กรุงเทพฯ--20 มี.ค.--ศศินทร์
เผยธุรกิจเกษตรและปศุสัตว์ของไทยมีศักยภาพพร้อมเติบโตในตลาดอาเซียน ผู้ประกอบการตื่นตัวพัฒนาธุรกิจรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด คาดเป็นธุรกิจเดียวที่ได้เปรียบหลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ไฟเซอร์จับมือสถาบันบัณฑิตฯ ศศินทร์ ดึง 50 ธุรกิจติวเข้มติดอาวุธทางการตลาดรับมือ AEC
ผศ.ดร.กฤษติกา คงสมพงษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์และการตลาด สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงนโยบายในการร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและองค์กรต่าง ๆ ในการพัฒนาบุคลากรว่า สถาบันบัณฑิตฯศศินทร์ได้เปิดศูนย์พัฒนานักบริหาร เพื่อจัดหลักสูตรพิเศษสำหรับพัฒนาและเพิ่มขีดความรู้ความสามารถในการแข่งขันของตลาด ที่ผ่านมาได้รับความสนใจจากองค์กรชั้นนำต่าง ๆ เป็นอย่างดี อาทิ กระทรวงสาธารณะสุข, กรมสรรพากร, ลอรีอัล (ประเทศไทย), บริษัท พฤกษาเรียลเอสเตท จำกัด เป็นต้น และล่าสุดได้จับมือกับบริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด จัดอบรมหลักสูตรระยะสั้นในหัวข้อ “Entrepreneurship : Management of Invovation” รุ่นที่ 2 โดยได้รับความสนใจจากผู้บริหารซึ่งเป็นลูกค้าของไฟเซอร์ถึง50 บริษัท โดยส่วนใหญ่ต้องการพัฒนาศักยภาพในแง่ของการบริหารและจัดการนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้กับธุรกิจของตนเอง เพื่อสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้กับลูกค้า
“การจัดหลักสูตรพิเศษให้กับภาคธุรกิจที่มีโจทย์การทำงานแตกต่างกันจำเป็นต้องมีความยืดหยุ่นเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของธุรกิจนั้น ๆ เช่นการร่วมมือกับไฟเซอร์เพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถให้กับลูกค้าที่ส่วนใหญ่อยู่ในธุรกิจภาคการเกษตรและปศุสัตว์ จึงต้องวิเคราะห์และค้นหาว่าผู้ประกอบการเหล่านั้นต้องการอะไร และจะได้ประโยชน์อะไรจากการเรียนในหลักสูตรนี้ นอกจากนี้แล้วยังต้องให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของแต่ละธุรกิจ โดยเฉพาะกลยุทธ์ด้านการตลาดว่าลูกค้าเป็นใคร ต้องการอะไร และในฐานะผู้ประกอบการจะตอบสนองผู้บริโภคได้อย่างไร เนื่องจากเราต้องการให้ทุกองค์กรนำความรู้จากทุกหลักสูตรไปใช้ในการทำงานได้จริง” ผศ.ดร.กฤษติกากล่าว และเปิดเผยเพิ่มเติมว่า นอกจากการวิเคราะห์ความต้องการของผู้เข้ารับการอบรมแล้ว ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทุกองค์กรพึงพอใจการทำงานของศูนย์พัฒนานักบริหาร สถาบันบัณฑิตฯ ศศินทร์ เนื่องจากมีวิทยากรเป็นอาจารย์ประจำและทำการวิจัยในสาขาที่ตนเองเชี่ยวชาญอย่างต่อเนื่อง และวิทยากรเหล่านี้ไม่ได้สอนหนังสือและทำวิจัยเพียงอย่างเดียว แต่ยังทำงานด้านที่ปรึกษาให้กับธุรกิจภาคต่าง ๆ จึงมั่นใจได้ว่าวิทยากรแต่ละท่านมีความเชี่ยวชาญในแขนงของตนเองทั้งในด้านวิชาการและภาคปฏิบัติ
สำหรับการจัดหลักสูตรให้กับผู้ประกอบการที่เป็นลูกค้าของบริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด นั้นจุดเด่นอยู่ที่การเปิดโอกาสให้ทุกคนนำเสนอและแลกเปลี่ยนแนวความคิดของตนเอง ดังนั้น นอกจากจะได้รับความรู้และประสบการณ์จากวิทยากรแล้ว การทำเวิร์คช็อปร่วมกันยังทำให้เกิดการเรียนรู้จากผู้ประกอบการที่มาจากหลากหลายธุรกิจ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการประยุกต์และนำไปใช้ในสาขาของตนเองได้ในอนาคต เช่น หลักสูตรการสร้างนวัตกรรมขององค์กร เพื่อทำให้ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายรู้สึกดีและตื่นเต้นกับนวัตกรรมใหม่ ๆ ไม่ว่าจะอยู่ในธุรกิจใดก็ตามก็สามารถนำไปใช้กับลูกค้าได้เป็นอย่างดี
ทางด้านนายทรงวุฒิ ศักดิ์ชลาธร กรรมการผู้จัดการ ธุรกิจเวชภัณฑ์สัตว์ไฟเซอร์ บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า สาเหตุที่ตัดสินใจนำลูกค้าที่ดำเนินธุรกิจด้านการเกษตรและปศุสัตว์จำนวน 50 บริษัทเข้ารับการอบรมกับศูนย์พัฒนานักบริหาร สถาบันบัณฑิตฯ ศศินทร์ เพราะต้องการให้ลูกค้ามีความพร้อมในทุก ๆ ด้านในการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากไฟเซอร์มีนโยบายที่ชัดเจนว่า นอกจากการขายเวชภัณฑ์แล้ว ยังต้องการเป็นที่ปรึกษาและแก้ปัญหาแบบครบวงจรให้กับลูกค้า เพื่อต้องการสร้างความสัมพันธ์เพื่อเป็นพันธมิตรกันในระยะยาวและให้บริษัทไฟเซอร์เป็นอันดับหนึ่งในจิตใจของลูกค้า ดังนั้น นอกจากความรู้ด้านเวชภัณฑ์ที่ไฟเซอร์ได้ดำเนินการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังต้องคิดต่อว่าจะทำอย่างไรให้ธุรกิจของลูกค้านั้นประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น
“ไฟเซอร์เชื่อมั่นว่าศูนย์พัฒนานักบริหาร สถาบันบัณฑิตฯ ศศินทร์ มีวิทยากรที่มีความรู้ความสามารถในทุก ๆ ด้านและเป็นที่ยอมรับของสาธารณะชน ทำให้ผู้ที่เข้าอบรมส่วนใหญ่ที่เป็นลูกค้าของไฟเซอร์มีความพึงพอใจสูงสุด และคาดว่าจะมีการจัดอบรมหลักสูตรในลักษณะนี้อย่างต่อเนื่อง เพราะผู้ประกอบการที่เข้าโครงการในรุ่นที่ผ่านมาได้รับประโยชน์และเห็นว่าเป็นหลักสูตรที่จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจ ซึ่งส่วนใหญ่ต้องการอบรมในลักษณะของการเจาะลึกในแต่ละสาขา เช่น นวัตกรรมด้านการตลาดและการขาย การบริหารงานบุคคล กฎหมาย และการเงิน รวมทั้งสาขาอื่น ๆ ที่เป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินธุรกิจ” นายทรงวุฒิกล่าว
ทั้งนี้ หลักสูตรที่ไฟเซอร์จัดร่วมกับศศินทร์เพื่อต้องการให้กับผู้ประกอบการด้านการเกษตรและปศุสัตว์ ทั้งกลุ่มเจ้าของฟาร์มสุกร ฟาร์มไก่ โรงพยาบาลสัตว์ และโรงงานอาหารสัตว์ มีความพร้อมในการทำงานในช่วงที่เปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เมื่อตลาดในเอเซียนเปิดเสรีในปี 2558 ตลาดดังกล่าวจะมีการแข่งขันรุนแรงขึ้น ในฐานะที่ทำงานในสาขาที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจดังกล่าวมั่นใจว่าผู้ประกอบการได้เตรียมพร้อมเพื่อรับมือในทุก ๆ ด้าน ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ธุรกิจปศุสัตว์มีศักยภาพที่สามารถแข่งขันในตลาดได้ แม้ว่าบางธุรกิจของไทยอาจเป็นรองประเทศเพื่อนบ้าน แต่มั่นใจว่าธุรกิจด้านการเกษตรและปศุสัตว์ของประเทศไทยมีความได้เปรียบในหลาย ๆ ปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นความเชี่ยวชาญ ทรัพยากร รวมทั้งความพร้อมด้านการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ สำหรับลูกค้า-กภ-
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit