ทีวีไกด์: รายการ "กบนอกกะลา" ตอน “กิน อยู่ แบบภูฏาน”

16 Mar 2012

กรุงเทพฯ--16 มี.ค.--ทีวีบูรพา

กบนอกกะลา ค้นหาดินแดนในอ้อมกอดเทือกเขาหิมาลัย “ภูฏาน

“ราชอาณาจักรภูฏาน ดินแดนแห่งมังกรสายฟ้า ประเทศเล็กๆ ท่ามกลางเทือกเขาหิมาลัย ที่ที่การซื้อขายบุหรี่เป็นสิ่งผิดกฎหมาย หนุ่มๆ ใส่ชุดกระโปรงไปทำงาน และผู้คนกินพริกกันเป็นอาหารจานหลัก”

ประเทศภูฏานเริ่มเป็นที่รู้จักของคนไทยในวงกว้างเมื่อ 6 ปีที่ผ่านมานี้เอง เมื่อครั้งเจ้าชายหนุ่ม(ในครั้งนั้น) ที่คนไทยเรียก ติดปากว่า เจ้าชายจิกมี่ ได้เสด็จมาเป็นพระราชอาคันตุกะ งานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปี พ.ศ.2549 ด้วยพระสิริโฉมและพระจริยาวัตรที่งดงาม ภายใต้ชุดฉลองพระองค์ที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ตั้งแต่นั้น เรื่องราวต่างๆ ของประเทศภูฏานก็เป็นที่สนใจของคนไทย และกลายเป็นหนึ่งในประเทศในฝันที่ใครหลายคนอยากไปเยือนสักครั้งในชีวิต

กบนอกกะลา ขอร่วมเกาะกระแสความฮอตของประเทศนี้ ด้วยการเดินทางไปเยือนดินแดนเล็กๆ ที่ซุกตัวอยู่ในอ้อมกอดของเทือกเขาหิมาลัย เพื่อสะท้อนภาพวิถีชีวิตและวัฒนธรรมอันบริสุทธิ์ ผ่านเรื่องราวที่เป็นเสน่ห์อันเป็นเอกลักษณ์ และเป็นภาพจำของคนทั่วโลก นั่นก็คือ เครื่องแต่งกายของชาวภูฏาน โดยการเดินทางครั้งนี้ได้ กบตั้ว นเรศ หาญพันธ์พงษ์ ที่ขอกลับมาทำหน้าที่พิธีกรสนามอีกครั้ง ร่วมกับพิธีกรสาวหน้าใหม่ ที่ทั้งรักการเดินทางและเชี่ยวชาญด้านภาษา การ์ตูน ณัฐธนัญ กุลระพีกร โดยทั้งสองจะไปหาคำตอบว่าเสื้อผ้าของชาวภูฏานมีส่วนประกอบอะไรบ้าง ทำไมคนมากมายหลายอาชีพ ทุกเพศทุกวัย ทั้งเด็กเล็ก วัยรุ่น จนคนสูงอายุ ถึงนิยมใส่กัน และไปติดตามเส้นทางว่ากว่าจะมาเป็นชุดประจำชาติสักตัวนั้น มีขั้นตอนอย่างไร

การตามหาคำตอบ แบบสไตล์กบนอกกะลา ทำให้ทีมงานต้องเดินทางไปหลายเมือง ทั่วประเทศ ตั้งแต่ ทิมพู เมืองหลวง ที่รวบรวมความหลากหลายของเครื่องแต่งกายจากผู้คนนับร้อยนับพัน ไปจนถึงหมู่บ้านทอผ้า ในชนนบทห่างไกล ในเมือง ลุนเซ ที่น้อยคนนักจะเดินทางไปถึง เพราะหนทางช่างห่างไกล และสุดแสนลำบาก ต้องข้ามผ่านเทือกเขาหิมาลัยที่ยอดเขาสูงต่ำสลับซับซ้อน บนถนนที่ทั้งแคบทั้งคดโค้งและขรุขระ แต่ก็คุ้มค่าที่ต้องไป เพราะที่หมู่บ้านเล็กๆ นามว่า โคม่า นี้ ขึ้นชื่อเรื่องศิลปะการทำ ผ้าทอมือ ในระดับประเทศ ว่ากันว่าผ้าทอจากที่นี่เพื่อนำไปตัดชุดประจำชาติสักชุดหนึ่ง สนนราคาไม่ต่ำกว่าแสนบาท ใช้เวลาทอร่วมปี แม้แต่เสื้อผ้าระดับราชวงศ์ก็ล้วนผ่านมือช่างทอที่นี่ทั้งนั้น

ตลอดเส้นทางที่สองพิธีกร ผ่านไปยังมีเรื่องราวความสนุกที่ซุกซ่อนอยู่ในแบบที่หาชมไม่ได้ง่ายๆ ทั้งกีฬาประเพณียอดฮิตอย่างการยิงธนู ไปจนถึงการเดินทางตามหา จามรี สัตว์เลี้ยงขนยาว ของชาวเขาเร่ร่อน บนความสูงมากกว่า 3,000 เมตรที่ทั้งหนาวทั้งเหนื่อย กว่าจะได้เจอตัว แล้วจามรีจะมาเกี่ยวข้องกับเครื่องแต่งกายประจำชาติได้อย่างไร ต้องติดตามหาคำตอบในรายการ

นอกจากเรื่องของเครื่องแต่งกายประจำชาติแล้ว ตลอดเวลาของการทำงานครั้งนี้ ยังมีเรื่องน่าสนในอีกอย่าง นั่นคือในทุกมื้ออาหารไม่ว่าในโรงแรม ร้านอาหาร บ้านชาวบ้าน หรือกระทั่งกระโจมคนเลี้ยงจามรี จะต้องมีอาหารอยู่อย่างหนึ่ง ที่ชาวภูฏาน เรียกว่า Ema Datsi (เอมมา ดัทซี่) เหมือนกันไม่เคยเปลี่ยน เพราะนี่คืออาหารประจำชาติ ซึ่งส่วนประกอบหลักนั้นก็เรียบง่ายมาก คือ พริก กับ ชีส เพียงเท่านั้น และ เอมมา ดัทซี่ นี่เองจะเป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่กบนอกกะลาไปเดินทางดั้นด้นหาที่มาของวัตถุดิบทั้งสองอย่าง จากตลาดสด ตลาดแห้งกลางเมือง บุกไปจนถึงโรงเลี้ยงวัวของชาวบ้านเพื่อดูการทำชีส และพาไปชิม เอมมา ดัทซี่ สูตรเด็ดหากินยาก จากชีสจามรี และอีกหลายความรู้ที่รับรองว่าดูสนุกของประเทศภูฏาน

ติดตามเรื่องราวของดินแดนที่ได้ชื่อว่าเป็น สวรรค์บนดินแห่งนี้ได้แบบจุใจ 3 สัปดาห์สุดท้ายของเดือนมีนาคม ในกบนอกกะลา ตอน “กิน อยู่ แบบภูฏาน” ศุกร์ที่ 16,23 และ 30 มี.ค. นี้ เวลา 20.30 ทางโมเดิร์นไนน์ทีวี

-กภ-

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net