ศปถ. ชู 6 จว. ตายเป็น “ศูนย์” เตรียมยกเป็นต้นแบบลดอุบัติเหตุทางถนน

18 Apr 2012

กรุงเทพฯ--18 เม.ย.--ปภ.

ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เผยผล การรณรงค์ลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2555 ระหว่างวันที่ 11 – 17 เมษายน 2555 มีจังหวัดที่สถิติการตายเป็น “ศูนย์” รวม 6 จังหวัด แยกเป็น จังหวัดในโซนสีเหลือง 2 จังหวัด ได้แก่ นครพนม ตรัง จังหวัดในโซนสีขาว 4 จังหวัด ได้แก่ ระนอง ปัตตานี ตราด สตูล ทั้งนี้ ศปถ.เตรียมประสานจังหวัดที่มีสถิติการตายเป็น “ศูนย์” วิเคราะห์ปัจจัยแห่งความสำเร็จ เพื่อนำมาเป็นต้นแบบในการลดอุบัติเหตุทางถนนแก่จังหวัดอื่นๆ

นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เลขานุการศูนย์อำนวยการ ความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) เปิดเผยว่า ในการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2555ได้แบ่งโซนพื้นที่เสี่ยงอุบัติเหตุทางถนนเป็น 4 โซน โดยพิจารณาจากสถิติผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ย้อนหลัง 6 ปี แยกเป็น โซนสีแดง (จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตรวม 6 ปีมากกว่า 40 ราย) รวม 17 จังหวัด โซนสีเหลือง (จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตรวม 6 ปี เท่ากับ 31 – 40 ราย) รวม 13 จังหวัด โซนสีเขียว (จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตรวม 6 ปี เท่ากับ 16 – 30 ราย) รวม 22 จังหวัด โซนสีขาว (จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตรวม 6 ปี เท่ากับ 0 – 15 ราย) รวม 25 จังหวัด เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานรณรงค์ลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ มูลนิธิรัฐบุรุษ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ จะมอบรางวัลเงินสดให้กับจังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2555 ระหว่างวันที่ 11 – 17 เมษายน 2555 โดยจังหวัดโซนสีแดงได้รับเงินรางวัล 1 ล้านบาท จังหวัดโซนสีเหลืองได้รับเงินรางวัล 300,000 บาท จังหวัดโซนสีเขียวได้รับเงินรางวัล 100,000 บาท จังหวัดโซนสีขาวได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท

นายวิบูลย์ กล่าวต่อไปว่า จากการรวบรวมสถิติในช่วง 7 วันของการรณรงค์ “สงกรานต์ปลอดภัย ตายเป็นศูนย์” ระหว่างวันที่ 11 – 17 เมษายน 2555 มีจังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน (ตายเป็นศูนย์) รวม 6 จังหวัด แยกเป็น จังหวัดในโซนสีเหลือง 2 จังหวัด ได้แก่ นครพนม ตรัง จังหวัดในโซนสีขาว 4 จังหวัด ได้แก่ ระนอง ปัตตานี ตราด สตูล ทั้งนี้ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน จะได้ประสาน 6 จังหวัดที่มีสถิติการตายเป็น “ศูนย์” วิเคราะห์ปัจจัยแห่งความสำเร็จ และกำหนดเป็นแนวทางสำคัญในการลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เพื่อเป็นต้นแบบในการลดอุบัติเหตุทางถนนแก่จังหวัดอื่นๆ พร้อมเน้นย้ำให้จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงและมีจำนวนผู้เสียชีวิตมากนำข้อมูลมาวิเคราะห์ ปรับแผนการดำเนินงานและวางแนวทางการลดอุบัติเหตุทางถนนให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและพฤติกรรมเสี่ยงที่เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุทางถนน โดยเฉพาะเมาแล้วขับ ขับรถเร็ว ไม่สวมหมวกนิรภัย เพื่อให้อุบัติเหตุทางถนนมีสถิติการตายเป็น “ศูนย์”-กภ-