เครือข่ายภาครัฐและเอกชนผนึกกำลังเตือนภัย'แร่ใยหิน' เตรียมรายงานความคืบหน้าในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติธ.ค.นี้

26 Sep 2012

กรุงเทพฯ--26 ก.ย.--สช.

ภาครัฐและเอกชนเดินหน้าผลักดันมติครม.หนุนสังคมไทยปลอดภัยจากแร่ใยหิน ดึงกลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้างและเอสเอ็มอีสมาชิกสภาหอการค้า-สภาอุตสาหกรรมฯเข้าร่วม ขณะที่สคบ.เดินหน้าคุมฉลากเตือนอันตรายผู้บริโภค

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดการประชุมเพื่อติดตามความก้าวหน้าและแนวทางการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติและมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรื่อง “มาตรการทำให้ สังคมไทยไร้แร่ใยหิน" ครั้งที่ 5 ขึ้น เมื่อเร็วๆนี้ ณ ห้องประชุมสานใจ 2 อาคารสุขภาพแห่งชาติ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค นักวิชาการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เข้าร่วม

นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา กรรมการสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะประธานการประชุม กล่าวว่า การขับเคลื่อนให้สังคมไทยปลอดภัยจากการใช้แร่ใยหิน ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2554 ขณะนี้มีความคืบหน้าไปมาก โดยจะมีการรายงานต่อที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 5 พ.ศ.2555 ซึ่งจัดขึ้นวันที่ 18-20 ธ.ค.นี้ ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ ภายใต้แนวคิด "ทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ" โดยล่าสุดมีหลายหน่วยงานได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องแล้ว อาทิ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) โดยคณะทำงานการพัฒนาคุณภาพชีวิตสาธารณสุขและคุ้มครองผู้บริโภค ได้จัดเวทีรับฟังความเห็นเรื่องการจัดการอันตรายจากแร่ใยหินเพื่อนำข้อสรุปไปเสนอต่อ ครม.

ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) มีการตรวจสอบผู้ผลิตสินค้าที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินว่าได้จัดทำฉลากสินค้าถูกต้องตามประกาศว่าด้วยฉลากหรือไม่ และมีแผนประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทราบถึงอันตรายและการกำจัดผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ รวมถึงวิธีการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ถูกต้อง

ที่ประชุมยังรับทราบผลการพิจารณาคดีของศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2555 กรณีผู้ประกอบธุรกิจฟ้องให้ สคบ.เพิกถอนประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก เรื่องให้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินเป็นสินค้าควบคุมฉลาก 2 ฉบับ โดยศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง เนื่องจากการออกประกาศดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจตามพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มีการรับฟังข้อมูลทางวิชาการจากองค์การอนามัยโลก ตลอดจนรายงานทางการแพทย์ ที่พบผู้ป่วยเสียชีวิตจากการเป็นมะเร็งเยื่อหุ้มปอด และการระบุข้อความเตือนในฉลาก ถือเป็นการคุ้มครองประชาชนที่ใช้สินค้าอย่างแท้จริง

ด้านผู้แทนจาก สมอ. รายงานว่า กระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมดำเนินการตามแผนยกเลิกการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินจากผลการศึกษาของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ที่ว่าจ้างนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชทำการศึกษา โดยข้อเสนอเบื้องต้นระบุให้ยกเลิกการนำเข้าและการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ 5 ประเภท ภายใน 1 ปีครึ่งถึง 5 ปี ซึ่งในระหว่างนี้ ข้อเสนอดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยหากกระทรวงอุตสาหกรรม เสนอแผนดังกล่าวต่อครม.และออกกฎหมายแล้ว ทางสมอ.ก็พร้อมจะขานรับในการแก้ไขมาตรฐานสินค้าที่ผลิตและจำหน่ายในประเทศทันที ขณะเดียวกันกระทรวงอุตสาหกรรมก็พร้อมจะผลักดันให้อุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้าง มีมาตรฐานการก่อสร้างอาคารสีเขียว มุ่งเน้นการรักษาสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด

นายปิยะพร กลันทกพันธุ์ ตัวแทนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า พร้อมจะให้ความร่วมมือในการประสานผู้รับเหมาก่อสร้างมาร่วมเวทีเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในการรื้อถอนสิ่งก่อสร้างที่มีแร่ใยหิน และการก่อสร้างอย่างปลอดภัย ผ่านเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น ในส่วนของผู้รับเหมารายใหญ่นั้น สามารถติดต่อผ่านสมาคมสถาปนิกสยาม สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย และสมาคมผู้รับเหมาก่อสร้างไทย ในขณะที่ผู้รับเหมารายย่อยนั้นสามารถประสานผ่านร้านตัวแทนจำหน่ายวัสดุก่อสร้างในทุกจังหวัด

ด้าน น.ส.อรสุดา ไชยโพธิ์ ผู้จัดการฝ่ายกิจการสังคมและความรับผิดชอบ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทางสภาหอการค้าฯสามารถเป็นสื่อกลางในการกระจายข่าวให้กับธุรกิจเอสเอ็มอีที่เป็นสมาชิกจำนวน 5 หมื่นรายทั่วประเทศ ให้ตระหนักถึงผลกระทบจากการใช้วัสดุที่มีแร่ใยหิน นอกจากนั้น ยังได้เสนอให้มีการมอบรางวัลแก่ผู้ประกอบการที่ไม่ใช้แร่ใยหิน รวมทั้งเสนอให้ขยายความร่วมมือไปสู่สถาบันการศึกษาเพื่อให้มีการแนะนำความรู้ที่ถูกต้องแก่นักศึกษาที่จะก้าวไปเป็นผู้ปฏิบัติงานจริง เช่น กลุ่มวิศวกรโยธา กลุ่มอาชีวศึกษา โดยอาจร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) เพราะอยากให้มองระยะยาวที่ต้องปลูกฝังให้เยาวชนรุ่นใหม่เห็นพิษภัยของการใช้แร่ใยหินด้วย -นท-