กรุงเทพฯ--14 มี.ค.--บ้านพีอาร์
ยามใดที่เราปล่อยลูกโป่งให้ลอยตามลมไป เราย่อมไม่สามารถบังคับให้ลูกโป่งลอยไปในทิศทางใดได้เลย เช่นเดียวกันกับจินตนาการและความอยากรู้อยากเห็นของเด็ก ๆ โรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่ ชั้นอนุบาล 3/1 ที่ความใคร่รู้ของพวกเขานำความสนใจไปที่เรื่อง “แผนที่” จึงเป็นที่มาของหัวข้อการเรียนรู้แบบโครงงาน หรือ Project Approach ซึ่งเด็กๆ ใช้เวลาในการเรียนรู้ควบคู่กับหลักสูตรตามวิชาต่างๆ เป็นระยะเวลาประมาณ 7 สัปดาห์ ซึ่งการเรียนแบบ Project Approach เด็กจะได้คิดและทำการสืบค้นหาข้อมูลด้วยตนเอง ทำกิจกรรมเกี่ยวกับสิ่งที่ต้องการเรียนรู้ สรุปข้อมูลพร้อมทั้งเผยแพร่ให้ครูและเพื่อนในห้องได้รับรู้ เพื่อพิจารณาข้อมูลและเรียนรู้ร่วมกัน จากนั้นก็นำข้อมูลที่รวบรวมได้ มาจัดนิทรรศการแสดงให้เห็นวิธีการคิด การเรียนรู้ และข้อมูลที่สืบค้นมาได้ ได้เวลาร่วมกางแผนที่ฉบับจิ๋วแล้ว ตามไปดูพร้อมกันเลย
“แผนที่ประเทศไทยมีรูปร่างอย่างไร ? มีจังหวัดอะไรบ้าง? และเราจะใช้แผนที่อย่างไร? และใครเป็นคนคิดค้นแผนที่? ล้วนเป็นคำถามที่เกิดขึ้นในใจของเด็กๆ และเร่งเร้าให้พวกเขาออกไปหาคำตอบกันอย่างจริงจัง การเรียนรู้แบบ Project Approach นั้น สอนให้เด็กค้นคว้าในสิ่งที่สนใจอย่างลุ่มลึกในหลายแง่หลายมุม ซึ่งน้องๆ ต่างก็สืบค้นทำการบ้านมาล่วงหน้าจากอินเตอร์เน็ตและนำข้อมูลที่ได้มาแบ่งปันความรู้กัน
“แผนที่คืออุปกรณ์ที่มนุษย์ประดิษฐ์ ขึ้น เพื่อแสดงลักษณะของพื้นผิวโลก หรือสิ่งที่ปรากฏบนพื้นผิวโลก ทั้งที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ และสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น” น้องคูน ด.ช. คูน เกลียวปฏินนท์ เล่าให้เราฟังด้วยน้ำเสียงจริงจัง ยิ่งเมื่อสืบค้นลึกลงไป สิ่งที่น้องๆได้เรียนรู้ก็ยิ่งลึกซึ้งขึ้น ซึ่งน้องดีด้า ด.ญ.รัญชิดา รัตนเดชน์รังสี บอกกับเราว่า “แผนที่ประเทศไทยเป็นรูปขวาน มีหลายจังหวัด มีเชียงรายอยู่เหนือสุด ในแผนที่มีบอกทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศตะวันออกและทิศตะวันตกด้วยค่ะ”
การเรียนรู้เรื่องทิศนั้น ทำให้เด็กๆได้รู้จักการอ่านเข็มทิศเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการต่อยอดการเรียนรู้อีกด้วย “ทิศเหนือ จะแทนด้วยตัว N ทิศใต้เป็นตัว S ทิศตะวันออกเป็นตัว E และทิศตะวันตกเป็นตัว W” น้องมีโม่ ด.ช. ชินาธิป จันทร์วิกูล เล่าให้เราฟัง ” ส่วน น้องซี ด.ช. อภิภู สังขเวทัย เล่าเสริมว่า “ในสมัยก่อนเราดูทิศได้โดยสังเกตจากพระอาทิตย์ และตอนกลางคืนก็สังเกตจากพระจันทร์ โดยเอราทอส เทนีส เป็นคนคิดค้นแผนที่เป็นคนแรก ถือเป็นบิดาของวิชาภูมิศาสตร์ แต่แผนที่เก่าแก่ที่สุดในโลกเป็นของชาวเมโสโปเตเมียครับ”
นอกจากนี้ผู้ปกครองของเด็กๆ ยังได้มีส่วนร่วมในการเรียนรู้อีกด้วย โดยมีคุณปรารถนา เกลียวปฏินนท์ ผู้ปกครองของน้องคูน มาให้ความรู้เด็กๆเรื่อง Google Earth อีกด้วย ซึ่งน้องซี ด.ช.อภิภู เล่าสิ่งที่เห็นให้ฟังว่า “ได้เห็นบ้านของเพื่อนๆ เห็นโรงเรียน และเห็นประเทศอื่นๆ เช่น ประเทศญี่ปุ่น ได้ดูดิสนีย์แลนด์ ดูประเทศอียิปต์ ได้เห็นปิรามิด มีเกาะฮ่องกง กรุงเทพฯก็มีเกาะรัตนโกสินทร์ เหมือนได้ไปเที่ยวทางคอมพิวเตอร์เลยครับ สนุกมากๆเลย” นอกจากนี้น้องๆยังได้มีโอกาสเรียนเรื่อง GPS ซึ่งผู้ปกครองของน้องดีด้า ด.ญ.รัญชิดา ใจดีสละเวลา มาแบ่งปันความรู้ให้น้องๆ ฟัง ซึ่งน้องนารา ด.ช.ปุณยวีร์ เล่าสรุปให้เราฟังว่า “ระบบ GPS เป็นระบบดาวเทียม ออกแบบโดยกองทัพอเมริกา มีไว้นำทางไม่ให้หลง ช่วยในการประหยัดน้ำมัน เวลา ทำให้ไปถึงจุดหมายได้รวดเร็วครับ”
นอกเหนือจากการศึกษาด้วยตัวเอง และการแบ่งปันประสบการณ์ในห้องเรียนแล้ว น้องๆยังได้มีโอกาสไปทัศนศึกษานอกสถานที่ที่ “ห้องแผนที่เทิดพระเกียรติ 84 พรรษา” กรมแผนที่ทหารกองบัญชาการกองทัพไทย “รัชกาลที่ 5 เป็นผู้ตั้งกรมแผนที่ทหาร ได้เห็นวิธีการทำแผนที่ และกล้องถ่ายรูปสำหรับทำแผนที่ที่ใหญ่มากๆ นำเข้ามาจากประเทศเยอรมัน ซึ่งถ่ายรูปด้วยฟิลม์ ” น้องมีโม่ ด.ช. ชินาธิป เล่าให้เราฟังด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น และน้องดีด้า ด.ญ.รัญชิดา ยังเล่าเสริมว่า “ได้เห็นภาพที่ในหลวงทรงงานและใช้แผนที่ค่ะ ในหลวงท่านทรงใช้แผนที่ตั้งแต่เด็ก ท่านอ่านแผนที่ได้เก่งมากๆเลยค่ะ”
สัปดาห์ สุดท้ายของการเรียนรู้ คือ ระยะสรุป เด็ก ๆ ได้ร่วมกันสรุปถึงสิ่งต่างๆ ที่เด็ก ๆ ได้เรียนรู้กันมาตลอด 7 สัปดาห์และร่วมกันจัดนิทรรศการภายในห้องให้ได้ชมกัน โดยน้องๆให้ความร่วมมือกันนำภาพแผนที่ และเข็มทิศแบบต่างๆ มาจัดแสดง พร้อมกับนำกระบะทราย เครื่องจำลองการวาดแผนที่แบบโบราณมาคอยต้อนรับผู้ที่มาชมนิทรรศการ ให้ได้ทดลองวาดแผนที่อีกด้วย แค่ได้ชมนิทรรศการของน้องๆ เชื่อว่าทุกท่านคงได้รับความรู้เรื่องแผนที่กันเต็มอิ่ม อย่าลืมนะคะหากเราจะไปไหน ก็พกแผนที่ไปด้วยจะได้ไม่หลงทาง เด็ก ๆ ฝากบอกมาค่ะ ชมภาพสวยๆเพิ่มเติมได้ที่ www.kukai.ac.th
-กผ-
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit