คปก.ยื่นนายกฯร่างพ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อผู้บริโภค ตั้งข้อสังเกตจัดสรรงบ - บทกำหนดโทษยังคลุมเครือ

09 Nov 2012

กรุงเทพฯ--9 พ.ย.--สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย

นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ได้ลงนามในบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะ คปก. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ....เสนอต่อนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภา โดยคปก. ได้พิจารณาประเด็นที่วุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวแล้ว เห็นควรมีความเห็นและข้อเสนอแนะ สำคัญ 3 ประเด็น คือ กรณีการจัดสรรงบประมาณให้แก่องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคโดยคำนวณจากจำนวนประชากร คปก. ได้พิจารณา เห็นว่าการกำหนดให้รัฐบาลต้องจัดสรรงบ ประมาณเป็นจำนวนเงินขั้นต่ำโดยคำนวณตามจำนวนประชากร เป็นไปเพื่อให้ตอบสนองต่อหลักการของรัฐธรรมนูญมาตรา 61 วรรคสอง ที่กำหนดให้องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคต้องมีความเป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐ และรัฐต้องสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการขององค์การฯ ดังกล่าว

ดังนั้น เพื่อเป็นการประกันความเป็นอิสระขององค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคในเบื้องต้นซึ่งรัฐบาลจะเป็นผู้ใช้ดุลพินิจในการอนุมัติตามรายละเอียดในมาตรา 9 ของร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. .… ที่กำหนดว่า “เพื่อประโยชน์ในการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินเป็นเงินอุดหนุนทั่วไปตามมาตรา 8(2) ให้องค์การเสนองบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ หรือร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม แล้วแต่กรณี และในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ หรือร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาอาจขอให้เลขาธิการเข้าชี้แจงเพื่อประกอบการพิจารณาได้” ด้วยเหตุดังกล่าว คปก.จึงเห็นควรให้กำหนดหลักการเช่นว่านี้ไว้ในร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. .… เพื่อเป็นการประกันความเป็นอิสระขององค์การตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

ในแง่บทกำหนดโทษ คปก.มีความเห็นว่า การกำหนดเป็นองค์ประกอบความผิดทางอาญาที่ว่า “ไม่เป็นอิสระ” “ไม่เป็นกลาง” และ “ไม่คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน” นั้น คลุมเครือและไม่ชัดเจนว่า การกระทำเพียงใดที่ถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่เป็นอิสระ ไม่เป็นกลาง หรือไม่คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน อีกทั้งผู้กระทำไม่สามารถทราบได้ว่าพฤติกรรมเช่นไรคือพฤติกรรมที่จะทำให้ตนต้องรับผิดตามมาตรานี้ ซึ่งขัดต่อหลักความผิดทางอาญาดังกล่าวข้างต้น

ส่วนองค์ประกอบของคณะกรรมการอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค และกรรมการสรรหา คปก.เห็นว่า การเพิ่มองค์ประกอบคณะกรรมการสรรหา ตามมาตรา 14 (1/1) ที่ให้อธิการบดีของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐทุกแห่งเลือกกันเองให้เหลือหนึ่งคนเพื่อเข้ามาเป็นกรรมการสรรหาได้นั้นอาจไม่เหมาะสม หากพิจารณาในแง่ที่ว่าอธิการบดีของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐเป็นผู้ให้บริการคนหนึ่ง ซึ่งอาจมีเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง จึงไม่เหมาะสมที่จะทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการสรรหา คปก.จึงเห็นว่าไม่ควรกำหนดให้อธิการบดีของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐเป็นกรรมการสรรหา

อนึ่ง ร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. .…ซึ่งวุฒิสภาได้แก้ไขเพิ่มเติมให้แตกต่างจากร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. .… ที่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเป็นรายมาตรานี้มีการแก้ไข รวม 11มาตรา และเป็นการเพิ่มเติมอีก 2 มาตรา ในประเด็นต่างๆ คือ เรื่องจำนวนเงินอุดหนุนทั่วไปจากรัฐบาล คุณสมบัติของกรรมการในคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค งบประมาณ รายได้ขององค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค องค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหา อำนาจหน้าที่ของกรรมการ ประมวลจริยธรรม อำนาจในการเชิญบุคคลมาให้ข้อเท็จจริงแสดงความคิดเห็น หรือจัดส่งเอกสาร คณะอนุกรรมการกิจการฮาลาล ลักษณะต้องห้ามของเลขาธิการ บทกำหนดโทษ และระยะเวลาจัดสรรงบประมาณ

ติดต่อ:

สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย : OFFICE OF LAW REFORM COMMISSION OF THAILAND อาคารซอฟต์แวร์ ปาร์ค ชั้น๑๙ ตำบลคลองเกลือ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ๑๑๑๒๐ โทร.๐ ๒๕๐๒ ๖๐๐๐ ต่อ ๘๒๗๘ โทรสาร. ๐ ๒๕๐๒ ๖๐๐๐ ต่อ ๘๒๗๔

-กผ-