ส่งออกวัสดุก่อสร้างขยายตัว 9% ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สหรัฐ อินเดียนำเข้าเพิ่ม หลังประสบภัยพิบัติ ตลาดซีแอลเอ็มวีพุ่งเฉียด 50% รองรับการขยายตัวโครงสร้างพื้นฐานเหล็ก-ปูนขายดี

08 Nov 2012

กรุงเทพฯ--8 พ.ย.--กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ปี 2555 ไทยตั้งเป้าหมายการส่งออกสินค้าวัสดุก่อสร้างมีมูลค่า 8,873 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ เพิ่มขึ้น 15% โดยในช่วง 9 แรกของปีนี้ (ม.ค. - ก.ย.) ส่งออกมีมูลค่า 6,561 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 9.3% เนื่องจากความต้องการสินค้าเหล็กและปูนซีเมนต์ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักในกลุ่มวัสดุก่อสร้าง ขยายตัวได้ดีตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้าน ยกเว้นเวียดนามที่มีนโยบายให้ใช้สินค้าผลิตในประเทศ

ทั้งนี้ภาวะการส่งออกวัสดุก่อสร้างที่สำคัญ อาทิ กลุ่มเหล็กในช่วง 8 เดือน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 19% ซึ่งเป็นการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศในอาเซียนเกือบ 50% เนื่องจากมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เตรียมความพร้อมรับมือกับเศรษฐกิจที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะกลุ่ม CLMV(กัมพูชา ลาว พม่าและเวียดนาม ) ประกอบกับออสเตรเลียได้ยกเลิกการไต่สวนการทุ่มตลาด(เอดี)สินค้าเหล็กโครงสร้างรูปพรรณกลวงที่นำเข้าจากไทย ตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย.55 จึงทำให้การส่งออกเหล็กไปออสเตรเลียเพิ่มสูงขึ้นด้วย

นอกจากนี้การส่งออกปูนซีเมนต์ มีมูลค่า 523 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ เพิ่มขึ้น 17% ซึ่งได้รับปัจจัยบวกจากการขยายตัวของการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน โรงงาน และที่พักอาศัยของประเทศในกลุ่มอาเซียนมากขึ้นเช่นกัน แต่สินค้าที่มีมูลค่าลดลง คือ อลูมิเนียม โดยในช่วง 8 เดือน ปรับตัวลดลง 18% เนื่องจากความต้องการใช้อลูมิเนียมจากประเทศญี่ปุ่นลดลง สวนทางกับความต้องการใช้ภายในประเทศที่ยังสูงอยู่

นางศรีรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมถึง กลยุทธ์การขยายตลาดส่งออกสินค้าวัสดุก่อสร้างว่า ญี่ปุ่นเป็นตลาดหลักที่ไทยส่งออกมีมูลค่า 754 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รองลงมาเป็นตลาด ออสเตรเลีย สหรัฐฯ อินเดีย และมาเลเซียตามลำดับ คิดเป็นสัดส่วนรวมกัน 38% ซึ่งเหตุที่นำเข้าเพิ่มขึ้น เนื่องจากภาะการณ์ภัยพิบัติในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่คาดว่าในช่วง 2-3 เดือนจากนี้ไปจะนำเข้าวัสดุก่อสร้างเพิ่มมากขึ้น ส่วนตลาดใหม่ที่มีอัตราการขยายตัวสูง ได้แก่ ฮ่องกงขยายตัว 237% อินเดีย 46% และลาว 30% โดยจุดแข็งของไทย คือ การเป็นผู้ส่งออกเหล็กโครงสร้าง(Module) พร้อมการให้บริการแรงงานก่อสร้างในคราวเดียวกัน

อย่างไรก็ตามจากการติดตามสถานการณ์และการประชุมของหน่วยงานภาครัฐภาคเอกชนเห็นควรเตรียมความพร้อมในหลายด้าน โดยได้กำหนดกลยุทธ์ อาทิ การส่งเสริมและเร่งรัดให้มีการเจรจาเปิด ตลาดสินค้าวัสดุก่อสร้างโดยเฉพาะเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กให้มากขึ้นและการพิจารณาข้อกำหนดของขอลเขตกฎแหล่งกำเนิดสินค้าก่อนจัดทำข้อตกลงเอฟทีเอกับอินเดีย และจีน โดยเฉพาะสินค้าเหล็ก เนื่องจากสินค้าเหล็กเป็นสินค้าที่จะต้องใช้วัตถุดิบภายในประเทศน้อยกว่า 40% และเป็นสินค้าที่มีกฎการนำเข้าเฉพาะ(Product Specific Rules) การส่งเสริมการขยายตลาดใหม่ที่มีการขยายตัวด้านการก่อสร้างและสาธารณูโภค เพื่อป้องกันปัญหาและอุปสรรค อาทิ วัตถุดิบนำเข้าเหล็กในปริมาณมาก เนื่องจากไทยไม่มีอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ จำเป็นต้องพึ่งพาวัตถุดิบนำเข้า ทองแดงและเศษเหล็ก ซึ่งมีราคาตลาดผันผวนและมีแนวโน้มราคาสูงขึ้น

นอกจากนี้ยังป้องกันปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้เฉพาะด้านและเทคโนโลยีการผลิต การส่งออกสินค้าหลายรายการมีข้อจำกัดด้านมาตรการทางการค้า ค่าขนส่งมีราคาสูง และขาดแคลนเรือขนส่งแบบเทกอง(Bulk) สำหรับการขนส่งเหล็กไปพม่า ซึ่งเป็นประเทศที่มีความต้องการสินค้าสูง และการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมจากจีน เช่น การบิดเบือน HS Code ทำให้ได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาล เป็นต้น

ทั้งนี้ประเทศ CLMV นับเป็นตลาดที่มีศักยภาพสำหรับธุรกิจบริการรับเหมาก่อสร้างของไทย ทั้งที่เข้าไปประมูลงานเพื่อดำเนินการเองและรับเหมาช่วง (Sub-contract) ในโครงการก่อสร้างต่างๆ เนื่องจาก CLMV อยู่ในช่วงเร่งพัฒนาประเทศ ทำให้มีโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานขนาดใหญ่และด้านพลังงานจำนวนมากตามการพัฒนาเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มขยายตัวดี อีกทั้งการแข่งขันในธุรกิจดังกล่าวยังไม่รุนแรงนัก จึงนับเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะขยายตลาดบริการรับเหมาก่อสร้างในประเทศ CLMV

สำนักประชาสัมพันธ์ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

โทร.(02) 507-7932-34

-นท-