กรุงเทพฯ--4 ต.ค.--สมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย
ธรณีวิทยา เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยเรื่องเกี่ยวกับโลก สสารต่างๆ ที่เป็นส่วนประกอบของโลก รวมถึงกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลกตามธรรมชาติ ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน (กรมทรัพยากรธรณี, 2550) ดังนั้นธรณีวิทยาจึงมีความเกี่ยวข้องกับมนุษย์เราอยู่เสมอ ทั้งในแง่ของทรัพยากรธรณี (แร่ น้ำบาดาล ปิโตรเลียม ถ่านหิน) และแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ต่างๆ เป็นต้น
สำหรับธรณีวิทยาภาคใต้ พบหินมีอายุเก่าแก่ตั้งมหายุคพรีแคมเบรียน (4,500 ล้านปี) ถึงหินมหายุคซีโนโซอิก (20 ล้านปี) ซึ่งประกอบไปด้วยหินครบทั้ง 3 ชนิด คือ
1.หินอัคนี (Igneous Rock) เช่น หินแกรนิต หินบะซอลต์
2.หินตะกอน (Sedimentary Rock) เช่น หินทราย หินปูน หินดินดาน และ
3.หินแปร (Metamorphic Rock) เช่น หินอ่อน หินควอตไซต์ หินชนวน เป็นต้น
ขณะที่กระบวนการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติยังเกิดอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้หินในภาคใต้มีรูปร่างและลักษณะของหินที่ความแตกต่างกันตามสภาพของหินที่จะสามารถทนต่อการเปลี่ยนแปลงได้ ธรณีวิทยาภาคใต้ที่มีความสำคัญและเด่นชัด ได้แก่
1.ธรณีวิทยาและแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ หินปูนแถวพื้นที่สุราษฎร์ธานี ให้ทัศนียภาพที่สวยงามบริเวณเขื่อนรัชประภา และแท่งหินปูนจำนวนมากที่โผล่อยู่ในทะเลแถวทะเลพังงาและกระบี่ หินตะกอนจำพวกหินดินดานบริเวณอุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว จังหวัดระนอง เป็นต้น
2.ธรณีวิทยาและแหล่งทรัพยากรธรณีเพื่อการอุตสาหกรรม ที่พบมากและมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรม เช่น หมวดหินทุ่งสงซึ่งเป็นหินปูนโดโลไมต์ นำมาใช้ในอุตสาหกรรมปูนและก่อสร้าง การทำเหมืองแร่ดีบุก แร่แบไรต์ แถวจังหวัดระนอง พังงา และภูเก็ตในสมัยอดีต เป็นต้น
3.ธรณีวิทยาและการเกิดธรณีพิบัติภัย สภาพธรณีวิทยาเดิมๆ เมื่อเวลาผ่านไปเกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ ส่งผลให้หินเดิมมีการเปลี่ยนแปลงสภาพและผุพัง เช่น หินแกรนิตแถวจังหวัดภูเก็ต นครศรีธรรมราช และกระบี่ ที่เมื่อผุพังแล้วจะให้เนื้อดินในปริมาณมากหากได้รับปัจจัยเกี่ยวกับฝนและการเปลี่ยนแปลงความชันก็อาจจะทำให้เกิดดินถล่มได้ง่าย
โดยสรุปแล้ว ธรณีวิทยาภาคใต้มีความหลากหลายของชนิดหิน อายุของหิน และการนำทรัพยากรธรณีไปใช้ประโยชน์ในหลากหลายด้าน ทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยว และแหล่งอุตสาหกรรม นั่นเอง
การใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรณีวิทยาและความสำคัญด้านเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่ทรัพยากรธรณีนำมาใช้ประโยชน์ทางด้านทรัพยากรแร่มากที่สุด ทางภาคใต้นั้นการทำเหมืองแร่ซึ่งเคยรุ่งเรืองมากในอดีต โดยเฉพาะแร่ดีบุก และแร่อื่นอีกมากกมาย เช่น ถ่านหิน ฟลูออไรต์ เหล็ก แร่ดินขาว ยิปซัม ทองคำ แร่หนักและแร่หายาก หินปูนอุตสาหกรรม ฯลฯ เรียกได้ว่าเป็นภูมิภาคที่มีทรัพยากรแร่ที่หลากหลาย และอุดมสมบูรณ์มากที่สุดของประเทศไทยเลยก็ว่าได้
นอกจากนี้ลักษณะภูมิประเทศที่เกิดจากกระบวนการทางธรณีวิทยาในรูปแบบต่างๆ ก่อให้เกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความสวยงามแปลกตาสามารถช่วยให้เป็นจุดเด่นของแหล่งท่องเที่ยวแต่ละที่เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยี่มชมได้มากขึ้นอีกด้วย เช่น เขาพับผ้า จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นหินแปรที่เกิดการโค้งงอพับไปมาลักษณะคล้ายผ้าที่พับไว้ ทะเลแหวก จังหวัดกระบี่ เป็นต้น และที่กำลังเป็นที่สนใจเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน ได้แก่แหล่งซากดึกดำบรรพ์ (fossil) ที่ค้นพบมากขึ้นในภาคใต้ อีกทั้งประชาชน นักเรียน นักศึกษา ให้ความสนใจเรียนรู้และศึกษาเกี่ยวกับซากดึกดำบรรพ์มากขึ้น และปัจจุบันกรมทรัพยากรธรณีได้มีกฎหมายคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ และจัดอบรมเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับ พรบ.คุ้มครองซากดึกดำบรรพ์นี้ให้แก่ประชาชนและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จึงทำให้เป็นที่แพร่หลายและได้รับความสนใจมากขึ้น เมื่อมีการค้นพบแหล่งซากดึกดำบรรพ์ในพื้นที่ใด ก็สามารถพัฒนาไปเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวในเชิงธรณีวิทยาต่อไป
ทรัพยากรธรณีต่างๆ ที่ได้กล่าวมานั้น ล้วนมีความสำคัญทางด้านเศรฐกิจเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรแร่ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะไม่รุ่งเรืองเหมือนในอดีต แต่ก็ยังคงมีความสำคัญอยู่ แหล่งท่องเที่ยวทางธรณีวิทยา ในปัจจุบันการท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคใต้เป็นนิยมมากในหมู่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ หากเราสามารถพัฒนาและสร้างจุดเด่นของแหล่งท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นก็จะสามารถเป็นที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ดียิ่งขึ้น และแหล่งซากดึกดำบรรพ์ หากมีการพัฒนาและบริหารจัดการที่ดีก็จะสามารถสร้างเป็นแหล่งเศรษฐกิจได้มากยิ่งขึ้นเช่นกัน ในตอนหน้าติดตามกันต่อด้านการอนุรักษ์แหล่งธรณีวิทยาและการเปลี่ยนแปลงธรณีวิทยา ภาคใต้
-กผ-
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit