กรุงเทพฯ--13 พ.ย.--สมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย
ตามที่ได้มีข่าวทางสื่อหลายๆ แขนง กล่าวถึงเหตุการณ์ตลิ่งพัง/ตลิ่งทรุด ที่จังหวัดอ่างทอง หรือช่วงเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปี 2554 ที่บ้านของทุกท่านเองมีน้ำซึม/น้ำผุดเข้ามา ทั้งๆ ที่ได้ทำการกั้นคันดินไว้เป็นอย่างดี หรือล่าสุดเหตุการณ์น้ำท่วมอำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย ทั้งที่มีพนังกั้นน้ำแม่น้ำยม แต่น้ำก็ยังมุดลงใต้พนังกั้นน้ำ จนทำให้พนังกั้นน้ำพังทลายลง ทะลักเข้าท่วมตัวเมืองสุโขทัย เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไรบทความนี้ ธรณีมีคำตอบให้
ปรากฏการณ์ทรายพุ (Sand boil) เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดจากในขณะที่มีน้ำท่วมใหญ่ ในพื้นที่ที่มีการสร้างพนังกั้นน้ำ จะก่อให้เกิดแรงดันน้ำสองข้างของผนังแตกต่างกันมาก หากฐานรากของพนังกั้นน้ำมีช่องว่างหรือไม่แข็งแรง น้ำจะมุดลงไปด้านใต้ของพนังกั้นน้ำนั้นไปโผล่ขึ้นผิวดินอีกด้านหนึ่ง น้ำจะเคลื่อนที่ด้วยความดันสูงมากตามระดับน้ำสองข้างที่ต่างกัน พัดพาเอาตะกอนทรายออกไปกับน้ำด้วย จึงมักเห็นเนินทรายโผล่เห็นเป็นหย่อมๆ ดังนั้น พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเป็นประจำ พื้นที่ที่มีชั้นทรายหนาอยู่ด้านใต้และมีชั้นดินเหนียวบางๆ ปิดทับอยู่ด้านบน มีการก่อสร้างพนังกั้นน้ำที่ไม่ได้นำปรากฏการณ์ทรายพุนี้เข้ามาร่วมพิจารณาในระหว่างการดำเนินการออกแบบและก่อสร้างนั้น จะได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์นี้ทำให้พนังกั้นน้ำพัง สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่มีชั้นดินเหนียวหนามากกว่า 3 เมตร โดยปกติจะไม่เกิดปรากฏการณ์ทรายพุนี้ แต่จากการก่อสร้างต่างๆ จะมีการนำวัสดุดินถมประเภททรายแม่น้ำ ทรายขี้เป็ด ดินโคลน และดินลูกรัง ทำการถมเพื่อเพิ่มระดับความสูง ชั้นตะกอนดินถมเหล่านี้จะมีรูพรุนสูง ทำให้เกิดปรากฏการณ์ทรายพุได้ง่าย
คำถามที่ว่าปรากฏการณ์ทรายพุจะเกิดขึ้นที่ไหนนั้น ตอบได้ยาก แต่สามารถลดผลกระทบได้ด้วยการสร้างพนังกั้นน้ำอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการและใช้ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทย โดยในกรณีการก่อสร้างพนังกั้นน้ำควรสร้างฐานให้แผ่กว้างมากขึ้นเพื่อให้บริเวณที่ทรายพุสามารถผุดขึ้นมาได้มีระยะห่างจากพนังกั้นน้ำ ไม่น้อยกว่าความสูงของพนังกั้นน้ำ หรืออาจจะสร้างพนังกั้นน้ำเป็นสองชั้น โดยให้ทรายผุดอยู่ระหว่างพนังทั้งสองและใช้วิธีการสูบน้ำออก
เห็นหรือไม่ว่าเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ สามารถอธิบายได้ด้วยกระบวนการทางธรณีวิทยาเสมอ หากท่านมีข้อสงสัยเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติและต้องการคำตอบที่ชัดเจน สามารถสอบถามได้ทุกเวลา สมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย จะหาคำตอบให้ท่าน
สนับสนุนข้อมูลโดย
สมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย
-กผ-
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit