สธ. เผย ประชาชนเครียด แห่ปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต วัยแรงงานยังคงฆ่าตัวตายสูง แนะ ลดเครียด เพิ่มสุขในการทำงาน

02 May 2012

กรุงเทพฯ--2 พ.ค.--กรมสุขภาพจิต

นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รมช.สธ. กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยมีความเครียดสูง ซึ่งพบว่า 2 ปีที่ผ่านมา มีประชาชนขอรับบริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต ผ่านสายด่วน 1323 เพิ่มขึ้น มากกว่า 50% จากปี 2553 จำนวน 102,645 ราย เป็น 193,315 ราย ในปี 2554 ปัญหา ที่ขอปรึกษา ได้แก่ ปัญหาสุขภาพจิต อาทิ เครียด วิตกกังวล นอนไม่หลับ โรคทางจิต ปัญหาทางเพศ ปัญหาครอบครัว ปัญหาความรัก ปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ปัญหาพฤติกรรม ปัญหาการเจ็บป่วยทางกาย ปัญหาสารเสพติด ปัญหาการทำงาน ปัญหาการฆ่าตัวตาย/ทำร้ายตนเอง ซึ่งเหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงความเครียดและความกดดันในชีวิตที่เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของสังคม เศรษฐกิจ ซึ่งสาเหตุของความเครียดส่วนใหญ่ยังคงมาจากปัญหาการเงิน ปัญหาการงาน นอกจากนี้ จากรายงานการฆ่าตัวตายของประเทศไทย โดยกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข นับแต่ปี 2540-2553 พบว่า วัยแรงงานยังคงเสี่ยงต่อปัญหาการฆ่าตัวตาย โดย ช่วงอายุ 20-29 ปี มีการฆ่าตัวตายมากที่สุด 15,994 ราย รองลงมา คือ ช่วงอายุ 30-39 ปี และ 40-49 ปี ซึ่งมีจำนวนการฆ่าตัวตายเท่ากัน คือ 14,822 ราย ขณะที่ ปี 2553 ช่วงอายุ 30-39 ปี มีการฆ่าตัวตายมากที่สุด

รมช.สธ. กล่าวต่อว่า จากการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2555 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า มีผู้อยู่ในกำลังแรงงานหรือพร้อมที่จะทำงาน 38.80 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 71.4 ของประชากร ซึ่งในที่นี้เป็นผู้มีงานทำ 38.06 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 98.1 ของผู้อยู่ในกำลังแรงงาน เป็นชาย 21.13 ล้านคน หญิง 17.67 ล้านคน อยู่ในภาคเกษตรกรรม 13.45 ล้านคน นอกภาคเกษตรกรรม อาทิ การผลิต การก่อสร้าง การขายส่ง-ขายปลีก การขนส่ง โรงแรมและบริการ จำนวน 24.61 ล้านคน ขณะที่มีผู้ว่างงาน 2.56 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราร้อยละ 0.7 เป็นชาย 1.59 แสนคน หญิง 0.97 แสนคน ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครมีอัตราการว่างงานสูงที่สุด รองลงมาเป็นภาคกลางและภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามลำดับ ซึ่งตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้เห็นได้ว่า หากแรงงานไทยเกิดความเครียดและไม่สามารถจัดการกับความเครียดได้อย่างเหมาะสมแล้ว ย่อมมีโอกาสเกิดปัญหาต่างๆ ตามมาอีกมากที่อาจส่งผลต่อภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมของประเทศ

รมช.สธ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ความเครียดที่เกิดขึ้นจากการทำงาน ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นโดยที่ไม่รู้ตัว และไม่ทราบว่าขณะนั้นตัวเองเครียด จึงพาลให้เกิดการกระทบกระทั่งกับคนรอบข้าง จนถึงทะเลาะเบาะแว้งกับเพื่อนร่วมงาน ผู้บังคับบัญชา ผู้ใต้บังคับบัญชา รวมทั้งส่งผลให้ ไม่มีความสุขในการทำงาน และส่งผลต่อเนื่องไปถึงการทำงานในอนาคต ทั้งนี้ ความเครียดเป็นสิ่งที่รู้ตัวได้ยาก บางครั้ง คนเราไม่ยอมรับว่าตนเองกำลังอยู่ในภาวะเครียด หากต้องการทราบสภาวะจิตใจตนเองก็สามารถทำได้โดยใช้แบบประเมินความเครียดของกรมสุขภาพจิต ซึ่งสามารถหาได้จากเว็บไซต์กรมสุขภาพจิต www.dmh.go.th เพื่อทราบถึงระดับความเครียดที่เกิดขึ้นและแนวทางแก้ไข ซึ่งอาจต้องทำแบบประเมินภาวะซึมเศร้าร่วมด้วย เพราะบางครั้งความเครียดที่สะสมอาจก่อตัวจนเกิดการป่วยทางใจ ที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข ทั้งนี้ แนวทางการสังเกตว่าตนเองเครียดหรือไม่ อาจพิจารณาได้จากอาการทางกาย เช่น ใจสั่น ใจเต้นแรง เจ็บหน้าอก ความดันขึ้น ปวดหัว ปวดท้อง ปวดไหล่ ปวดหลัง ไมเกรน มีปัญหากับการนอน อาการทางใจ เช่น หงุดหงิด โมโหง่าย หลงลืม ฉุนเฉียว ซึ่งหลายคนต้องเข้าออกโรงพยาบาลโดยหาสาเหตุการเจ็บป่วยไม่พบ เนื่องจากความเครียดที่เรื้อรังไม่ได้รับการดูแลจนส่งผลไปถึงระบบทางกาย

เมื่อเครียดควรหาวิธีคลายเครียด สิ่งแรก คือ ไม่ควรคลายเครียดด้วยการใช้แอลกอฮอล์ ควรหากิจกรรมผ่อนคลายทำ ซึ่งมีอยู่หลายรูปแบบ เลือกตามความถนัด ทำแล้วเกิดความสุข อาทิ การออกกำลัง ซึ่งหากออกแรงมากขึ้นก็จะลดทั้งความเครียดและเพิ่มความแจ่มใส หรือการพูดคุยกับคนที่เราไว้ใจ เพราะบางครั้งแค่มีคนรับฟังก็สบายใจแล้ว หรือการควบคุมลมหายใจ การหายใจเข้า-ออก ลึกๆ การทำสมาธิ ทำจิตให้นิ่ง ปล่อยวางปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ที่มาจุกจิกกวนใจ เพราะจะส่งผลเสียทั้งต่อสุขภาพกายและใจ รวมทั้ง อาจทำให้เรามองข้ามความสำคัญของปัญหาอื่นไปแทน หรืออาจไปทำบุญ ทำทาน ช่วยเหลือผู้อื่น ซึ่งเมื่อช่วยเหลือคนอื่นที่มีความทุกข์จะช่วยให้เรามีความสุขมากขึ้น นอกจากนี้ ควรทำใจให้เป็นกลาง ยอมรับความเปลี่ยนแปลง และมีสติ ซึ่งจะช่วยลดความผิดหวังได้ส่วนหนึ่ง ตลอดจนเรียนรู้ที่จะให้อภัยผู้อื่นรวมถึงตัวเอง เพราะไม่มีใครเกิดมาสมบูรณ์ อีกทั้งรู้จักฝึกแก้ปัญหาและรู้จักบริหารเวลา ที่สำคัญ คือ การคิดบวก หากคอยจ้องแต่จับผิดกันก็จะทำให้จิตใจเป็นทุกข์ และการมองทุกอย่างในแง่ลบก็จะเป็นสาเหตุที่ทำให้เครียดลึกๆ อยู่ในใจ เป็นผลทำให้ไม่มีความสุข ดังนั้น ควรมองสิ่งดีที่ยังมีเป็นต้นทุน สร้างพลังใจ พลังความคิด และนึกถึงครอบครัวให้มากที่สุด เพราะครอบครัวคือหัวใจสำคัญที่จะช่วยประคับประคองดูแลจิตใจซึ่งกันและกัน ให้สามารถฟันฝ่าปัญหาอุปสรรคต่างๆ ไปได้ หากทำแล้วไม่ได้ผล ยังเกิดความเครียดหรือเกิดปัญหาความสัมพันธ์ สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่ สายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือปรึกษาจิตแพทย์เพื่อช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะความเครียดถือเป็นความเจ็บป่วยอย่างหนึ่งที่อาจสร้างผลกระทบให้เกิดขึ้นมากมาย รมช.สธ. กล่าว

-กผ-

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit