“ผ่าแผน Turnaround LVT”

22 Oct 2012

กรุงเทพฯ--22 ต.ค.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์

บริษัท แอล.วี. เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ LVT ซึ่งเป็นผู้นำธุรกิจด้านการให้บริการวิศวกรรมทั้งในและต่างประเทศ ได้เริ่มต้นดำเนินยุทธศาสตร์ใหม่ อันเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ ซึ่งจะทำให้บริษัทมีผลการดำเนินงาน พลิกจากขาดทุนในช่วงสองปีที่ผ่านมา กลับมามีกำไรและเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ผู้ก่อตั้งบริษัทและกรรมการผู้จัดการ LVT นายแฮนส์ จอร์เกน เนียลเซ่น แถลงต่อผู้สื่อข่าววันนี้ (17 ต.ค.) ว่า องค์ประกอบที่สำคัญของยุทธศาสตร์ใหม่ในครั้งนี้ประกอบด้วยการควบคุมต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ มากขึ้น การบันทึกรายได้ที่สม่ำเสมอและต่อเนื่อง ตลอดจนการให้ความสำคัญกับการลงทุนใหม่ๆ ซึ่งจะ ทำให้บริษัทมีสินทรัพย์เพิ่มขึ้น และสามารถสร้างรายได้อย่างต่อเนื่องในอนาคตระยะยาว

ทั้งนี้ เพื่อช่วยให้การพลิกฟื้นบริษัทมีความคืบหน้าอย่างชัดเจน บริษัทตั้งเป้าที่จะขายเงินลงทุนบางส่วนในต่างประเทศ โดยเฉพาะโครงการร่วมทุนในประเทศอินเดียภายใต้การดำเนินงานของบริษัท “LNVT” ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2545 และดำเนินธุรกิจคล้ายกับ LVT คือให้บริการด้านวิศวกรรมแก่ลูกค้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ในประเทศอินเดียและประเทศใกล้เคียง อาทิ ประเทศศรีลังกา และเนปาล โดย “LNVT” มีผลการดำเนินงานกำไรอย่างต่อเนื่องโดยตลอด บริษัทฯ ถือหุ้นใน “LNVT” จำนวน 49% และจะขายหุ้นที่ถืออยู่จำนวน 25% ให้แก่นักลงทุนจากประเทศจีน โดยคาดว่าจะสร้างรายได้พิเศษ เป็นมูลค่าประมาณ 180 ล้านบาท และจะบันทึกในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้

นายแฮนส์ จอร์เกน เนียลเซ่น กล่าวเพิ่มเติมว่า มีความมั่นใจว่ากระบวนการพลิกฟื้นของบริษัท มีความคืบหน้าเป็นที่น่าพอใจอันเป็นผลสืบเนื่องจากการควบคุมต้นทุนและการตรวจสอบภายใน ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นและเพื่อสร้างความมั่นใจว่าการบริหารงานภายในองค์กรจะได้ผลเต็มที่ บริษัทได้ว่าจ้างบริษัท Deloitte ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินที่มีชื่อเสียงของโลกเข้ามากำกับดูแล ด้านการตรวจสอบภายใน และได้ว่าจ้างบริษัทตรวจสอบบัญชีที่น่าเชื่อถืออีกแห่งหนึ่งคือ บริษัท KPMG เป็นผู้สอบบัญชีของบริษัท

ทั้งนี้ ระบบการบันทึกรายได้ที่สม่ำเสมอและมีความต่อเนื่องในปัจจุบันจะป้องกันไม่ให้สถานะทางการเงินของบริษัทมีความผันผวนมากดั่งเช่นในอดีตที่ผ่านมา โดยฐานะทางการเงินของบริษัทพลิกจากกำไรสุทธิจำนวน 221.9 ล้านบาท ในปี 2551 และกำไรสุทธิจำนวน 144 ล้านบาทในปี 2552 มาเป็นขาดทุนสุทธิจำนวน 239 ล้านบาทในปี 2553 และขาดทุนสุทธิจำนวน 23.8 ล้านบาท ในปี 2554 สำหรับ ผลการดำเนินงานรอบ 6 เดือน (ม.ค.-มิ.ย.) ของปีนี้บริษัทมีผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิจำนวน 93.4 ล้านบาท

นายแฮนส์ จอร์เกน เนียลเซ่น เชื่อว่าฐานะทางการเงินของ LVT ในปัจจุบันมีพัฒนาการดีขึ้นจากในอดีต โดยบริษัทได้สะสมมูลค่างานในมือ (Backlog) ประมาณ 2,500 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายนที่ผ่านมาและคาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 3,200 ล้านบาทภายในสิ้นปีนี้ จากมูลค่างานสะสมทั้งหมดนี้ บริษัทคาดว่าจะสามารถบันทึกรายได้จริงเป็นเงินประมาณ 1,000 ล้านบาท ภายในไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ของปีนี้

รายได้ที่จะบันทึกจำนวนนี้คาดว่าส่วนใหญ่จะมาจากโครงการสำคัญจำนวน 2 โครงการ ในประเทศบราซิลซึ่งประกอบด้วยโครงการ Apodi และ Elizabeth โดยทั้ง 2 โครงการนี้ มีความคืบหน้าเป็นที่น่าพอใจ และสามารถควบคุมต้นทุนตามที่ได้ตั้งเป้าไว้ อันเป็นผลสืบเนื่องจากระบบการควบคุมภายในขององค์กรที่มีประสิทธิภาพดีขึ้นกว่าในอดีต การจัดหาและติดตั้งเครื่องจักรสำหรับทั้ง 2 โครงการนี้คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในสิ้นปีนี้ และบริษัทในขณะนี้กำลังเจรจาที่จะรับงานโครงการใหม่อีก 1 โครงการในประเทศบราซิล

ธุรกิจ LVT ในประเทศบราซิลเป็นเพียงส่วนหนึ่งของธุรกิจมากกว่า 10 ประเทศในหลายภูมิภาคทั่วโลก อาทิ ในประเทศมาเลเซีย และพม่า ในทวีปเอเชีย, ประเทศซาอุดิอาระเบีย และเยเมนในตะวันออกกลาง, ประเทศโมซัมบิกในทวีปแอฟริกา ตลอดจนประเทศประเทศฮอนดูรัส และโดมินิกัน รีพลับบลิกในลาติน-อเมริกา ธุรกิจของบริษัทในประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่ประกอบด้วยบริการด้านวิศวกรรม การจัดหาและ ติดตั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์ในโรงงาน ตลอดจนการสนับสนุนโครงการร่วมทุนต่างๆ

นายแฮนส์ จอร์เกน เนียลเซ่น กล่าวว่า ฐานะทางการเงินในปัจจุบันของบริษัทดีขึ้นกว่าในอดีต เป็นอย่างมาก อันเป็นผลสืบเนื่องจากการบริหารจัดการที่รัดกุม และระบบการควบคุมภายใน ที่มีประสิทธิภาพ และฐานะปัจจุบันนี้เพียงพอที่จะสนับสนุน Backlog มูลค่ามากกว่า 4,000 ล้านบาท

“และเพื่อเป็นการยืนยันถึงความมุ่งมั่นของผมในอันที่จะพัฒนาบริษัทให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น ผมได้นำหุ้นส่วนตัวของผมไปจำนองไว้กับธนาคาร เพื่อจะได้วงเงินอย่างเพียงพอในการเปิด L/C” เขากล่าวเสริม

เขากล่าวเพิ่มเติมว่า หากจะดำเนินธุรกิจต่อไปในภาวะปกติ ก็ยังคงไม่มีความจำเป็นในการเพิ่มทุนแต่ประการใด

“แต่ในฐานะที่ผมต้องรับผิดชอบต่อการเพิ่มพูนความมั่งคั่งและผลกำไรของบริษัทในอนาคตระยะยาว ผมจึงตระหนักถึงความจำเป็นและความสำคัญ เพื่อเตรียมการสำหรับการพัฒนาก้าวต่อไปของ LVT” นายแฮนส์ จอร์เกน เนียลเซ่น กล่าว

บริษัทได้กำหนดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2555 เพื่อขออนุมัติการออกหุ้นสามัญใหม่จำนวน 396,692,350 หุ้น โดยแบ่งเป็นเสนอขายหุ้นแบบเฉพาะเจาะจง (PP) จำนวนไม่เกิน 51 ล้านหุ้น และจัดสรรหุ้นส่วนที่เหลือจำนวน 345,692,350 หุ้น ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมในอัตราส่วน 3 หุ้นเดิม ต่อ 1 หุ้นใหม่ที่ราคา 1.25 บาทต่อหุ้น

ทั้งนี้ เพื่อนำเงินเพิ่มทุนส่วนนี้ไปลงทุนร่วมกับบริษัท Max Manufacturing ในประเทศพม่า เพื่อผลิต ปูนซิเมนต์จากโรงงาน 2 แห่ง ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เมืองเนปิดอร์ อันเป็นเมืองหลวงใหม่ของประเทศพม่า ผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัท MAX คือนาย U Zaw Zaw ซึ่งเป็นนักธุรกิจชั้นแนวหน้าในประเทศพม่าและมีเครือข่ายธุรกิจครอบคลุมกิจการด้านต่างๆ ทั้งด้านการค้า การธนาคาร และอุตสาหกรรม

นายแฮนส์ จอร์เกน เนียลเซ่น กล่าวสรุปว่า การลงทุนร่วมกับกลุ่มบริษัท MAX ในประเทศพม่าในครั้งนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของ LVT เพราะบริษัทจะสามารถสร้างทรัพย์สินใหม่ที่มีคุณค่าและสามารถให้ผลตอบแทนอย่างต่อเนื่องในระยะยาวเขาเชื่อมั่นว่าโครงการลงทุนร่วมระหว่าง LVT และกลุ่มบริษัท MAX มีศักยภาพสูงพอที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมซีเมนต์ในประเทศพม่าให้ยิ่งใหญ่อย่างเช่นความประสบผลสำเร็จของเครือปูนซีเมนต์ไทยในประเทศไทย

“ผมถือว่าการลงทุนร่วมในครั้งนี้เป็นก้าวย่างที่สำคัญ เพื่อวางรากฐานสำหรับการเจริญเติบโตของบริษัท ในระยะยาว และหวังว่าการเพิ่มทุนเพื่อการนี้จะได้รับการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นด้วยดี” นายแฮนส์ จอร์แกน เนียลเซ่น กล่าว

-กภ-

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net