สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทยชี้แจงกรณีเครือข่าย "เด็กไทยไม่กินหวาน" อ้างถึงฯ

04 Jul 2012

กรุงเทพฯ--4 ก.ค.--DC Consultants

เนื่องด้วย สัปดาห์ที่ผ่านมา สัปดาห์สุดท้ายของเดือนมิถุนายน มีหลายสื่อมวลชนได้ตีพิมพ์ข่าวเกี่ยวกับข้อมูลขององกรค์การอนามัยโลก หรือ WHO เกี่ยวกับการรีดภาษีน้ำอัดลม โดยอ้างถึงประเด็นคนไทยเสี่ยงโรคอ้วนเรื้อรัง เพราะการกินน้ำตาลสูง ทางสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทยในฐานะผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบโดยตรงจากเนื้อหาของการรายงานข่าวดังกล่าว สมาคมฯจึงใคร่ขอนำเสนอข้อมูลพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และโภชนาการ รวมถึงจุดยืนของสมาคมเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวดังต่อไปนี้

เป็นที่ยอมรับกันในทางวิทยาศาสตร์โดยทั่วไปว่า ปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนเป็นปัญหาที่มีสาเหตุมาจากการที่ร่างกายได้รับพลังงานจากการบริโภคอาหารมากกว่าพลังงานที่ใช้ไปในชีวิตประจำวัน พลังงานส่วนเกินที่ร่างกายสะสมจึงถูกเปลี่ยนแปลงเป็นไขมันสะสมจนเกิดภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนในที่สุด ซึ่งพลังงานส่วนเกินไม่ว่าจะมาจากอาหารประเภทใดก็ล้วนแต่ทำให้เกิดภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนได้ทั้งสิ้น มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนนั้น จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงสมดุลในการบริโภคของอาหารทุกประเภทในภาพรวม มิใช่การจำกัดหรือการลดการบริโภคเฉพาะกับอาหารกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

สมาคมฯ มิสามารถให้ความเห็นเกี่ยวกับตัวเลขและสถิติที่ปรากฏในรายงานข่าวดังกล่าว เนื่องจากรายงานข่าวไม่มีข้อมูลที่มาของสถิติที่ชัดเจน และสมาคมฯ อยู่ในระหว่างการดำเนินการตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข้อมูลดังกล่าวอยู่อย่างไรก็ดี มีหลักฐานทางวิชาการและเชิงประจักษ์ที่สำคัญที่ไม่ได้ถูกเผยแพร่จากกลุ่มเด็กไทยไม่กินหวานและเครือข่าย กล่าวคือ

1. รายงานการศึกษาของสถาบันโภชนาการมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งใช้ข้อมูลจากการสำรวจการบริโภคอาหารทั่วประเทศเมื่อปี 2551 นั้นพบว่า ประชากรไทยโดยเฉลี่ยได้รับพลังงานจากการบริโภคน้ำอัดลมในแต่ละวันน้อยมาก โดยคิดเป็นเพียงร้อยละ 2.0 ของพลังงานที่ได้รับจากอาหารและเครื่องดื่มทั้งหมดในแต่ละวัน ในกลุ่มอายุ 6– 19.9 ปี และเพียงร้อยละ 1.4 ในกลุ่มอายุ 20 – 64.9 ปี ซึ่งชี้ให้เห็นว่าประชากรไทยโดยทั่วไปได้พลังงานจากน้ำอัดลมในสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับอาหารประเภทอื่นๆ การพุ่งเป้ามาที่น้ำอัดลมว่าเป็นสาเหตุของโรคอ้วนนั้น จึงเป็นข้อเสนอที่ตั้งอยู่บนอคติมากกว่าหลักวิชาการ

2. งานวิจัยโดย Barclay และ Brand-Miller ในประเทศออสเตรเลียระบุไว้อย่างชัดเจนว่าในระหว่างปี 1980- 2003ประเทศออสเตรเลียมีการบริโภคน้ำตาลน้อยลงถึงร้อยละ 23 แต่ในช่วงเวลาเดียวกันอัตราประชากรที่มีภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนกลับเพิ่มสูงขึ้นถึง 3 เท่าตัว ซึ่งชี้ให้เห็นว่าน้ำตาลไม่ได้เป็นสาเหตุหลักของปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน

3. งานวิจัยโดย Fletcher และคณะจากมหาวิทยาลัยเยล ที่สรุปว่าแม้การจัดเก็บภาษีน้ำอัดลมจะทำให้การบริโภคน้ำอัดลมลดลงเล็กน้อย แต่ไม่สามารถลดน้ำหนักตัวหรือแนวโน้มที่บุคคลจะมีน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วนได้แต่อย่างใด เนื่องจากคนจะหันไปบริโภคผลิตภัณฑ์อื่นทดแทน และพลังงานที่คนอเมริกันได้รับจากการบริโภคน้ำอัดลมคิดเป็นสัดส่วนที่น้อยมากคือเพียงร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับจำนวนพลังงานที่คนได้รับจากการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มทั้งหมดในแต่ละวัน

4. แม้มลรัฐเวสต์เวอร์จิเนียและอาร์คันซอส์ของประเทศสหรัฐอเมริกา จะจัดเก็บภาษีจากน้ำอัดลมมานานแล้ว แต่กลับมีประชากรที่มีน้ำหนักเกินในระดับสูงที่สุด 15 อันดับแรกของประเทศ แต่ในขณะที่มลรัฐโคโลราโดและเวอร์มอนท์ที่ไม่มีการจัดเก็บภาษีจากน้ำอัดลม ประชากรกลับมีปัญหาเรื่องน้ำหนักเกินและโรคอ้วนน้อยกว่ามาก

5. การใช้ภาษีเพื่อควบคุมอาหารและเครื่องดื่มมีความแตกต่างจากยาสูบและสุรา เพราะอาหารและเครื่องดื่มเป็นสินค้าที่มีความหลากหลายในด้านประเภทผลิตภัณฑ์และช่องทางการจำหน่าย แต่มีอัตราการบริโภคทดแทนกัน (cross-substitution) ที่สูงมาก กล่าวคือ หากผู้บริโภคไม่เลือกทานอาหารหรือเครื่องดื่มประเภทหนึ่ง ก็สามารถเปลี่ยนไปบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มอีกประเภทหนึ่งทดแทนได้ และเมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่าภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน เกิดจากการสะสมของพลังงานส่วนเกิน ซึ่งพลังงานส่วนเกินนี้ไม่ว่าจะมาจากอาหารหรือเครื่องดื่มประเภทใดก็สามารถก่อให้เกิดภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนได้ทั้งสิ้น จึงไม่มีเหตุผลและความชอบธรรมใดที่จะต้องเลือกปฏิบัติและจัดเก็บภาษีเฉพาะกับอาหารบางประเภท ซ้ำยังจะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการแต่ละกลุ่มอีกด้วย

ปัญหาน้ำหนักเกินและโรคอ้วนเป็นปัญหาที่มีความหลากหลายในมิติและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งพันธุกรรม การศึกษา พื้นฐานครอบครัว รูปแบบการบริโภคอาหาร และวิถีชีวิตประจำวัน ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ไม่มีสาเหตุใดสาเหตุเดียว สารอาหารใดสารอาหารเดียว หรือผลิตภัณฑ์ใดผลิตภัณฑ์เดียว ที่ก่อให้เกิดปัญหาดังกล่าว ดังนั้น การแก้ไขปัญหาจึงจำเป็นต้องใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ และอาศัยความร่วมแรงร่วมมือกันจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างให้เกิดสมดุลการบริโภคของอาหารทุกประเภท มิใช่การกล่าวโทษด้วยอคติ และเลือกปฏิบัติกับอาหารประเภทใดประเภทหนึ่ง สมาคมฯ มีความพร้อมและยินดีอย่างยิ่งที่จะร่วมมือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหานี้ อย่างไรก็ตาม กระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะในประเด็นนี้ยังไม่ได้เปิดกว้างให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถมีส่วนร่วมได้อย่างมีนัยสำคัญ

ในการนี้ สมาคมฯ จึงเรียนมาเพื่อพิจารณา และใคร่ขอโอกาสในการนำเสนอข้อมูลเป็นมุมมองอีกด้านให้แก่ประชาชนเพื่อให้ประชาชนได้เป็นผู้พิจารณาหลายๆ ด้าน

-กผ-