กรุงเทพฯ--30 มี.ค.--กฟผ.
กฟผ. ระบายน้ำเขื่อนภูมิพล-เขื่อนสิริกิติ์ได้ตามแผน ส่วนแผนระบายน้ำหลังสิ้นฤดูแล้งขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและปริมาณฝน รัฐกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลใกล้ชิด ห่วงพื้นที่นอกเขตชลประทานประสบภัยแล้ง
นายกิตติ ตันเจริญ ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า แผนการระบายน้ำจากเขื่อนในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพื่อการเพาะปลูกฤดูแล้งปี 2555 (ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2554 จนถึง30 เมษายน 2555) ในโครงการชลประทานเจ้าพระยา ที่มีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 10 ล้านไร่ มีแผนการใช้น้ำทั้งสิ้น 13,220 ล้าน ลบ.ม. เป็นแผนการใช้น้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ 11,865 ล้าน ลบ.ม. จากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 600 ล้าน ลบ.ม. และจากเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน 750 ล้าน ลบ.ม. แยกเป็นการใช้น้ำเพื่อการเกษตร 8,460 ล้าน ลบ.ม. (ร้อยละ 64) เพื่อการรักษาระบบนิเวศน์และอื่นๆ 3,660 ล้าน ลบ.ม. (ร้อยละ 28) และเพื่อการอุปโภค–บริโภค 1,100 ล้าน ลบ.ม. (ร้อยละ 8)
ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ กล่าวต่อไปว่า จากข้อมูลของกรมชลประทาน ณ วันที่ 28 มีนาคม 2555 มีการเพาะปลูกในลุ่มน้ำเจ้าพระยาไปแล้วเกือบเต็มพื้นที่ หรือ 9.98 ล้านไร่ ขณะที่การระบายน้ำดำเนินการได้ตามแผน โดยแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งจะสิ้นสุดในเดือนเมษายน 2555 ทั้งนี้ การระบายน้ำในระยะต่อไป ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและปริมาณฝน
ปัจจุบัน ( 28 มีนาคม 2555 เวลา 24.00 น.) เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 7,887 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 59 ระบายน้ำในช่วงฤดูแล้งตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2554 ถึงปัจจุบันไปแล้ว 6,644 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 88 ของแผนการระบายน้ำทั้งหมด โดยได้เริ่มปรับลดการระบายน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำจริง ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม เป็นต้นมา ปัจจุบันระบายน้ำเฉลี่ยวันละ 38 ล้าน ลบ.ม. สำหรับ เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 5,642 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 59 ระบายน้ำในช่วงฤดูแล้งตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2554 ถึงปัจจุบันไปแล้ว 4,779 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 89 ของแผนการระบายน้ำทั้งหมด เริ่มปรับลดการระบายน้ำมาตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม จนปัจจุบันระบายน้ำเฉลี่ยวันละ 20 ล้าน ลบ.ม. รวมปริมาณน้ำที่ระบายจากสองเขื่อนวันละ 58 ล้าน ลบ.ม.
อย่างไรก็ตาม ในช่วงต้นเดือนเมษายน ความต้องการใช้น้ำเพื่อการเกษตรมีไม่มาก คณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำได้มีการประสานงานกันในช่วงกลางสัปดาห์ เพื่อจะปรับลดแผนการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ลงเหลือประมาณวันละ 46 ล้าน ลบ.ม. ให้ทันในช่วงปลายสัปดาห์นี้จนถึงวันที่ 6 เมษายน โดยในวันที่ 3 เมษายน 2555 คณะอนุกรรมการฯ จะประชุมร่วมกันเพื่อติดตามสถานการณ์น้ำตลอดจนแผนการระบายน้ำตามข้อเท็จจริงอีกครั้ง
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2555 จนถึงปัจจุบัน พื้นที่ประสบภัยแล้ง ที่ประกาศโดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มีจำนวน 35 จังหวัด แบ่งเป็น ภาคเหนือ 14 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12 จังหวัด ภาคกลาง 4 จังหวัด และภาคตะวันออก 5 จังหวัด ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นอกเขตชลประทานที่ใช้น้ำฝนเป็นหลัก และมักประสบปัญหาภัยแล้งเป็นประจำทุกปี โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้กำชับผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ โดยใช้เงินทดรองราชการจังหวัดละ 50 ล้านบาท ช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง โดยในส่วนของ กฟผ. ก็มีรถบรรทุกน้ำคอยให้บริการชุมชนรอบเขื่อนที่ขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค เช่นทุกปีที่ผ่านมา -กภ-
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit