กรุงเทพฯ--21 มี.ค.--ธนาคารกสิกรไทย
กสิกรไทยร่วมกับกรุงศรีฯ ปล่อยกู้รวม 1,517 ล้านบาท สร้างไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซล่าฟาร์ม) 3 แห่งที่โคราช ร่วมทุนสร้างโดย เอสพีซีจี และบ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง 2 ยักษ์ใหญ่แห่งวงการพลังงาน กำลังผลิต 3 โรง รวม 18 เมกะวัตต์ มุ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ใหญ่ที่สุดในโลกในปี 2556 ด้านราชบุรี โฮลดิ้ง เป็นผู้นำการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานทางเลือกที่ครบที่สุด ส่วนเคแบงก์ย้ำมุ่งสู่ความเป็นอันดับหนึ่ง ในการสนับสนุนทางการเงินแก่ธุรกิจผลิตไฟฟ้า
นางสาววันดี กุญชรยาคง ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทเดินหน้าโครงการโซล่าฟาร์มมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านพลังงานแสงอาทิตย์ของไทยและอาเซียน ล่าสุด จับมือกับ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด ร่วมลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 3 แห่ง ที่ จังหวัดนครราชสีมา ได้แก่ โครงการโซล่าเพาเวอร์ โคราช 3 (Solar Power Korat 3 Project) โครงการโซล่าเพาเวอร์ โคราช 4 (Solar Power Korat 4 Project) และ โครงการโซล่าเพาเวอร์ โคราช 7 (Solar Power Korat 7 Project) เป็นโครงการโซล่าฟาร์มขนาด 6 เมกะวัตต์ รวม 3 โครงการมีกำลังการผลิตรวม 18 เมกะวัตต์ ใช้เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากแผงพลังงานแสงอาทิตย์แบบ Polycrystalline ของบริษัท Kyocera จากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้ผลิตแผงพลังงานแสงอาทิตย์หลักในอุตสาหกรรมมานานกว่า 40 ปี สำหรับโครงการดังกล่าว ร่วมลงทุนโดย บริษัท โซล่า เพาเวอร์ จำกัด (Solar Power Co., Ltd.) บริษัทในเครือเอสพีซีจี ในสัดส่วน 60% และ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง ในสัดส่วน 40%
ทั้งนี้ ปัจจุบันเอสพีซีจี มีโครงการโซล่าฟาร์มแล้ว จำนวน 34 โครงการ รวมกำลังการผลิตกว่า 240 เมกะวัตต์ ซึ่งได้ขายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) แล้ว 7 โครงการ ได้แก่ โคราช 1 สกลนคร 1 นครพนม 1 โคราช 2 เลย 1 ขอนแก่น 1 และ โคราช 3 มีกำลังผลิตรวม 42 เมกะวัตต์ และ อยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 9 โครงการ ซึ่งคาดว่าจะจำหน่ายไฟฟ้าได้ในไตรมาส 3 ของปี 2555 และจะเริ่มพัฒนาอีก 18 โครงการภายในปี 2555 ซึ่งทุกโครงการเอสพีซีจีได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากธนาคารกสิกรไทยอย่างดี
นายพีระวัฒน์ พุ่มทอง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ วางแผนและพัฒนาธุรกิจ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรี- โฮลดิ้ง เปิดเผยว่า บริษัทมุ่งมั่นขยายการลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทน ซึ่งเป็นหนึ่งในสามธุรกิจหลักของบริษัท โดยมุ่งหวังสนองตอบนโยบายภาครัฐที่ต้องการลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลผลิตกระแสไฟฟ้าในฐานะที่บริษัทเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ที่มีบทบาทสำคัญในการเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศนอกเหนือจากพลังงานลม และชีวมวลแล้ว ยังมีการลงทุนในโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานที่มีศักยภาพเพียงพอต่อการผลิตไฟฟ้าทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลในช่วงเวลากลางวัน ปัจจุบัน ได้ลงทุนร่วมกับกลุ่มเอสพีซีจีพัฒนาโซล่าร์ฟาร์ม 3 โครงการ และคาดว่าจะสามารถขยายความร่วมมือกับกลุ่มเอสพีซีจีในการพัฒนาโครงการแห่งอื่นได้ในอนาคตอันใกล้นี้ โดยโซล่าร์ฟาร์มทั้งสามแห่งมีพัฒนาการก้าวหน้าตามแผนงานที่วางไว้ และความสำเร็จในการจัดหาเงินกู้ครั้งนี้สะท้อนถึงศักยภาพของโครงการที่สถาบันการเงินให้ความเชื่อมั่น อีกทั้งยังแสดงให้เห็นว่าแนวโน้มการพัฒนาโครงการพลังงานทดแทนจากนี้ต่อไปจะได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
นายกฤษฎา ล่ำซำ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า การปล่อยสินเชื่อให้กับโครงการพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์อย่างต่อเนื่องนี้ ก็เพื่อเป็นการประกาศย้ำแนวทางการสนับสนุนโครงการสีเขียวของธนาคาร โดยโครงการโซล่าเพาเวอร์ โคราช 3, 4 และ 7 นี้ เป็นโครงการแรกที่เป็นความร่วมมือระหว่าง 2 องค์กรพลังงานยักษ์ใหญ่ คือ กลุ่มบริษัทโซล่า เพาเวอร์ และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง โดยธนาคารกสิกรไทยได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการเงินกู้ (Mandated Lead Arranger) พร้อมปล่อยเงินกู้ร่วมจำนวนรวม 1,517 ล้านบาท ระหว่างธนาคารกสิกรไทยและธนาคารกรุงศรีฯ ในสัดส่วน 55% และ 45% ตามลำดับ เพื่อผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) นอกจากนี้ ธนาคารกสิกรไทยยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนฝั่งธนาคารพาณิชย์ (Facility Agent) และตัวแทนหลักประกัน (Security Agent) และทำหน้าที่ให้บริการวงเงินอื่น ๆ เช่น การเปิดเอกสาร Letter of Credit ในการนำเข้าแผงพลังงานแสงอาทิตย์ พร้อมอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมถึงวงเงินเพื่อป้องกันความเสี่ยงในด้านอัตราแลกเปลี่ยนอีกด้วย
นายธะเรศ โปษยานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ 1 ธนาคารกรุงศรีฯ แสดงความยินดีที่ได้มีส่วนร่วมในความสำเร็จของ บริษัท เอสพีซีจี และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง ในโครงการโซล่า เพาเวอร์ โคราช 3, 4 และ 7 ซึ่งทางธนาคารกรุงศรีฯ ได้ร่วมสนับสนุนวงเงิน Syndication กับธนาคารกสิกรไทย โดยตระหนักถึงผลกระทบของปัญหาสิ่งแวดล้อมต่อสภาวะโลกร้อน และความสำคัญของพลังงานทางเลือกในปัจจุบัน ธนาคารมีความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนโครงการธุรกิจและกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องต่อไป ทั้งนี้ นอกเหนือจากการสนับสนุนทางการเงิน ธนาคารกรุงศรีฯ มีการจัดงานสัมมนา เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมถึงการจัดโครงการช่วยเหลือสังคมต่าง ๆ เพื่อช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อย่างสม่ำเสมออีกด้วย
นายกฤษฎา กล่าวตอนท้ายว่า ธนาคารมีเป้าหมายในการให้การสนับสนุนโครงการพลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่อง เพื่อก้าวขึ้นเป็นธนาคารอันดับ 1 ด้านธุรกิจพลังงานและพลังงานทดแทน และครองส่วนแบ่งตลาด 80% โดยในอนาคตจะมีผู้เล่นรายใหม่ในตลาดที่ไม่ได้อยู่ในธุรกิจพลังงานมากขึ้น ซึ่งจะหมายถึงการร่วมมือกันทางธุรกิจที่มากยิ่งขึ้น ตลอดจนการขยายการลงทุนไปต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีการสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย เป็นต้น
ในส่วนประเทศไทยศักยภาพไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์สามารถไปได้ไกลกว่า 5,000 เมกกะวัตต์ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์จะมีมากกว่า 10% ของกำลังการผลิตทั้งหมดใน 10 ปีข้างหน้า ซึ่งมีเม็ดเงินลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทนมากกว่า 500,000 ล้านบาท ดังนั้น การสนับสนุนทางการเงินในอนาคตของธนาคารกสิกรไทยจะต้องใช้ความได้เปรียบจากความเชื่ยวชาญในอุตสาหกรรมนี้ ที่มุ่งเน้นไปในด้านการเป็นที่ปรึกษาโครงการ และ เป็นที่ปรึกษาการร่วมทุนทั้งในประเทศและนอกประเทศ โดยการพึ่งเงินกู้จากธนาคารอาจจะเป็นเพียงแค่ส่วนสนับสนุนหนึ่งเท่านั้น แต่ธนาคารกสิกรไทยเล็งเห็นถึงการเข้าไปมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเครื่องมือทางการเงินแบบใหม่เพื่อช่วยลูกค้าระดมทุนในตลาดทุน รวมถึงการระดมทุนในรูปแบบทันสมัย คือ Infrastructure Fund ซึ่งจะสามารถตอบโจทย์ทั้งในส่วนของเงินทุนและเงินกู้ โดยธนาคารอยู่ระหว่างการดำเนินการในเรื่องนี้-กภ-