กรุงเทพฯ--19 มิ.ย.--พม.
นายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ประธานประชุมคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแห่งชาติ ประเภทองค์กร เพื่อชี้แจงความเป็นมาของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีและแนวทางการสรรหาคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแห่งชาติ ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ
นายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กล่าวว่า รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาของสตรี และความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย โดยประกาศเป็นนโยบายในการจัดตั้ง “กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี” ซึ่งวิสัยทัศน์ของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี กำหนดไว้ คือ “สร้างสรรค์ พลังสตรี ให้เป็นพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ” มีวัตถุประสงค์หลัก ๔ ประการ คือ ๑.เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการลงทุน ๒.เพื่อเป็นแหล่งทุนเพื่อการพัฒนาศักยภาพสตรีและเครือข่ายสตรี ๓.เพื่อเป็นแหล่งทุนสำหรับส่งเสริมสนับสนุนการจัดกิจกรรม ๔.เป็นแหล่งเงินทุนเพื่อการสนับสนุนโครงการที่เป็นการแก้ไขปัญหาและพัฒนาสตรี โดยมียุทธศาสตร์หลัก ๔ ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์ที่๑ การสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนพัฒนาสตรี ยุทธศาสตร์ที่๒ การพัฒนาโอกาสในการงานและอาชีพ การพัฒนาศักยภาพ การเพิ่มบทบาท และการสร้างภาวะผู้นำ ยุทธศาสตร์ที่ ๓ การเฝ้าระวังและดูแลปัญหาของสตรี ช่วยเหลือเยียวยาสตรี ยุทธศาสตร์ที่ ๔ การรณรงค์ให้สังคมเข้าใจปัญหาสตรีในทุกมิติ
นายวิเชียร กล่าวต่อว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ในฐานะเลขานุการและอนุกรรมการฯ ได้เปิดรับสมัครสามชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีประเภทองค์กร ระหว่างวันที่ ๒๐- ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๕ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี พ.ศ. ๒๕๕๕ โดยมีหนังสือเชิญชวนองค์กรที่จดทะเบียนเป็น มูลนิธิและสมาคม จำนวน ๒๗๒ องค์กร รวมทั้งองค์กรสมาชิกที่มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานด้านสตรี ได้สมัครเป็นสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ประเภทองค์กร มีองค์กรที่มีคุณสมบัติถูกต้องตามระเบียบสำนักนายกฯ จำนวน ๑๐๘ องค์กร แบ่งเป็นกรุงเทพฯ ๓๐ องค์กร ภาคเหนือ ๒๓ องค์กร ภาคกลาง ๑๗ องค์กร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ๓๑ องค์กร และภาคใต้ ๗ องค์กร ประธานคณะอนุกรรมการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากเครือข่ายองค์กรสตรีใน ๔ ภูมิภาค และกรุงเทพฯ โดยประกาศรายชื่อสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ประเภทองค์กร ทางเว็บไซค์ www.womenfund.thaigov.go.th และ www.women-family.go.th และwww.m-society.go.th สามารถติดต่อสอบถามได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ ๑๑๑๑ ต่อ ๖ และหมายเลขโทรศัพท์ ๐๒๓๐๖ ๘๗๘๐
“ทั้งนี้ แนวทางการคัดสรรกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯ จะแบ่งกลุ่มองค์กรสมาชิก ตามรายภาค และให้แต่ละองค์กรแนะนำองค์กรของตนเองเพื่อองค์กรสมาชิกอื่นๆ ได้ข้อมูลในการพิจารณาตัดสินใจคัดเลือก จากนั้นสมาชิกลงคะแนนลับเพื่อเลือกองคืกรที่เห็นว่าสามารถเป็นตัวแทนองคกรอื่นๆได้ โดยคัดเลือกองค์กร จำนวน ๓๐ องค์กร โดยแบ่งตามภาคๆ ละ ๖ องค์กร เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแห่งชาติ และเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อแต่งตั้ง ตามลำดับต่อไป” นายวิเชียร กล่าว. -นท-
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit