กรุงเทพฯ--20 เม.ย.--วีโร่ พับลิค รีเลชั่นส์
เจ้าหน้าที่ตำรวจเปิดเผยว่าความพยายามลดการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ภายในประเทศเป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยตัวเลขการเข้าตรวจค้นองค์กรธุรกิจที่ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 58 ในไตรมาสแรกของปีนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ตลอดไตรมาสแรกของปีพ.ศ. 2555 เจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก. ปอศ.) เข้าตรวจค้นองค์กรธุรกิจจำนวน 49 แห่ง พบการใช้งานซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์บนเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวนทั้งสิ้น 742 เครื่อง คิดเป็นมูลค่าของซอฟต์แวร์ที่ถูกละเมิดราว 103 ล้านบาท ซึ่งนับว่าเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาอย่างมีนัยสำคัญ
ซอฟต์แวร์ที่ถูกละเมิดลิขสิทธิ์มากคือซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการออกแบบอุตสาหกรรม ตลอดจนซอฟต์แวร์แปลภาษาที่ผลิตในประเทศไทยและซอฟต์แวร์อื่นๆ ที่ใช้กันแพร่หลายในธุรกิจทั่วไป
ในการเข้าตรวจค้น โรงงานอุตสาหกรรมแห่งหนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจพบการใช้งานซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์บนเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวน 56 เครื่อง โรงงานดังกล่าวมีรายรับในปีพ.ศ. 2554 รวม 3,800 ล้านบาท มีสินทรัพย์ 1,700 ล้านบาท มีชาวซามัวถือหุ้นร้อยละ 99.99 ส่วนผู้ถือหุ้นที่เหลือคือนักลงทุนชาวไทยและชาวจีน และมีการดำเนินธุรกิจในไต้หวัน อินโดนีเซีย มาเลเซีย จีน ฟิลิปปินส์ อินเดีย เวียดนาม และสหรัฐอเมริกาอีกด้วย ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ที่พบคือซอฟต์แวร์ที่ผลิตโดยไมโครซอฟท์และไทยซอฟต์แวร์เอ็นเตอร์ไพรส์
องค์กรธุรกิจอีกแห่งหนึ่งที่ถูกตรวจค้นในไตรมาสนี้ คือผู้ผลิตภาพยนตร์ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่กรุงเทพฯ โดยพบว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ออโตเดสค์บนเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวน 4 เครื่อง บริษัทแห่งนี้ดูแลงานด้านอนิเมชั่นให้กับรายการการ์ตูนสำหรับเด็กที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงและออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไปทั่วประเทศ นับเป็นครั้งที่สองแล้วในช่วงระยะเวลาไม่กี่เดือนที่ผู้ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการผลิตการ์ตูนเรื่องนี้ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจพบว่าละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์
ในช่วงสองวันสุดท้ายของเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจค้นองค์กรธุรกิจ 7 แห่งในจังหวัดเชียงใหม่ด้วยข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ โดยทั้ง 7 แห่งดำเนินธุรกิจด้านสถาปนิก ออกแบบ ก่อสร้าง และอสังหาริมทรัพย์
“ผู้นำองค์กรธุรกิจต้องดูแลให้องค์กรของตนใช้ซอฟต์แวร์อย่างถูกต้องตามลิขสิทธิ์หรือถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น” พ.ต.อ. ชัยณรงค์ เจริญไชยเนาว์ รองผู้บังคับการและโฆษกของกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก. ปอศ.) กล่าว “ความเสี่ยงที่เกิดจากการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์นั้นสูงมาก ไม่เพียงแต่ธุรกิจอาจต้องหยุดชะงัก ถูกปรับ และต้องรับโทษตามกฎหมาย แต่ตอนนี้องค์กรธุรกิจที่ส่งออกสินค้าไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาอาจประสบปัญหาในการทำธุรกิจด้วยเช่นกัน หากพบว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์
“เราอยากเห็นองค์กรธุรกิจในประเทศไทยปฏิบัติตามกฎหมายลิขสิทธิ์ไทย ซึ่งให้ความคุ้มครองลิขสิทธิ์ของซอฟต์แวร์ องค์กรธุรกิจต้องเร่งหาทางบริหารจัดการสินทรัพย์ซอฟต์แวร์ในองค์กร เพื่อการใช้ซอฟต์แวร์อย่างถูกต้องตามลิขสิทธิ์หรือถูกต้องตามกฎหมาย” องค์กรธุรกิจหลายแห่งที่ตำรวจกำลังดำเนินการสืบสวนและรวบรวมหลักฐานการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์อยู่ในขณะนี้ พบว่ามีรายรับในแต่ละปีสูงมาก แสดงให้เห็นว่าการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์น่าจะเกิดจากการขาดมาตรการบริหารจัดการสินทรัพย์ซอฟต์แวร์ในองค์กร มากกว่าการขาดงบประมาณจัดซื้อซอฟต์แวร์
ประเทศไทยตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะเอาชนะฮ่องกง ด้วยการลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ลงให้ได้มากที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตลอดระยะเวลาสี่ปีที่ผ่านมา อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 80 ในปีพ.ศ. 2549 เหลือร้อยละ 73 ในปีพ.ศ. 2553 แสดงให้เห็นว่าองค์กรธุรกิจมีการใช้งานซอฟต์แวร์อย่างถูกต้องตามลิขสิทธิ์หรือถูกต้องตามกฎหมายมากขึ้นภายใต้พ.ร.บ ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 การละเมิดโปรแกรมคอมพิวเตอร์มีบทลงโทษทั้งจำและ/หรือปรับ
ผู้ที่แจ้งเบาะแสการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ผ่านทางหมายเลขโทรศัพท์ 0-2714-1010 หรือผ่านทางเว็บไซต์ มีสิทธิ์ได้รับเงินรางวัลสูงสุดถึง 250,000 บาท โดยข้อมูลของผู้แจ้งเบาะแสจะถูกเก็บไว้เป็นความลับ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.stop.in.th
-กผ-
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit