ผลการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซม (ช่วงเช้า)

16 Oct 2012

กรุงเทพฯ--16 ต.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง

รัฐมนตรีคลังเอเชียและยุโรปได้หารือประเด็นเกี่ยวกับแนวโน้มทางเศรษฐกิจและการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการเงินของเอเชียและยุโรปใน 2 หัวข้อ ประกอบด้วย (1) พัฒนาการด้านเศรษฐกิจการเงินและแนวโน้มของเอเชียและยุโรป และ (2) บทบาทของการบริหารจัดการด้านการเงินในภูมิภาคเอเชียและยุโรปเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินของภูมิภาค

(1) พัฒนาการด้านเศรษฐกิจการเงินและแนวโน้มของเอเชียและยุโรป รัฐมนตรีคลังจากประเทศต่างๆ ในเอเชียและยุโรป รองผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (นายนาโอยูกิ ชิโนฮาร่า) ประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย (นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ) รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปและกรรมาธิการยุโรปด้านเศรษฐกิจ การเงิน และยูโร (นายออลลิ เรห์น) และกรรมการบริหารธนาคารกลางยุโรป (นายเบอนัวต์ เกอร์เฮร์) ได้แลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจและการเงินล่าสุดของเอเชียและยุโรป โดยคาดว่าเศรษฐกิจยุโรปมีแนวโน้มจะฟื้นตัวจากวิกฤติอย่างค่อยเป็นค่อยไป อีกทั้งเห็นว่าเศรษฐกิจยุโรปจำเป็นต้องดำเนินการปรับโครงสร้างทางการคลังที่เอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ตลอดจนใช้นโยบายกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และมีการปฎิรูปเชิงโครงสร้างเพิ่มเติม

ทั้งนี้ จากการที่เศรษฐกิจเอเชียและยุโรปมีความเชื่อมโยงกัน ที่ประชุมได้แสดงความกังวลต่อความเสี่ยงที่เกิดจากความเชื่อมโยงทางการค้า ตลอดจนความผันผวนในตลาดการเงินและตลาดโภคภัณฑ์ ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เน้นย้ำถึงบทบาทของเศรษฐกิจเกิดใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกด้วยการกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชนพร้อมทั้งปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อสนับสนุนอุปสงค์ภายในประเทศและการขยายตัวของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เน้นย้ำความสำคัญของการเร่งสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนและผู้บริโภค การแยกภาระที่เกิดขึ้นในระบบสถาบันการเงินออกจากภาระหนี้ภาครัฐ ตลอดจนการสร้างงานในระบบ โดยปัจจัยเหล่านี้จะเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

(2) บทบาทของกลไกแก้ไขและป้องกันวิกฤตการณ์ด้านการเงินในภูมิภาคเอเชียและยุโรปเพื่อเสถียรภาพทางการเงินของภูมิภาค ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการบริหารจัดการกลไกด้านการเงินในภูมิภาคเอเชียและยุโรป ประกอบด้วย มาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุพาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralisation: CMIM) กองทุนถาวรเพื่อรักษาเสถียรภาพยุโรป (European Stability Mechanism: ESM) และกองทุนรักษาเสถียรภาพการเงินยุโรป (European Financial Stability Facility: EFSF) และได้เน้นว่ากลไกดังกล่าวมีประโยชน์และมีประสิทธิภาพในการจัดการกับวิกฤตเศรษฐกิจในภูมิภาค

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับวิกฤตในเอเชียและยุโรป รวมถึงบทบาทของหน่วยงานที่ทำหน้าที่เฝ้าระวังและเตือนภัยเกี่ยวกับวิกฤตในอนาคต ซึ่งมีปัจจัยที่สำคัญได้แก่ การมีข้อมูลที่ทันสมัย และการแยกความเสี่ยงในภาคธนาคารออกจากความเสี่ยงด้านเครดิตของประเทศ นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือถึงความสำคัญในการดำเนินมาตรการในระยะปานกลางของประเทศสมาชิกในยุโรป เพื่อลดความผันผวนของตลาดการเงินซึ่งรวมถึงการปฏิรูปภาคการเงิน และการเสริมสร้างความเข้มแข็งของการกำกับดูแลภาคธนาคาร เช่น การดำเนินการตามมาตรฐานบาเซิล 3 และการจัดตั้งหน่วยงานกลางทำหน้าที่กำกับดูแลภาคการเงิน (Single Supervisory Body) และได้สนับสนุนให้มีการพัฒนาตลาดทุนซึ่งจะช่วยลดการพึ่งพาภาคธนาคารในการระดมทุนของเอกชน

สำนักนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร. 02 273 9020

-นท-