กรุงเทพฯ--16 ต.ค.--
และแล้วก็ได้ผู้ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศระดับประเทศ หลังจากเฟ้นหาหนูน้อยนักเล่านิทานจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศนานกว่า 3 เดือน เป็นงานที่หนักมากงานหนึ่งของคณะกรรมการ ในการคัดเลือกหนูน้อยนักเล่านิทานเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ เพราะความสามารถ ความน่ารัก การกล้าแสดงออกอย่างสดใสสมวัย จินตนาการที่สร้างสรรค์ของเด็กไทย นับวันยิ่งมีคุณภาพมากขึ้น รวมทั้งได้เห็นสายใยความรักความผูกพันและการทำกิจกรรมร่วมกันของครอบครัวผ่านหนังสือนิทาน
ความรู้สึกของคณะกรรมการ คณะผู้จัดโครงการ และภาคีเครือข่าย เริ่มจาก คุณสรวงมณฑ์ สิทธิสมาน บรรณาธิการบริหารนิตยสาร Mother&Care กล่าวถึงโครงการในครั้งนี้ว่า โครงการนี้จัดมา 7 ปีแล้ว มีพัฒนาการของโครงการเพิ่มขึ้นทุกปีค่ะ ได้เห็นพ่อแม่ผู้ปกครองและคุณครูเข้าใจเป้าหมายของโครงการประกวดหนูน้อยนักเล่านิทานที่เราต้องการคืนความเป็นธรรมชาติให้กับเด็ก และมุ่งเปิดพื้นที่ให้เด็กได้แสดงออก แสดงความสามารถในการเล่านิทานในรูปแบบของตัวเอง ไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องการแพ้ชนะ เรียกว่าเป็นการส่งเสริมให้เด็กได้มีโอกาสทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ โดยมีเรื่องการอ่านเข้ามาเกี่ยวข้อง... ปีนี้การเฟ้นหาหนูน้อยนักเล่านิทานได้สัญจรไปที่เชียงใหม่ อุดรธานี นครสวรรค์ นครศรีธรรมราช และกรุงเทพมหานคร พบว่า “เด็กที่เข้าร่วมโครงการมีความสามารถในการเล่านิทานมาก บางจังหวัดก็เล่าเป็นภาษาท้องถิ่น มีความน่ารักงดงามตามวัย” และเมื่อเราได้ตัวแทนแต่ละภูมิภาคแล้วก็จะมาชิงชนะเลิศกันอีกครั้งในระดับประเทศที่ทีเคปาร์ค ไม่ว่าสุดท้ายใครจะชนะเลิศ แต่ตอนนี้พวกเราเรียกเด็กทุกคนที่เข้ารอบมาว่า หนูน้อยยอดนักเล่านิทานแล้วค่ะ
คุณสุธาทิพ ธัชยพงษ์ รองประธานมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก กล่าวว่า ปัจจุบันคุณพ่อคุณแม่มีความเข้าใจเรื่องการเลี้ยงลูกว่า เด็กต้องการอาหารกาย คือ นมและอาหารตามวัยครบ5หมู่, อาหารใจ คือ ความรักความอบอุ่นด้วยการกอด แต่ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่จำเป็นสำหรับเด็กคือ “อาหารสมอง คือ การพูดคุยกับลูกตั้งแต่อยู่ในครรภ์ การอ่านหนังสือภาพให้เด็กฟังตั้งแต่ปฐมวัยทุกวันเป็นการปูพื้นฐานให้เด็กมีทักษะในเรื่องภาษา” เด็กทุกคนที่สามารถผ่านเข้ารอบสุดท้ายในโครงการนี้ คาดว่าได้ฟังคุณพ่อคุณแม่อ่านหนังสือนิทานให้ฟังตั้งแต่เล็กๆ เด็กๆจึงสามารถขึ้นเวทีเล่านิทานให้ผู้ใหญ่ฟังได้อย่างยอดเยี่ยม คุณทิพย์สุดา สุเมธเสนีย์ ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า 7 ปีของโครงการลับสมอง ประลองปัญญา สรรหาหนูน้อยนักเล่านิทานเติบโตอย่างงดงาม เด็กและครอบครัวมีโอกาสแสดงออกร่วมกันเป็นประสบการณ์ที่ดีของชีวิตในวัยเด็ก อย่างที่คนรุ่นดิฉันไม่มีโอกาส อยากให้มีโครงการดีๆ อย่างนี้ต่อไป
ด้าน ดร.ทัศนัย วงศ์พิเศษกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ และผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ กล่าวว่า การเล่านิทานอ่านหนังสือให้ลูกฟังเป็นกิจกรรมที่พ่อแม่สามารถทำได้ในบ้าน การเล่านิทานให้เด็กฟังเป็นประจำเป็นการปลูกฝังให้เด็กมีนิสัยรักการอ่าน รวมถึงการสร้างความรักความอบอุ่นภายในครอบครัว ซึ่งเป็นการวางรากฐานสังคมไทยให้เป็นสังคมที่เข้มแข็งด้วย “วัฒนธรรมรักการอ่าน” โครงการ “ลับสมอง ประลองปัญญา สรรหาหนูน้อยนักเล่านิทาน” ครั้งนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 7 โดยในวันที่ 6-7 ตุลาคม ที่ผ่านมานี้ ได้มีการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ ชิงถ้วยรางวัล พร้อมทุนการศึกษามูลค่ากว่า 200,000 บาท ณ อุทยานการเรียนรู้ TK park ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งผู้ชนะเลิศมีรายละเอียดดังนี้
ประเภทเดี่ยว อายุ 4-6 ปี
ประเภทเดี่ยว อายุ 6-9 ปี
ประเภททีมครอบครัว
พื้นที่สำหรับเด็กและกิจกรรมดีๆ แบบนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากไม่มีหน่วยงานที่เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องของการอ่านอย่าง สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ TK park, มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก, นิตยสาร Mother&Care และภาคีเครือข่าย
-กผ-
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit