กรุงเทพฯ--12 เม.ย.--กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนในช่วงหน้าร้อนและเทศกาลสงกรานต์ให้ระวังโรคอาหารเป็นพิษหรืออุจจาระร่วง เผยข้อมูลการสุ่มตรวจอาหารตามสถานีขนส่งต่างๆ ที่ผ่านมายังคงพบอาหาร น้ำดื่ม และน้ำแข็งไม่ได้มาตรฐาน พบเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค แนะกินอาหารปรุงสุก สะอาด อาหารค้างคืนต้องอุ่นให้เดือดก่อน ล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง ส่วนพ่อค้าแม่ค้าอย่าหยิบจับอาหารโดยตรงด้วยมือเปล่า ไม่ใช้อุปกรณ์สัมผัสอาหารดิบและสุกร่วมกัน และเลือกซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดและน้ำแข็งบรรจุถุงพลาสติกที่มีเครื่องหมาย อย.
นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์จะมีการเดินทางกลับภูมิลำเนาเดิม ทำให้มีผู้ใช้บริการในสถานีขนส่ง จำนวนมาก ประกอบกับอากาศร้อนทำให้อาหารที่ปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์เน่าเสียได้ง่าย และส่งผลให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษหรือ โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันได้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงได้ดำเนินการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหาร น้ำดื่มบรรจุขวด และน้ำแข็ง โดยทำการสุ่มเก็บตัวอย่างที่จำหน่ายในสถานีขนส่งต่างๆ ได้แก่ สถานีขนส่งหมอชิต สถานีขนส่งสายใต้ สถานีขนส่ง เอกมัย และสถานีรถไฟหัวลำโพง อย่างต่อเนื่องทุกปี โดยปี 2555 ได้เก็บตัวอย่างอาหารพร้อมบริโภค จำนวน 81 ตัวอย่าง มีการปนเปื้อนเชื้ออีโคไล (E. coli) 32 ตัวอย่าง และพบเชื้อโรคอาหาร เป็นพิษ ได้แก่ เชื้อสแตฟฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) 6 ตัวอย่าง เชื้อซัลโมเนลล่า (Salmonella spp.) 4 ตัวอย่าง และเชื้อวิบริโอ พาราฮีโมไลติคัส (Vibrio parahaemolyticus) 1 ตัวอย่าง
จากข้อมูลการเฝ้าระวังความปลอดภัยอาหารพร้อมบริโภคที่วางจำหน่ายตามสถานที่ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ายังมีการปนเปื้อนของเชื้อโรคอาหารเป็นพิษ ซึ่งเชื้อเหล่านี้จะก่อให้เกิดอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย เป็นไข้ บางรายอาจเกิดอาการช็อกหมดสติและรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ทั้งนี้การรักษาอาการเบื้องต้นทำได้โดยให้ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่หรือโออาร์เอส โดยหลังดื่มแล้ว 8-12 ชั่วโมง หากอาการไม่ดีขึ้นให้นำส่งโรงพยาบาลทันที อย่างไรก็ตามผู้บริโภคสามารถหลีกเลี่ยงการเกิดโรคได้ โดยการเลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ หรืออาหารที่มีการอุ่นให้ร้อนเสมอ มีภาชนะสะอาดปกปิด ใช้ช้อนกลางทุกครั้ง และล้างมือบ่อยๆ ขณะเดียวกันในส่วนของผู้ประกอบการ ควรมีการอุ่นอาหารให้ร้อนอยู่เสมอหรืออุ่นทุก 2 ชั่วโมง ไม่หยิบจับอาหารโดยตรงด้วยมือเปล่า ไม่ใช้อุปกรณ์สัมผัสอาหารดิบและอาหารสุกร่วมกัน และอาหารที่ปรุงสุกแล้ว ควรมีภาชนะปกปิด เท่านี้ผู้ประกอบการจะมีส่วนช่วยลดหรือป้องกันการเกิดโรคอาหารเป็นพิษไปสู่ผู้บริโภคได้
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ขอย้ำเตือนให้ระมัดระวังในเรื่องการบริโภคน้ำดื่มและน้ำแข็งด้วย เนื่องจากในช่วงฤดูร้อนผู้บริโภคจะมีความต้องการดื่มน้ำมากกว่าปกติ ซึ่งจากการสุ่มเก็บตัวอย่างน้ำดื่มบรรจุขวดและน้ำแข็งบด มาตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ ยังพบว่ามีการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์และพาหะนำโรค โดยเฉพาะ เชื้อโคลิฟอร์ม (Coliform) เชื้ออีโคไล (E.coli) และเชื้อโรคอาหารเป็นพิษ ได้แก่ คลอสตริเดียม เพอร์ฟริงเจนส์ (Clostridium perfringens) ดังนั้นก่อนซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดหรือเครื่องดื่มจากร้านค้าควรเลือกน้ำดื่ม บรรจุขวดและน้ำแข็งหลอดบรรจุถุงพลาสติกที่ปิดสนิท และควรสังเกตในฉลากว่า มีระบุเลข อย. รวมทั้งชื่อและที่อยู่ของผู้ผลิต นอกจากนี้ภาชนะบรรจุน้ำดื่มต้องดูสะอาดและปิดสนิท ไม่รั่วซึม เมื่อลองยกขวดเอียงไปมาต้องไม่มีน้ำหกออกจากขวด และไม่มีร่องรอยการเปิดขวดแล้ว สำหรับน้ำดื่มที่ผ่านเครื่องกรองน้ำก็ควรมีการเปลี่ยนไส้กรองน้ำเป็นประจำตามระยะเวลาหรือ ปริมาณการใช้ตามที่ผู้ผลิตกำหนด และ ควรสังเกตน้ำที่กรองออกมา ถ้าน้ำขุ่นหรือมีตะกอนก็ไม่ควรนำมาดื่ม การฆ่าเชื้อโรคในน้ำดื่มอาจทำได้ง่ายๆ ด้วยการต้มน้ำให้เดือด
-กผ-
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net