กรุงเทพฯ--19 เม.ย.--พม.
นางสาวอนุตตมา อมรวิวัฒน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวง การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธาน การแถลงข่าวผลการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็น “กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี” และ ร่างพระราชบัญญัติความเท่าเทียมกันระหว่างเพศ พ.ศ. ..... ณ ห้องประชุมราชา ชั้น ๑๑ โรงแรมปริ๊นซ์ พาเลซ มหานาค กรุงเทพฯ
นางสาวอนุตตมา อมรวิวัฒน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ กล่าวว่า คณะกรรมการขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ได้จัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีใน ๔ ภูมิภาค และกรุงเทพมหานคร โดยจัดประชุมฯ ๕ ครั้ง ได้แก่ ครั้งที่ ๑ ภาคกลาง , ครั้งที่ ๒ ภาคเหนือ , ครั้งที่ ๓ กรุงเทพมหานคร , ครั้งที่ ๔ ภาคใต้ และครั้งที่ ๕ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีผู้เข้ารับฟังความคิดเห็นทั้งหมด ๒,๓๓๗ คน ซึ่งมีข้อเสนอ จากเวทีการประชุมรับฟังความคิดเห็น คือ ประเด็นที่ ๑ ภาพรวมของปัญหาที่สำคัญของจังหวัด สตรีสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา โดยแยกออกมาเป็น ๕ ด้าน ได้แก่ ๑)ด้านเศรษฐกิจ ปัญหาค่าครองชีพ,ปัญหาในการประกอบอาชีพ ,ปัญหาด้านแรงงาน ๒)ด้านสังคม ปัญหายาเสพติดและการพนัน ,ปัญหาเด็กและเยาวชน, ปัญหาครอบครัว ,ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในสังคม ๓)ด้านการศึกษา ปัญหาการไม่มีแหล่งทุนสนับสนุนในด้านการศึกษา ,ปัญหาบุคคลที่ไม่ได้ศึกษา ,ปัญหาการมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาต่ำลง ๔)ด้านสุขภาพ ปัญหาเกี่ยวกับโรคมะเร็งและโรคเอดส์ , ปัญหาการบริการสาธารณสุขไม่ทั่วถึง และ ๕)ด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหาสาธารณภัย ,ปัญหาบุกรุกทำลายป่า ,ปัญหาสังคมเมือง ประเด็นที่ ๒. กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีเป็นโอกาสสำคัญในการช่วยแก้ไขปัญหาของสตรีในเรื่องอะไรบ้าง ได้แก่ ๑) ปัญหาด้านเศรษฐกิจและความยากจน ๒) การพัฒนาศักยภาพสตรี ๓) การช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยา ประเด็นที่ ๓ แนวทางการเข้าไปมีบทบาทหรือการมีส่วนร่วมในการพัฒนากองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ได้แก่ ๑) การสร้างความเข้าใจและประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารให้สตรีได้รับรู้เข้าถึงสิทธิ ๒) การนำพลังสตรีในชุมชนมาใช้ในการพัฒนาสังคม ๓) การมีกระบวนการตรวจสอบแบบมีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการดำเนินงานกองทุนฯ ๔) การสร้างกระบวนการแบบมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ประเด็นที่ ๔ ข้อเสนอที่อยากเห็นต่อความยั่งยืนของกองทุนบทบาทสตรี มีข้อเสนอให้รัฐบาล ดังนี้ ๑) จัดตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เป็นธนาคารสตรี ๒) ออก พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีให้เป็นนิติบุคคล ๓) ประกาศเป็นวาระแห่งชาติและนโยบายต่อเนื่อง ๔) บริหารจัดการที่โปร่งใสสามารถตรวจสอบได้ ๕) กรรมการต้องเป็นผู้มีคุณธรรม ยุติธรรม ๖) กระจายโครงการอย่างทั่วถึงและเป็นธรรมโดยมีผู้หญิงบริหารจัดการ ๗) มีศูนย์ประสานงานให้ความช่วยเหลือและให้คำปรึกษา ๘) ระดับจังหวัดควรจะบรรจุเข้าไปในยุทธศาสตร์และแผนงานของจังหวัด และ ๙)มีการประชาสัมพันธ์เรื่องกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีให้กว้างมากยิ่งขึ้น ซึ่งการสรุปผลและข้อเสนอแนะทั้งหมดนี้ จะนำเสนอต่อ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี เพื่อนำไปกำหนดนโยบายในการช่วยเหลือสตรี โดยใช้กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีเป็นกลไกในการดำเนินงานด้านสตรี และนำข้อเสนอดังกล่าวมากำหนดเป็นระเบียบหลักเกณฑ์วิธีการในการรับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีต่อไป
นางสาวอนุตตมา กล่าวต่อว่า กระทรวงฯ ได้มีการยกร่าง “พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. .....” เพื่อการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิสตรี และส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย เพื่อต้องการขจัดการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ซึ่งถือเป็นพัฒนาการที่ดีในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ดังนั้น การเลือกปฏิบัติไม่ว่าจากสาเหตุใดๆ ที่เป็นอุปสรรคหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและคุณภาพชีวิต ทุกคนไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกันและควรได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาคกัน ทั้งนี้ พ.ร.บ. ความเท่าเทียมฯ ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการ ๒คณะ ได้แก่ ๑.คณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ หรือเรียกว่า คณะกรรมการ สทพ. และ ๒.คณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ หรือเรียกว่า คณะกรรมการ วลพ. ซึ่งคณะกรรมการทั้ง ๒ ชุดนี้ จะเป็นการสร้างหลักประกันในการขจัดเลือกปฏิบัติทางเพศให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น-นท-
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit