กรุงเทพฯ--2 พ.ค.--อพท.
วันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๕๕ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบการประกาศพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จำนวน ๒ พื้นที่ ได้แก่ เมืองเก่าน่าน และเมืองโบราณอู่ทอง
ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (๑ พ.ค.๕๕) นายชุมพล ศิลปอาชา รองนายกรัฐมนตรี ได้ขอความเห็นชอบต่อที่ประชุม ครม. ตามที่ คณะกรรมการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ได้ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือและสนับสนุน องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ในการจัดทำแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนทั้ง ๒ แห่งนี้ โดย อพท. ต้องการแปลงทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา เพื่อสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นจากแนวคิด Creative Economy และเป็นการเชิญชวนให้เกิดกระแสเศรษฐกิจสร้างสรรค์แพร่ขยายในวงกว้าง
พันเอก ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) กล่าวถึง พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเมืองเก่าน่าน ว่าจะเป็นสำนักงานพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ลำดับที่ ๖ (สพพ.๖) มีวิสัยทัศน์คือ “น่าน เมืองเก่าที่มีชีวิต” ครอบคลุมพื้นที่ ๕ ตำบล ประกอบด้วย ตำบลในเวียง ตำบลดู่ใต้ ตำบลนาซาว ตำบลบ่อสวก อำเภอเมืองน่าน และตำบลม่วงตึ๊ด อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน เนื้อที่ ๑๓๙.๓๗ ตารางกิโลเมตร จากหลักฐานตามตำนานและพงศาวดารสันนิษฐานว่าเป็นที่ตั้งชุมชนสมัยประวัติศาสตร์หลายยุคหลายสมัย มีแหล่งโบราณสถานที่ทรงคุณค่าอยู่เป็นจำนวนมาก อาทิ เมืองเก่าน่าน เวียงพระธาตุแช่แห้ง กำแพงเมืองและคูเมืองโบราณ แหล่งโบราณคดีชุมชนดอยภูซาง และเตาเผาโบราณบ่อสวก มีการรวบรวมหลักฐานและข้อมูลทางศิลปวัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิต และภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อประโยชน์ด้านการศึกษาค้นคว้า อนุรักษ์ และมีการถ่ายทอดไปยังรุ่นลูกรุ่นหลานอย่างเป็นสุข ผูกพันอย่างต่อเนื่องและภาคภูมิใจ รวมทั้งสร้างภาคีเครือข่ายการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่สอดคล้องกับแนวทางที่จังหวัดน่านและองค์กรที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้กำหนดนโยบายและวิสัยทัศน์ที่จะอนุรักษ์และพัฒนาชุมชนท้องถิ่นเมืองน่านให้เป็นเมืองแห่งการศึกษาเรียนรู้เชิงอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมล้านนาตะวันออก เป็นดินแดนมรดกน่าน มรดกไทย และมรดกโลก
สำหรับ พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเมืองโบราณอู่ทอง ลำดับที่ ๗ (สพพ.๗) มีวิสัยทัศน์คือ “อู่ทองเมืองโบราณ ต้นกำเนิดประวัติศาสตร์ อารยธรรมสุวรรณภูมิ” ครอบคลุมพื้นที่ทั้งตำบลอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เนื้อที่ ๓๘.๑๖ ตารางกิโลเมตร มีหลักฐานทางโบราณคดีที่สันนิษฐานได้ว่าเคยเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรทวาราวดีและเป็นศูนย์กลางของดินแดนสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมและประเพณีของชนชาติพันธุ์ต่าง ๆ ก่อนจะหลอมรวมเป็นชาติไทยในปัจจุบัน ซึ่ง อพท. จะพัฒนาเมืองโบราณอู่ทองเป็นแหล่งประวัติศาสตร์ที่สามารถสืบค้นเรื่องราวเกี่ยวกับการก่อกำเนิดชนชาติไทยและศิลปวัฒนธรรมทางประวัติศาสตร์ของชนชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในพื้นที่ดินแดนสุวรรณภูมิให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) พ.ศ. ๒๕๔๖ มาตรา ๒๐ (๘) และมาตรา ๓๕ กำหนดให้คณะกรรรมการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมีอำนาจประกาศให้พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ซึ่งที่ผ่านมา อพท. ได้ดำเนินการประกาศพื้นที่พิเศษเรียบร้อยแล้วจำนวน ๕ พื้นที่
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะประกาศพื้นที่ใดเป็นพื้นที่พิเศษ นั้น อพท. ได้ดำเนินการตามขั้นตอนการประกาศพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ดังนี้
๑) การประเมินศักยภาพของพื้นที่ ตามคู่มือการจัดเตรียมข้อมูลเพื่อการพิจารณาการประกาศพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (คะแนนต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๗๕) ซึ่งผลการประเมินปรากฏว่า พื้นที่เมืองเก่าน่านอยู่ที่ระดับร้อยละ ๗๖.๕ และพื้นที่เมืองโบราณอู่ทอง อยู่ที่ระดับร้อยละ ๘๕
๒) อพท. ร่วมกับพื้นที่เมืองเก่าน่าน และพื้นที่เมืองโบราณอู่ทอง ศึกษาความเป็นไปได้ในการประกาศพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชน ชุมชน และผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ โดยกำหนดวิสัยทัศน์ยุทธศาสตร์การพัฒนา และแนวทางดำเนินงาน ระยะที่ ๑ ภายใน ๓ ปี (พ.ศ. ๒๕๕๕-๒๕๕๗)
๓) การจัดเวทีประชาคมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชนในการประกาศพื้นที่พิเศษ ทั้ง ๒ แห่ง ซึ่งผลการจัดเวทีประชาคมประชาชนทั้ง ๒ พื้นที่เห็นด้วยเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ กล่าวคือ พื้นที่เมืองเก่าน่าน เห็นด้วย ร้อยละ ๙๘.๓๒ (มีประชาชนเข้าร่วมเวทีประชาคมจำนวน ๒,๕๐๐ คน) และพื้นที่เมืองโบราณอู่ทอง เห็นด้วย ร้อยละ ๙๘.๑๔ (มีประชาชนเข้าร่วมเวทีประชาคมจำนวน ๓๒๖ คน)
ต่อจากนี้ อพท. จะเร่งดำเนินการจัดทำแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ทั้ง ๒ แห่งนี้ ให้แล้วเสร็จตามเป้าหมาย เพื่อฟื้นฟู อนุรักษ์ และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว รวมทั้งเพิ่มรายได้การท่องเที่ยวและจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติในพื้นที่พิเศษอย่างต่อเนื่อง ภายใต้นโยบาย Co-Creation หรือ “ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมปฏิบัติ ร่วมรับผิดชอบ ร่วมรับผลประโยชน์” ของผู้อำนวยการ อพท.
ติดต่อสอบถามได้ที่
ชมพูนุท ธาราสิทธิโชค เจ้าหน้าที่สื่อสารองค์กร อพท.
-กผ-
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit