พพ. หวั่นอากาศร้อนรุนแรงปีนี้ ส่งผลยอดใช้ไฟฟ้าไทยกระฉูดยากรับมือ

25 Apr 2012

กรุงเทพฯ--25 เม.ย.--พพ.

พพ. หวั่นอากาศร้อนรุนแรงปีนี้ ส่งผลยอดใช้ไฟฟ้าไทยกระฉูดยากรับมือ ลั่นดึงสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เปิดโต๊ะเจรจาชวนภาคเอกชนไทย เข้าร่วมอนุรักษ์พลังงานแบบสมัครใจ ชี้เป็นก้าวสำคัญผลักดันมาตรการลดใช้พลังงานในภาคส่วนที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุด วางเป้ามีโรงงาน อาคารควบคุม เข้าร่วมเป็นเครือข่ายประมาณ 1,000 แห่ง ย้ำ พพ. ยังมีมาตรการจูงใจอนุรักษ์พลังงานผ่านสิทธิประโยชน์ทางภาษี โครงการให้เงินลงทุนร้อยละ 20 เป็นทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักร และการอนุรักษ์พลังงานผ่านรูปแบบเอสโก้ สำหรับหน่วยงานภาครัฐ

นายไกรฤทธิ์ นิลคูหา อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) พร้อมด้วย นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ในฐานะประธานองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) และดร.ขวัญฤดี โชติชนาทวีวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ร่วมกันแถลงข่าวเชิญชวน “การสร้างเครือข่ายผู้นำรักษ์พลังงาน” ผ่านโครงการรณรงค์การอนุรักษ์พลังงาน รูปแบบสมัครใจ (Voluntary Agreement ; VA) เพื่อเป็นการประกาศเชิญชวนให้ผู้ประกอบการที่มีอาคาร โรงงานควบคุม ทั้งจากภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจทั่วประเทศ เข้าร่วมเป็นเครือข่ายการอนุรักษ์พลังงานในรูปแบบต่าง ๆ ภายในองค์กร เพื่อให้เกิดการลดใช้พลังงานอย่างจริงจัง

นายไกรฤทธิ์ กล่าวว่า จากสภาพอากาศร้อนในปี 2555 นี้ ซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ในบางจังหวัดมีอุณหภูมิสูงถึง 40 องศา และจากตัวเลขยอดการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศ(พีค) ก็ทำสถิติสูงสุดอย่างต่อเนื่อง พพ. จึงได้ร่วมกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และ TBCSD เปิดตัวโครงการรณรงค์การอนุรักษ์พลังงาน รูปแบบสมัครใจ หรือ Voluntary Agreement (VA) โดยมีกลุ่มเป้าหมายสำคัญ คือผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจบริการ ที่พบว่าเป็น 2 ภาคส่วนสำคัญที่มีการใช้พลังงานรวมกันสูงที่สุดถึงร้อยละ 44 ของการใช้พลังงานทั้งหมดของประเทศ โดยโครงการ ฯ มีความตั้งใจจะเร่งรณรงค์การอนุรักษ์พลังงาน ภายในอาคาร โรงงานควบคุมของทั้ง 2 ภาคส่วนดังกล่าว ที่มีรวมกันประมาณ 6,000 แห่ง (เฉพาะกลุ่มอาคารและโรงงานควบคุม มีการใช้พลังงานประมาณร้อยละ 70) ซึ่ง พพ. และพันธมิตรที่ดำเนินโครงการ VA นี้ จะขอเชิญองค์กรที่มีความมุ่งมั่นด้านการลดใช้พลังงาน ให้เข้าร่วมเป็นเครือข่ายการอนุรักษ์พลังงานแบบสมัครใจดังกล่าว โดยคาดว่าจะมีหน่วยงานที่คิดดีทำดี เข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 1,000 แห่งในปีนี้ และจะขยายผลต่อไปเรื่อย ๆ ทั้งนี้ รายละเอียดการเข้าร่วมโครงการ ฯ เบื้องต้นต้องเป็นองค์กรที่ได้ปฏิบัติตาม พระราชบัญญัติการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งได้จัดส่งรายงานการจัดการพลังงานมายัง พพ. เรียบร้อย แต่สิ่งที่โครงการฯ ต้องการคือการรวมตัวกันขององค์กรที่จะประกาศเจตนารมย์การอนุรักษ์พลังงานที่เหนือกว่าสิ่งที่กฎหมายกำหนดไว้ (beyond standards) เช่น มีแผนงานที่ชัดเจนที่จะประหยัดพลังงาน ความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาให้อาคารสำนักงานไปสู่รูปแบบอาคารเขียว (green building) รวมทั้งการรณรงค์การอนุรักษ์พลังงานในรูปแบบต่าง ๆ ที่เข้มข้นขึ้นภายในองค์กร เป็นต้น

นอกจากนี้ โครงการ VA. ต้องการให้องค์กร ที่พร้อมเข้าร่วมเป็นเครือข่ายการอนุรักษ์พลังงานแบบสมัครใจนี้ ประกาศหรือเผยแพร่ ผลการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์พลังงาน ผ่านช่องทางที่องค์กรแต่ละแห่งมี เช่น รายงานประจำปี หรือทางเว็บไซด์ เพื่อจะได้เป็นประกาศต่อสาธารณะชน รวมทั้งเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในการร่วมกันผลักดันให้การลดใช้พลังงานเป็นเรื่องที่เกิดจากความสมัครใจ และทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการเป็นเครือข่ายการอนุรักษ์พลังงานที่ยั่งยืน โดยโครงการ ฯ จะเปิดรับสมัครไปจนถึงวันที่ 1 มิถุนายน 2555 นี้ ก่อนที่จะประกาศรายชื่อเครือข่ายคนทำดี ด้านการอนุรักษ์พลังงานดังกล่าวแก่สาธารณะชนต่อไป (สามารถติดตามรายละเอียดได้ทาง Facebook / Fanpage VA Energy beyond standards )

สำหรับผลประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการ VA. เบื้องต้น พพ. มั่นใจว่า จะสามารถสร้างเวทีความร่วมมือด้านการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังานภายในอาคารได้อย่างมีประสิทธิภาพ กระตุ้นให้เกิดกระแสความสนใจการอนุรักษ์พลังงานในระยะยาว จะเกิดเครือข่ายการให้คำปรึกษา หรือความช่วยเหลือเพื่อลดใช้พลังงาน สร้างภาพลักษณ์ที่ดีของหน่วยงานภาคเอกชน ที่ให้ความร่วมมือในการอนุรักษ์พลังงานอย่างจริงจัง ช่วยให้ภาคเอกชน/ผู้ประกอบการ ได้ข้อมูลทั้งด้านแหล่งเงินทุน และเทคโนโลยีต่าง ๆ ในการลงทุนกิจการอนุรักษ์พลังงานอย่างยั่งยืน ที่สำคัญทุกหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการ VA. จะสามารถลดต้นทุนด้านพลังงาน ธุรกิจมีกำไรเพิ่มขึ้น แถมยังได้ช่วยชาติประหยัดงบประมาณอีกด้วย

นายไกรฤทธิ์ กล่าวเพิ่มว่า ในส่วนมาตรการอนุรักษ์พลังงานด้านอื่น ๆ ซึ่งพพ.ได้เตรียมไว้ เพื่อเป็นการจูงใจเพิ่มเติมและรับมือกับผลกระทบจากการใช้พลังงานในช่วงหน้าร้อนนี้ อาทิ โครงการสิทธิประโยชน์ทางภาษี ซึ่งล่าสุดมีจำนวนรุ่นที่สามารถขอรับสิทธิประโยชน์ได้มากกว่า 5,200 รุ่น ใน 21 ประเภท เครื่องใช้ไฟฟ้า(ดูรายละเอียดโครงการเพิ่มเติมได้ที่ www.energy-tax.com) ซึ่งนอกจากจะได้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ประหยัดพลังงานแล้ว ยังสามารถรับสิทธิประโยชน์เป็นค่าหักลดหย่อนภาษีได้เพิ่มเติมอีกจำนวนร้อยละ 25 จากที่ปกตินำมาหักลดหย่อนได้ 100% ให้สามารถลดหย่อนได้เป็น 125% ของค่าใช้จ่ายที่ซื้ออุปกรณ์ประหยัดพลังงานนั้น ๆ

นอกจากนี้ ยังมีโครงการเพิ่มเติมที่น่าสนใจ สำหรับภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ ได้แก่ โครงการส่งเสริมวัสดุ และอุปกรณ์เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน สำหรับผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการจัดหาเครื่องจักร วัสดุอุปกรณ์เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน โดย พพ. พร้อมจะสนับสนุนเงินลงทุนร้อยละ 20 และสูงสุดไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อราย ในการส่งเสริมให้เกิดการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร วัสดุ อุปกรณ์ในสถานประกอบการให้เป็นเครื่องจักร วัสดุ อุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง ซึ่งโครงการ ฯ พร้อมจะเปิดรับสมัครเร็ว ๆ นี้

รวมไปถึงโครงการล่าสุด ได้แก่ การบริหารจัดการเพื่อการประหยัดพลังงานในอาคารควบคุมภาครัฐ มีรูปแบบดำเนินการในลักษณะธุรกิจจัดการพลังงาน (Energy Service Company : ESCO) โดยจะให้บริการครบวงจร ตั้งแต่การตรวจสอบการใช้พลังงาน การกำหนดมาตรการอนุรักษ์พลังงาน การออกแบบรายละเอียด การช่วยจัดหาแหล่งเงินทุน การจัดซื้ออุปกรณ์ การควบคุมการติดตั้ง การดูแลบำรุงอุปกรณ์ และเครื่องจักรให้มีประสิทธิภาพตลอดอายุการใช้งาน รวมถึงการติดตามประเมินผล โดยจะได้จัดทำโครงการนำร่องการบริหารจัดการเพื่อการประหยัดพลังงานใน 3 แห่งก่อน ได้แก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ก่อนขยายผลไปสู่อาคารหรือสำนักงานอื่น ๆ ต่อไป

-นท-