนาทักษะเยาวชนคนรุ่นใหม่ในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีความซับซ้อนมากขึ้น หากเราสามารถสนับสนุนให้เยาวชนที่รู้สึกร่วมต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมในชุมชนหรือบ้านของตนเอง และมีทักษะที่จะจัดการกับปัญหานั้นได้ ก็จะเป็นการสร้างคนรุ่นใหม่ที่เป็นพลังของสังคม และชุมชนต่อไป

สำหรับผู้ที่สนใจต้องการติดตามความเคลื่อนไหวของเยาวชนแต่ละโครงการสามารถเข้าไปติดตามได้ที่ www.scbfoundation.com ที่หน้าโครงการปลูกใจรักษ์โลก ซึ่งเป็นสื่อกลางที่จะรายงาน และติดตามผลการดำเนินโครงการของเยาวชน

กรรชิต สุขใจมิตร ผู้อำนวยการมูลนิธิกองทุนไทย

-กภ-

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net