กรุงเทพฯ--8 พ.ค.--สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี
สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี เปิดเวทีถ่ายทอดสดวิเคราะห์สถานีวิทยุชุมชน ทำเพื่อประชาชนหรือเพื่อธุรกิจ โดยภาคประชาชนสะท้อนปัจจุบันไม่เหลือสถานีวิทยุชุมชนที่แท้จริง เพราะขับรถไปไกลหลายร้อยกิโลเมตร ยังมีสถานีวิทยุรับช่วงต่อโฆษณาเป็นทอดๆ เสนอให้ กสทช.เอาจริง เพื่อคืนสถานีวิทยุชุมชนที่ทำประโยชน์ให้กับชาวบ้านในท้องถิ่น
ที่ศูนย์อาหารโรงแรมสุนีย์แกรนด์สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี ร่วมกับโครงการสะพานจากการสนับสนุนของ USAID เปิดเวทีวิเคราะห์วิทยุชุมชน อดีต ปัจจุบัน อนาคต โดยเชิญผู้ดำเนินรายการของสถานีวิทยุชุมชนจากหลายสถานีร่วมให้ความเห็น โดยมีนายสุชัย เจริญมุขยนันท์ และ น.ส.ชนินทร์ญา คำดี เป็นผู้ดำเนินรายการบนเวที พร้อมถ่ายทอดสดเสียงไปตามสถานีวิทยุกระจายเสียงหลักและสถานีวิทยุชุมชนของจังหวัด
นายบุญมี คำเรือง ตัวแทนสถานีวิทยุชุมชนภูมิปัญญาไทบ้านจาก อ.โขงเจียม ให้ความเห็นว่า เมื่อกว่า 10 ปีก่อน สถานีวิทยุชุมชนยังเป็นสถานีวิทยุชุมชนอย่างแท้จริง ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ข่าวสารจากผู้ให้ข้อมูลคือ นักจัดรายการถึงชาวบ้านที่เป็นผู้รับฟัง แต่ต่อมาไม่นาน สถานีวิทยุชุมชนกลายเป็นสถานีตอบสนองการดำเนินธุรกิจ จึงไม่ทำหน้าที่ของสถานีวิทยุชุมชนที่ให้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์กับผู้ฟัง
แต่เน้นการนำเสนอเรื่องชวนเชื่อ เพื่อให้สถานีได้รับการสนับสนุนจากเจ้าของธุรกิจ ทำให้เสียสมดุลการทำหน้าที่ของสถานีวิทยุชุมชน รวมทั้งสถานีวิทยุที่ทำธุรกิจมีความได้เปรียบในการส่งคลื่นได้ไกลและแรงกว่า ทำให้เกิดคลื่นแทรกตามสถานีวิทยุชุมชนที่เล็กกว่าในขณะนี้
ด้านนายพิเชษฐ์ ทาบุดดา ดีเจสถานีวิทยุชุมชน อ.เมืองอุบลราชธานี ให้ความเห็นว่า การที่ กสทช.เข้ามาจัดระเบียบคลื่นความถี่วิทยุ โทรทัศน์ ไม่เกิดประโยชน์กับประชาชน เพราะการมาของ กสทช.จะจำกัดไม่ให้สถานีส่งคลื่นได้เท่านั้นเท่านี้ หรือพื้นที่จังหวัดใดควรมีสถานีวิทยุชุมชนกี่สถานี การทำดังกล่าวเป็นการปิดกั้นเสรีภาพการดำเนินการด้านการสื่อสารของประชาชน
ควรเปิดเสรีใครมีแรงทำ จะทำไปกี่สถานีก็ได้ หรือให้ส่งคลื่นได้ไกลเท่าไหร่ก็ได้ เพื่อให้เกิดการแข่งขัน เพราะสถานีใดดำเนินรายการไม่น่าสนใจ ก็จะไม่มีใครฟัง และไม่ได้รับการสนับสนุนจากธุรกิจการค้าหรือผู้ฟัง สถานีก็จะปิดตัวไปเอง กสทช.ไม่ควรมากำหนด เพราะเอาเข้าจริง กสทช.ก็ไม่มีปัญญาไปดำเนินการกับสถานีโทรทัศน์ขนาดใหญ่อย่างทีวีสีช่อง 3 5 7 9 ที่ถ่ายทอดเสียงผ่านเทคโนโลยีต่างๆ ให้เข้ามาอยู่ในระเบียบอย่างที่จะทำกับสถานีวิทยุชุมชนขณะนี้
ด้านนายคำพวง ทัดเทียน และผู้ฟังรายการที่เข้าร่วมเวทีอีกหลายคนได้สะท้อนความเห็นการดำเนินงานของสถานีวิทยุว่า ปัจจุบันสถานีวิทยุชุมชนจริงๆแทบไม่เหลือ มีแต่สถานีวิทยุที่ทำธุรกิจ รวมทั้งชาวบ้านที่เป็นผู้ฟังก็ไม่สนใจฟังสถานีวิทยุชุมชน เพราะมองว่าน่าเบื่อสู้สถานีที่มาในรูปแบบธุรกิจไม่ได้ ทั้งที่หลายสถานีพยายามสะท้อนวิถีชีวิตการทำกินของชาวบ้าน ซึ่งเป็นเรื่องได้ประโยชน์และเป็นเรื่องใกล้ตัวของผู้รับฟังก็ตาม
ขณะที่ผู้รับฟังอีกคนหนึ่งเล่าประสบการณ์ขณะขับรถจากจังหวัดอุบลราชธานี ไปยังภาคตะวันออก ตลอดเส้นทางกว่า 700 กิโลเมตร มีการส่งสัญญาณของสถานีวิทยุชุมชนส่งต่อกันเป็นทอดๆ ทำให้ได้ยินเสียงโฆษณาสินค้าตลอดการเดินทาง ลักษณะดังกล่าวจึงไม่ใช่สถานีวิทยุชุมชน พร้อมร้องขอให้ กสทช.ดำเนินการกับผู้ประกอบการสถานีวิทยุลักษณะนี้ เพื่อให้สถานีวิทยุชุมชนกลับมาเป็นสถานีวิทยุที่สร้างประโยชน์ให้กับชุมชนจริงๆด้วย
ขณะที่นายประสิทธิ์ ปราสาน ตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เขต 2 อุบลราชธานี ระบุว่า เมื่อปี 2542 มีสถานีวิทยุชุมชนเกิดขึ้นในอีสานตอนล่างไม่กี่สถานี แต่ผ่านไปไม่นานสถานีวิทยุชุมชนเติบโตอย่างรวดเร็ว เพราะวัสดุอุปกรณ์ใช้ตั้งสถานีมีราคาถูก นักจัดรายการที่เคยอยู่ตามสถานีหลัก ก็ออกมาเปิดสถานีวิทยุของตัวเอง ทำให้คลื่นความถี่ทับซ้อน รวมทั้งหลายสถานีฝ่าฝืนตั้งเสาส่งสัญญาณให้แรงและไปได้ไกลกว่าที่ได้กำหนดไว้ ในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้เข้าไปดำเนินการ เพราะกฏหมายยังไม่ชัดเจน แต่เมื่อมี กสทช.ต่อไปต้องมีการจัดเบียบและให้สถานีวิทยุชุมชนกลับมาเป็นสถานีของประชาชนจริงๆ โดยการจัดสรรคลื่นความถี่ให้แต่ละพื้นที่ตามจำนวนความถี่ที่สามารถทำได้ เช่นตัวอย่าง จ.อุบลราชธานี คงมีคลื่นความถี่ให้ได้ไม่เกิน 50 สถานี จากกว่า 100 สถานีที่มีอยู่ เพื่อไม่ให้คลื่นทับซ้อนกันเหมือนทุกวันนี้
สำหรับเวทีสะท้อนปัญหาวิทยุชุมชนครั้งนี้ นอกจากถ่ายทอดเสียงไปตามสถานีวิทยุต่างๆแล้ว ยังมีการนำเสนอเทปบันทึกรายการตามสถานีเคเบิ้ลในจังหวัดอีสานตอนล่างด้วย
-กผ-
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit