กรุงเทพฯ--27 มิ.ย.--เอสซีจี
เอสซีจี และสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย สุดปลื้มใจเยาวชนไทยทีมสเตบิไลซ์ (Stabilize) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร โชว์ฟอร์มเจ๋งทำคะแนนสูงสุดทิ้งห่างคู่แข่ง ผ่านฉลุยเข้ารอบรองชนะเลิศการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยโลก World RoboCup 2012 ที่เมืองเม็กซิโกซิตี้ ประเทศเม็กซิโก ตั้งเป้าคว้าแชมป์โลกสมัยที่ 7 ให้ประเทศไทย
รายงานข่าวจากสนามแข่งขันหุ่นยนต์โลก World Robocup 2012 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-23 มิถุนายน 2555 ที่เมืองเม็กซิโกซิตี้ ประเทศเม็กซิโก ในการแข่งขันรอบคัดเลือกวันที่สองมีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้นและมีผู้สนใจจากทั่วโลกเข้าชมการแข่งขันจำนวนมาก โดยปีนี้มีผู้เข้าแข่งขันรวม 2,243 คน จำนวน 381 ทีมจาก 45 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก เยอรมนี อังกฤษ อิหร่าน บราซิล โปรตุเกส สวิสเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ สเปน ญี่ปุ่น เกาหลี จีน อินเดีย และไทย ที่เข้าร่วมแข่งขันประชันเทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์การแข่งขัน 4 ประเภท ได้แก่ หุ่นยนต์กู้ภัย (RoboCup Rescue) หุ่นยนต์เพื่อนอัจฉริยะ (RoboCup@Home) หุ่นยนต์เตะฟุตบอล (RoboCup Soccer) และหุ่นยนต์ระดับเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี (RoboCup Junior) โดยเอสซีจีและสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ได้ส่ง 2 ทีมเยาวชนแชมป์หุ่นยนต์ประเทศไทยร่วมชิงชัยใน 2 ประเภทการแข่งขัน ได้แก่ ทีมสเตบิไลซ์ (Stabilize) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลมหานคร (แชมป์ประเทศไทย Thailand Rescue Robot Championship ปี 2554) เข้าแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัย หรือ World Robocup Rescue และทีมดงยาง จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (รองแชมป์ประเทศไทย Thailand Robot@Home Championship ปี 2554) เข้าแข่งขันหุ่นยนต์เพื่อนอัจฉริยะ หรือ World Robocup Robot@Home
นางวีนัส อัศวสิทธิถาวร ผู้อำนวยการสำนักงานสื่อสารองค์กร เอสซีจี กล่าวว่า การแข่งขันปีนี้ทีมไทยมีความตั้งใจสูงมากในการพัฒนาหุ่นยนต์ให้มีสมรรถนะสูงสุด และน้องๆ ทีมเยาวชนไทยก็ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความสามารถเป็นอย่างดี ในการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัย 2 วันแรก ทีมสเตบิไลซ์สามารถทำคะแนนสูงสุดทิ้งห่างคู่แข่งอย่างเหนือชั้นผ่านเข้ารอบรองชนะเลิศตามความคาดหมาย โดยในรอบคัดเลือกวันที่สองมีการแข่งขันทั้งหมด 2 รอบ และโจทย์ได้กำหนดให้หุ่นยนต์ทำภารกิจค้นหาผู้ประสบภัยด้วยหุ่นยนต์บังคับมือ (Manual) 10 ราย และด้วยหุ่นยนต์อัตโนมัติ (Autonomous) 5 ราย รอบเช้าหุ่นยนต์ของทีมไทยสามารถค้นพบผู้ประสบภัยได้เพียง 5 ราย เนื่องจากมีปัญหาเรื่องระบบสัญญานสื่อสารไร้สาย (Wireless) แต่ในช่วงบ่ายสามารถทำผลงานได้ดีด้วยการค้นพบผู้ประสบภัยได้อีก 8 ราย รวมเป็น 13 ราย ได้คะแนนทั้งสิ้น 245 คะแนน เมื่อรวมกับวันแรกซึ่งได้คะแนนสูงสุด คือ 521 คะแนน ทำให้มีคะแนนรวมสองวันเป็น 931 คะแนน นำเป็นอันดับ 1 ทิ้งห่างจากทีม MRL ประเทศอิหร่าน ที่ได้คะแนนเป็นอันดับสอง คือ 876 คะแนน
ตัวแทนนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลมหานคร นายพิทักษ์ โคสุวรรณ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ผู้ทำหน้าที่บังคับหุ่นยนต์ กล่าวว่า “ผู้บังคับหุ่นจะต้องมีสติและสมาธิที่แน่วแน่ เพราะต้องทำภารกิจทั้งหมดให้ครบถ้วนแข่งกับเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัด ที่สำคัญต้องฝึกซ้อมสม่ำเสมอให้เกิดความชำนาญในการบังคับหุ่นยนต์ในสนามแข่งขันจริง ซึ่งจากการที่ได้มีโอกาสร่วมแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยโลกในปีที่ผ่านมา ทำให้มีความมั่นใจและสามารถนำประสบการณ์ที่ได้มาปรับใช้ในการแข่งขันปีนี้“
นายวรรณวุฒิ พินิจ ผู้บังคับหุ่นยนต์คนที่ 2 ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นผู้บังคับหุ่นช่วงบ่าย กล่าวว่า รู้สึกตื่นเต้นและกดดัน เพราะเป็นครั้งแรกที่ได้มีโอกาสลงแข่งขันในสนามระดับโลก แต่จากการถ่ายทอดประสบการณ์จากรุ่นพี่ และได้ซ้อมในสนามจริงจนเกิดความเชื่อมั่น จึงสามารถทำภารกิจได้ดีในวันนี้
สำหรับการแข่งขันหุ่นยนต์เพื่อนอัจฉริยะ Robot@Home ซึ่งเป็นการแข่งขันที่ใช้เทคโนโลยีสมองกลอัจฉริยะขั้นสูง ปีนี้โจทย์การแข่งขันเพิ่มความซับซ้อนที่ท้าทายความสามารถมากยิ่งขึ้น การแข่งขันช่วงเช้าของวันที่สองได้กำหนดโจทย์ให้หุ่นยนต์ทำภารกิจแยกแยะสิ่งของภายในบ้านและจัดเก็บให้เหมาะสม ส่วนการแข่งขันช่วงบ่ายให้โจทย์อิสระในการแสดงความสามารถของหุ่นยนต์ ซึ่งทีมนิมโรแอทโฮม (NimbRo@Home) ประเทศเยอรมนี และทีมไรท์อีเกิ้ลแอทโฮม (WrightEagle@Home) ประเทศจีน สามารถทำคะแนนได้สูงสุดเป็นอันดับ 1 และ 2 ตามลำดับ ส่วนทีมดงยาง ซึ่งเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันหุ่นยนต์เพื่อนอัจฉริยะโลกเป็นปีแรก ประสบปัญหาเรื่องหุ่นยนต์ไม่ตอบสนองกับอุปกรณ์การแข่งขันของสนามในช่วงแรก แต่สามารถแสดงภารกิจใช้คำสั่งเสียงในการใช้งานอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นที่สนใจจากคณะกรรมการและทีมอื่นๆ จนทำคะแนนตีตื้นขึ้นมาเป็นอันดับ 11 แต่พลาดโอกาสผ่านเข้ารอบคัดเลือก 10 ทีมสุดท้ายอย่างฉิวเฉียด
นายกิตติคุณ จงเจริญ นักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หัวหน้าทีมดงยาง กล่าวว่าปีนี้เป็นปีแรกที่มีโอกาสเข้าร่วมการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก ซึ่งยอมรับว่าโจทย์การแข่งขันยากและท้าทายความสามารถ สร้างแรงกดดันให้กับสมาชิกในทีมเป็นอย่างมาก ประกอบกับทีมมีเวลาในการสร้างหุ่นยนต์เพียง 3 เดือน จึงขาดประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แต่ถึงแม้จะพลาดโอกาสเข้ารอบ แต่ก็ได้รับประสบการณ์มากมาย ได้เรียนรู้ข้อผิดพลาดของทีมและศึกษาจุดเด่นของทีมจากประเทศอื่นๆ เพื่อนำไปถ่ายทอดพัฒนารุ่นน้องให้สามารถต่อยอดการสร้างหุ่นยนต์เพื่อนอัจฉริยะในปีต่อๆ ไป
ผศ.ดร. จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ ที่ปรึกษาอาวุโส สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่าภาพรวมของการแข่งขันในปีนี้ พบว่า ผู้เข้าแข่งขันมีจำนวนน้อยลง เนื่องจากอุปสรรคด้านการเดินทางและขนส่ง อย่างไรก็ตาม ผู้เข้าแข่งขันจากทั่วโลกมีความตื่นตัวสูงในการพัฒนาความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี โดยหุ่นยนต์เพื่อนอัจฉริยะ (Robot@Home) มีการพัฒนาสมองกลขั้นสูงให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของมนุษย์ที่ซับซ้อนมากขึ้น ส่วนหุ่นยนต์กู้ภัยมีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีอัตโนมัติมากขึ้น ทั้งนี้ เด็กและเยาวชนจากทั่วโลกต่างให้ความสนใจในการพัฒนาหุ่นยนต์ระดับเยาวชนในหลากหลายสาขา สำหรับจุดเด่นของหุ่นยนต์จากประเทศไทยคือ มีสมรรถนะในการเคลื่อนที่สูง แต่ควรพัฒนาเรื่องการสร้างโปรแกรมระบบแผนที่ และสมองกลขั้นสูงขึ้น
-กภ-
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit