บลจ.ไอเอ็นจี ปลื้มกองทุน ‘เอเชี่ยน เดบท์ รีจินอล บอนด์ ปันผล’ สุดฮอต ใช้เวลาไม่ถึงเดือนจดทะเบียนขยายกองทุน

15 Mar 2012

กรุงเทพฯ--15 มี.ค.--บลจ.ไอเอ็นจี

บลจ.ไอเอ็นจี ปลื้มกองทุน ‘เอเชี่ยน เดบท์ รีจินอล บอนด์ ปันผล’ สุดฮอตใช้เวลาไม่ถึงเดือนจดทะเบียนขยายกองทุนชี้เงินทุนต่างชาติไหลเข้าตราสารหนี้เอเชีย สะท้อนเศรษฐกิจแกร่ง

บลจ.ไอเอ็นจี ปลื้ม “กองทุนเปิด ไอเอ็นจี ไทย เอเชี่ยน เดบท์ รีจินอล บอนด์ ปันผล” สุดฮอต หลังปิดจองซื้อช่วง IPO ตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ และเปิดให้ซื้อขายรอบใหม่ได้ตั้งแต่ 15 กุมภาพันธ์ ปรากฏว่า นักลงทุนให้การตอบรับอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้กองทุนต้องเพิ่มทุนจาก 3 พันล้านบาท เป็น 5 พันล้านบาท มีผลตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา ชี้ปัจจัยสนับสนุนสำคัญมาจากเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติยังไหลเข้าลงทุนในตราสารหนี้เอเชียต่อเนื่อง จากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจแข็งแกร่ง ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลให้ดอกเบี้ยปรับตัวลดลงและผลักดันในราคาตราสารปรับเพิ่มสูงขึ้น ส่วนเศรษฐกิจยุโรป แม้จะมีแนวโน้มคลี่คลายขึ้น แต่ยังคงต้องอาศัยเวลา

นายจุมพล สายมาลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า หลังจากที่บริษัทฯ ได้ออกและเสนอขาย “กองทุนเปิด ไอเอ็นจี ไทย เอเชี่ยน เดบท์ รีจินอล บอนด์ ปันผล” ซึ่งมีนโยบายลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน ING (L) Renta Fund Asian Debt (Local Bond) ที่มีนโยบายกระจายการลงทุนในตราสารหนี้ ตราสารตลาดเงิน และเงินฝาก ในประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ อินเดีย ฮ่องกง และจีน ให้กับประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ และได้เปิดให้ผู้สนใจได้ลงทุนตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานั้น ปรากฏว่า กองทุนดังกล่าวได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างมาก ส่งผลให้มูลค่ากองทุนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยล่าสุดกองทุนได้ดำเนินการเพิ่มทุนจาก 3 พันล้านบาทเป็น 5 พันล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา

สำหรับปัจจัยสนับสนุนให้ “กองทุนเปิด ไอเอ็นจี ไทย เอเชี่ยน เดบท์ รีจินอล บอนด์ ปันผล” ได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างมากนั้น มาจากพื้นฐานเศรษฐกิจเอเชียที่แข็งแกร่ง โดยเชื่อว่า มาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจ จะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดมีทิศทางลดลง เป็นผลให้ตราสารที่ลงทุน ซึ่งโดยรวมแล้วเป็นตราสารที่มีอายุปานกลางและระยะยาวมีโอกาสได้รับกำไรจากราคาตราสารที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ ล่าสุดธนาคารกลางฟิลิปปินส์ได้ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 25% จากเดิม 6.25% มาอยู่ที่ 6.00% นอกจากนี้ การปรับอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้เอเชียยังคงมีทิศทางที่ดีขึ้น เช่นเดียวกับอัตราดอกเบี้ยตราสารหนี้ภูมิภาคเอเชียที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยของประเทศกลุ่มพัฒนาแล้ว ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ภูมิภาคเอเชียมีปริมาณการลงทุนและการบริโภคภายในประเทศที่สูง เช่นเดียวกับการระดมทุนเพื่อขยายกิจการ ดังนั้น ผู้ออกตราสารในประเทศจึงออกตราสารที่ให้ผลตอบแทน นั่นคือ ดอกเบี้ยรับที่สูงเพื่อดึงดูดนักลงทุน

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) กล่าวด้วยว่า ในขณะที่เศรษฐกิจเอเชียยังคงเดินหน้าอย่างแข็งแกร่ง แต่เศรษฐกิจยุโรปยังคงน่าเป็นห่วง หลังจากที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือฟิตช์ เรทติ้ง ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของกรีซจาก "CCC" สู่ระดับ "C" (Junk Bond) และล่าสุดสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือมูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือกรีซสู่ระดับต่ำสุดที่ ‘C’ จากเดิมที่ ‘Ca’ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในระบบการจัดอันดับของมูดีส์ จากแผนสว็อปพันธบัตร ที่อาจส่งผลให้นักลงทุนขาดทุนมากถึง 70% ซึ่งสอดคล้องกับเกณฑ์การจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับ C ของมูดีส์ แม้ว่า ประเด็นของกรีซจะคลี่คลายในทิศทางที่ดีขึ้น ภายหลังการประชุมผู้นำยูโรโซนเสร็จสิ้นลง โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ตกลงอนุมัติแผนช่วยเหลือรอบ 2 แก่กรีซ ในวงเงิน 1.30 แสนล้านยูโร และ ECB สามารถเข้าซื้อพันธบัตรของประเทศสมาชิกที่มีปัญหาการระดมทุน 2.195 แสนล้านยูโร รวมถึงการขยายวงเงิน กองทุนรักษาเสถียรภาพการเงินยุโรป (European Financial Stability Facility: EFSF) อีก 2.5 แสนล้านยูโร จะดำเนินการในปลายเดือนมีนาคมนี้ เช่นเดียวกับการจัดตั้งกองทุนกลไกรักษาเสถียรภาพยุโรป (European Stability Mechanism :ESM) วงเงินเริ่มต้น 5 แสนล้านยูโร แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เศรษฐกิจยุโรปจะผ่อนคลายจากวิกฤติหนี้สาธารณะได้ในเวลาอันใกล้

ในส่วนของสหรัฐอเมริกาก็เช่นนั้น ที่ล่าสุดนายเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด ได้กล่าวยืนยันว่า จะยังคงอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำไปถึงสิ้นปี 2014 โดยไม่มีการส่งสัญญาณเพิ่มเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการเงิน แม้ว่าตลาดแรงงานจะปรับตัวดีขึ้น แต่ยังคงห่างไกลจากระดับปกติ ซึ่งจากสถานการณ์ล่าสุดของยุโรปและสหรัฐอเมริกา ยิ่งผลักดันให้ตราสารหนี้ของเอเชียมีความน่าสนใจมากขึ้น แม้ว่า นายเหวิน เจีย เป่า นายกรัฐมนตรีของจีน จะออกมาประกาศเป้าหมายอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในปีนี้ไว้ที่ระดับ 7.5% ซึ่งเป็นระดับที่ลดลงจากเป้าหมายเดิมที่ 8% เล็กน้อย แต่อัตราการขยายตัวดังกล่าวก็ถือว่าอยู่ในระดับที่สูงมาก

“บลจ.ไอเอ็นจี ยังคงมองว่าภูมิภาคเอเชียยังคงเป็นภูมิภาคที่สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับนักลงทุนได้เป็นอย่างดีในปีนี้ ทั้งการลงทุนในตราสารหนี้ภูมิภาคเอเชีย เช่น กองทุนเปิด ไอเอ็นจี ไทย เอเชี่ยน เดบท์ รีจินอล บอนด์ ปันผล หรือการลงทุนในตลาดหุ้นไทย เช่น กองทุนเปิดไอเอ็นจีไทยอีควิตี้ฟันด์ และกองทุนเปิดไอเอ็นจีไทยบาลานซ์ฟันด์ ซึ่งเป็นกองทุนผสมทั้งตราสารหนี้และหุ้น ด้วยการบริหารการลงทุนในแบบ Active Management โดยผู้จัดการกองทุนในลักษณะการวิเคราะห์และคาดการณ์ภาวะตลาดในอนาคตและการจับจังหวะการลงทุนที่เหมาะสมนั้น ทำให้เราเชื่อมั่นว่าทั้งสามกองทุนนี้จะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับนักลงทุนได้เป็นอย่างดีโดยเฉพาะการลงทุนในปีต่อเนื่องถึงปีหน้า” นายจุมพลกล่าว

สำหรับผู้สนใจลงทุนในกองทุนของ บลจ.ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) สามารถสอบถามข้อมูลได้ที่โทร. 0-2688-7777 กด 2 ผ่ายธุรกิจกองทุนและที่ปรึกษาการลงทุน หรือ www.ingfunds.co.th-กภ-

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net