กรุงเทพฯ--19 เม.ย.--ส.อ.ท.
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนมีนาคม 2555 จำนวน 1,038 ราย ครอบคลุม 42 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แยกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ร้อยละ 22.5, 49.7 และ 27.8 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังแบ่งออกเป็นอุตสาหกรรมในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ร้อยละ 34.4, 19.9, 15.5, 17.9 และ 12.3 ตามลำดับ และแบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดต่างประเทศ ร้อยละ 86.0 และ 14.0 ตามลำดับ ผลการสำรวจพบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมีนาคมอยู่ที่ระดับ 102.1 ปรับเพิ่มจากระดับ 100.9 ในเดือนกุมภาพันธ์ ค่าดัชนีที่เพิ่มขึ้นเกิดจากองค์ประกอบด้านยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการได้ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยค่าดัชนีเกิน 100 เป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันหลังวิกฤติอุทกภัยที่ผ่านมา แสดงถึงสัญญาณการฟื้นตัวอย่างชัดเจนของภาคอุตสาหกรรม ประกอบกับการเร่งผลิตของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการอุปโภคบริโภคเพื่อรองรับอุปสงค์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีปรับเพิ่มจากเดือนก่อนหน้า ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมน้ำตาล และอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์
ทั้งนี้ จากการสำรวจในระยะที่ผ่านมาพบว่าระดับความเชื่อมั่นต่อยอดคำสั่งซื้อและยอดขายในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากภาครัฐให้ความสำคัญและกำหนดมาตรการกระตุ้นและส่งเสริมการบริโภคในประเทศให้มากขึ้น ย่อมส่งผลดีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย และลดความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 109.5 เพิ่มขึ้นจาก106.3 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ดัชนีความเชื่อมั่นจำแนกตามขนาดของอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของอุตสาหกรรมขนาดย่อม และขนาดกลางอยู่ที่ 100.5 และ101.8 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 98.0 และ 97.7 ในเดือนกุมภาพันธ์ ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อยู่ที่ระดับ 104.0 ปรับลดลงจากระดับ 108.0 ในเดือนกุมภาพันธ์ ด้านดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ของอุตสาหกรรมขนาดย่อมอยู่ที่ระดับ 100.9 ลดลงจากระดับ 102.2 ในเดือนกุมภาพันธ์ ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ของอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดใหญ่ อยู่ที่ระดับ 109.3 และ116.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 101.9 และ116.2 ในเดือนกุมภาพันธ์ ตามลำดับ
อุตสาหกรรมขนาดย่อม ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนมีนาคมอยู่ที่ระดับ 100.5 เพิ่มขึ้นจากระดับ 98.0 ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยองค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมไม้อัด ไม้บางและวัสดุแผ่น อุตสาหกรรมก๊าซ ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 100.9 ลดลงจากระดับ 102.2 ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยองค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
อุตสาหกรรมขนาดกลาง ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนมีนาคม อยู่ที่ระดับ 101.8 เพิ่มขึ้นจากระดับ 97.7 ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยองค์ประกอบดัชนีที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวมปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ค่าดัชนีปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 109.3 เพิ่มขึ้นจากระดับ 101.9 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ดัชนีความเชื่อมั่นฯเดือนมีนาคม อยู่ที่ระดับ 104.0 ลดลงจากระดับ 108.0 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ค่าดัชนีลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมพลาสติก อุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ หัตถอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 116.8 เพิ่มขึ้นจากระดับ 116.2 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม และปริมาณการผลิต
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมรายภูมิภาค ประจำเดือนมีนาคม พบว่า ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่ภาคกลาง และภาคใต้ มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ปรับตัวลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์
ภาคกลาง มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนมีนาคม อยู่ที่ระดับ 96.1 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากระดับ 97.6 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีที่ปรับลดลง ได้แก่ ต้นทุนการประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดย่อมมีความกังวลต่อต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้นจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท/วัน ราคาวัตถุดิบและราคาพลังงาน สะท้อนจากค่าดัชนีด้านต้นทุนที่ปรับลดลง การขาดแคลนแรงงาน ตลอดจนความกังวลต่อมาตรการป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ภาคกลางสำหรับอุตสาหกรรมในภาคกลางที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง อุตสาหกรรมหลังคาและอุปกรณ์ อุตสาหกรรมพลาสติก อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 105.9 ปรับตัวลดลงจากระดับ 109.0 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
ภาคเหนือ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนมีนาคม อยู่ที่ระดับ 105.8 เพิ่มขึ้นจากระดับ 99.8 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวดี ประกอบกับผลกระทบจากสภาวะหมอกควันเริ่มลดน้อยลง ราคาพืชผลทางการเกษตรส่งผลดีต่อรายได้เกษตรกร ทำให้การอุปโภคบริโภคขยายตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังมีความกังวลในเรื่องภาระค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มขึ้นจากการปรับค่าจ้างแรงงานและราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น สำหรับอุตสาหกรรมในภาคเหนือที่ค่าดัชนีปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเหล็ก ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 111.7 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 102.0 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนมีนาคม อยู่ที่ระดับ 110.6 เพิ่มขึ้นจากระดับ 104.1 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ การผลิตภาคอุตสาหกรรมมีการขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายและอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม ที่มียอดคำสั่งซื้อและยอดขายเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการมีความกังวลต่อราคาน้ำมัน การขาดแคลนวัตถุดิบ และการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ สำหรับอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ อุตสาหกรรมน้ำตาล ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 116.8 เพิ่มขึ้นจากระดับ 101.8 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ภาคตะวันออก ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนมีนาคม อยู่ที่ระดับ 108.8 เพิ่มขึ้นจากระดับ 105.7 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ การผลิตในภาคตะวันออกได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติจากปัญหาอุทกภัยที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังมีความกังวลในเรื่องการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ต้นทุนการผลิต และปัญหาขาดแคลนแรงงาน ที่อาจส่งผลเสียต่อการผลิตในเดือนถัดไป สำหรับอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ อุตสาหกรรมก๊าซ อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 111.6 เพิ่มขึ้นจากระดับ 109.3 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
ภาคใต้ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนมีนาคม อยู่ที่ระดับ 92.7 ลดลงจากระดับ 101.3 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สภาพอากาศแปรปรวน การขาดแคลนวัตถุดิบ(อุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำ) และความกังวลต่อการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ อีกทั้งต้นทุนการผลิตโดยรวมที่ปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่ไม่สามารถปรับราคาขายได้ ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการปรับตัวลดลงของค่าดัชนีฯ ซึ่งค่าดัชนีฯอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 แสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นในระดับที่ไม่ดี สำหรับอุตสาหกรรมที่ค่าดัชนีลดลงได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง อุตสาหกรรมโรงเลื่อยและโรงอบไม้ อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 103.7 ลดลงจากระดับ 106.2 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ขณะเดียวกัน เหตุการณ์ความไม่สงบครั้งใหญ่ในช่วงปลายเดือน อาจส่งผลเสียต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจต่อไป
ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจำแนกตามการส่งออก (ดัชนีความเชื่อมั่นฯ จำแนกตามร้อยละของการส่งออกต่อยอดขาย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ กับกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ) พบว่า กลุ่มที่มีการส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 50 ของยอดขาย (เน้นตลาดในประเทศ) มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนมีนาคม อยู่ที่ระดับ 103.6 เพิ่มขึ้นจากระดับ 101.2 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม (เสื้อผ้าสำเร็จรูปมียอดขายไปประเทศญี่ปุ่น ฮ่องกง เพิ่มขึ้น, ยอดคำสั่งซื้อสินค้าประเภทชุดชั้นใน ผ้ายืดจากประเทศฮ่องกงและไต้หวันเพิ่มขึ้น), อุตสาหกรรมเหล็ก (เหล็กหล่อรูปพรรณ มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น, สินค้าประเภทโครงเหล็กแปรรูป มีคำสั่งซื้อในประเทศและต่างประเทศ เช่น อเมริกาเพิ่มขึ้น), อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม (เนื่องจากอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มมีการเร่งกำลังการผลิตเพื่อรองรับช่วงเทศกาล) ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 109.7 เพิ่มขึ้นจากระดับ 105.5 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
และกลุ่มที่มีการส่งออกตั้งแต่ร้อยละ 50 ของยอดขายขึ้นไป (เน้นตลาดในต่างประเทศ) ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนมีนาคม อยู่ที่ระดับ 93.0 ลดลงจากระดับ 99.3 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนีอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นต่อการประกอบการในระดับที่ไม่ดี สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ (เพชรและพลอยมียอดการส่งออกในประเทศฮ่องกง อเมริกาและอินเดียลดลง, เครื่องประดับเงินและทองมียอดขายในประเทศและต่างประเทศ เช่น อเมริกา ฮ่องกงและเยอรมนีลดลง), อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง (ยอดสั่งซื้อยางแผ่น ถุงยางอนามัย ถุงมือยาง วงแหวนยาง จากประเทศบราซิลลดลง), หัตถอุตสาหกรรม (ขาดแคลนแรงงานฝีมือ, ยอดสั่งซื้อสินค้าประเภทหัตถกรรม เช่น ดอกไม้ประดิษฐ์ ภาชนะเคลือบดินเผาจากประเทศอเมริกา ญี่ปุ่นและออสเตรเลียลดลง) ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 108.3 ลดลงจากระดับ 110.7 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และต้นทุนประกอบการ
สำหรับด้านสภาวะแวดล้อมในการดําเนินกิจการ เมื่อพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบการอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม พบว่า ผู้ประกอบการมีความกังวลในประเด็นผลกระทบจาก ราคาน้ำมันมากที่สุด รองลงมา คือ สภาวะเศรษฐกิจโลก อัตราแลกเปลี่ยน สถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศ และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ โดยผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้นในเรื่องราคาน้ำมัน สภาวะเศรษฐกิจโลก อัตราแลกเปลี่ยน ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการ ที่มีต่อภาครัฐในเดือนนี้ คือ 1. การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำส่งผลให้ผู้ประกอบการมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ดังนั้นภาครัฐควรมีมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ และควรมีแผนการพัฒนาฝีมือแรงงานควบคู่กับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 2. เร่งสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน เกี่ยวกับมาตรการป้องกันภัยธรรมชาติ 3. รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาท 4. ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงทรงตัวอยู่ในระดับสูง ภาครัฐควรทบทวนการปรับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างรอบคอบ และ 5. ตรวจสอบและเร่งแก้ไขภาวะค่าครองชีพสูง-กภ-
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit