กรุงเทพฯ--2 ก.ค.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อุบลราชธานี
จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ในเขตพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี อำนาจเจริญ และยโสธร ในช่วงฤดูฝนนี้ โรคที่น่าห่วง คือ โรคฉี่หนูหรือโรคเลปโตสไปโรซีส (Leptospirosis) โดยเฉพาะเกษตรกร ที่มีอาชีพทำไร่ทำนา จะมีความเสี่ยงสัมผัสเชื้อโรคสูงกว่าฤดูอื่น เนื่องจากมีแหล่งน้ำขังจำนวนมาก เชื้อโรคจะอยู่ในฉี่ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น หนู วัว ควาย พบมากที่สุดในฉี่ของหนูทุกชนิด เชื้อจะปนเปื้อนอยู่ตามแอ่งน้ำขังต่างๆดินโคลนที่เฉอะแฉะ และเข้าสู่ร่างกายคนเราได้ 2 ทางคือจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ และเชื้อไชเข้าทางแผล เยื่อบุในปากหรือตา หรือเข้าทางรอยผิวหนังถลอก รวมทั้งผิวหนังปกติที่แช่น้ำนานๆ หลังติดเชื้อประมาณ 7-10 วัน จะเริ่มมีอาการคือมีไข้สูงทันทีทันใด ปวดศีรษะ ปวดตามกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะที่น่องขาทั้ง 2 ข้าง
นายแพทย์ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่าระยะนี้ในพื้นที่มีฝนตกชุกเพิ่มขึ้น ปริมาณน้ำฝนมากขึ้น มีแหล่งน้ำขังจำนวนมาก ทำให้เชื้อโรคฉี่หนูหรือโรคเลปโตสไปโรซีส สามารถแพร่กระจายได้ง่าย เพราะจะอยู่ในฉี่ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น หนู วัว ควาย พบมากที่สุดในฉี่ของหนูทุกชนิด เชื้อจะปนเปื้อนอยู่ตามแอ่งน้ำขังต่างๆ ประกอบกับช่วงนี้ เกษตรกร ที่มีอาชีพทำไร่ทำนา ต้องลงมือปลูกข้าว และผักผลไม้ต่างๆ จึงโอกาสที่จะสัมผัสกับเชื้อโรคเพิ่มมากขึ้น
จากข้อมูลสถานการณ์โรคของกลุ่มระบาดวิทยาและข่าวกรอง สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ตั้งแต่ 1 มกราคม 2555 ถึง 28 มิถุนายน 2555 พบผู้ป่วยแล้ว 125 ราย เสียชีวิต 5 ราย โดยพบผู้ป่วยจังหวัดศรีสะเกษ มากที่สุด 88 ราย เสียชีวิต 5 ราย รองลงมา อุบลราชธานี 16 ราย ยโสธร 13 ราย อำนาจเจริญ 6 ราย และมุกดาหาร 2 ราย โดยได้เฝ้าระวังโรคอย่างใกล้ชิดในช่วงฤดูฝนต่อ เนื่องจนถึงต้นฤดูหนาว และเร่งให้ความรู้วิธีการป้องกันตัวแก่ประชาชน เพื่อลดการป่วยและการเสียชีวิต
นายแพทย์ศรายุธ กล่าวต่อว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประชาชนเสียชีวิตจากโรคนี้ พบว่าหลังมีอาการป่วย มักเข้าใจว่าป่วยเพราะทำงานหนัก เนื่องจากมีอาการปวดเมื่อยด้วย จึงซื้อยาแก้ปวดลดไข้กินเองหรือนวดคลายเมื่อย ทำให้อาการรุนแรงขึ้น เนื่องจากยาลดไข้แม้ว่าจะทำให้ไข้ลดก็ตาม แต่ไม่ได้ฆ่าเชื้อโรค เชื้อโรคยังอยู่ในร่างกาย จึงมีโอกาสเสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อนได้ เช่น ปอดบวม ไตวาย หัวใจล้มเหลว ไขสันหลังอักเสบ และโรคนี้สามารถป่วยซ้ำได้อีก หากติดเชื้อรอบใหม่
นายแพทย์ศรายุธ กำชับว่า โรคเลปโตสไปโรซีส สามารถป้องกันได้ โดยหากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำ ย่ำโคลน ต้องใส่รองเท้าบู๊ท และให้รีบชำระล้างทำความสะอาดร่างกายหลังขึ้นจากน้ำ กำจัดขยะ โดยเฉพาะขยะเปียกในบ้าน เช่น เศษอาหาร ไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของหนู เก็บอาหารที่ค้างคืนในที่มิดชิด ล้างผักสดที่เก็บจากท้องไร่ท้องนาให้สะอาดก่อนรับประทาน หากมีอาการป่วย คือมีไข้สูงอย่างทันทีทันใด ปวดเมื่อยตามร่างกายมาก โดยเฉพาะที่บริเวณน่องขา ขอให้สงสัยว่าอาจป่วยเป็นโรคฉี่หนู ขอให้ไปพบแพทย์ และแจ้งประวัติการลุยน้ำ ย่ำโคลนให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อให้การรักษาอย่างถูกต้อง จะไม่เสียชีวิต
-กผ-
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net