ผลการวิจัยชี้ผู้ใช้กว่าร้อยละ 70 พอใจซอฟต์แวร์ชุดโปรแกรมสำนักงานโอเพนซอร์ส

15 May 2012

กรุงเทพฯ--15 พ.ค.--ICT for All Club

จากรายงานการสำรวจเมื่อ ค.ศ. 2010 พบว่าซอฟต์แวร์ชุดโปรแกรมสำนักงานที่ครองส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุดในโลก คือ Microsoft Office ร้อยละ 72 รองลงมาคือ OpenOffice.org ร้อยละ 21.5 (ปัจจุบันคือ Apache OpenOfficeTM) และอื่นๆ ร้อยละ 6.5 (Webmasterpro, 2010) ซึ่งส่วนแบ่งตลาดของ Microsoft Office ลดลงประมาณร้อยละ 23 จากที่เคยครองส่วนแบ่งการตลาด ร้อยละ 95 เมื่อปี ค.ศ. 2006 (Hamm, 2006) แสดงให้เห็นว่าผู้ใช้คอมพิวเตอร์มีแนวโน้มที่จะใช้ชุดโปรแกรมสำนักงาน OpenOffice และอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น แต่ยังอยู่ในอัตราที่ต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับ Microsoft Office โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้งานในเชิงธุรกิจ

หลายๆ ประเทศ ได้พยายามลดการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ โดยส่งเสริมการใช้และพัฒนาซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส โดยเฉพาะซอฟต์แวร์ชุดโปรแกรมสำนักงาน OpenOffice.org (ปัจจุบันคือ Apache OpenOfficeTM) หรือซอฟต์แวร์ที่พัฒนาต่อยอดจากซอฟต์แวร์ดังกล่าว เช่น LibreOffice ในประเทศอย่างจริงจัง เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน เกาหลี ไต้หวัน มาเลเซีย เวียดนาม เป็นต้น ทำให้ลดการพึ่งพาซอฟต์แวร์จากต่างประเทศ และเป็นการยกระดับขีดความสามารถให้กับผู้ประกอบการ และนักพัฒนาซอฟต์แวร์ให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก

สำหรับปริมาณการใช้ซอฟต์แวร์ชุดโปรแกรมสำนักงาน OpenOffice.org org (ปัจจุบันคือ Apache OpenOfficeTM) หรือซอฟต์แวร์ที่พัฒนาต่อยอดจากซอฟต์แวร์ดังกล่าว เช่น LibreOffice แม้จะไม่มีตัวเลขที่แน่ชัดในประเทศไทย เนื่องจากซอฟต์แวร์ดังกล่าวเปิดโอกาสให้บุคคล หรือองค์กรสามารถดาวน์โหลดไปใช้ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่จากประมาณการโดยอนุมานจากผลการสำรวจการมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในสถานประกอบการ พ.ศ. 2553 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ (2554: v, 8-9 ) พบว่า มีสถานประกอบการประมาณ 2,157,907 แห่ง โดยเป็นสถานประกอบการที่มีการใช้คอมพิวเตอร์ในการบริหารจัดการภายในของสำนักงานส่วนหลัง (Back Office) จำนวน 414,210 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 81.8 ของสถานประกอบการที่ใช้คอมพิวเตอร์ ในจำนวนนี้มีการใช้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส ร้อยละ 2.5 หรือประมาณ 10,355 แห่ง โดยส่วนใหญ่จะนิยมใช้ในสถานประกอบการที่มีบุคลากรมากกว่า 200 คนขึ้นไป โดยปรากฏในสถานประกอบการที่เป็นโรงพยาบาลมากที่สุด

การเปลี่ยนจากซอฟต์แวร์จากชุดโปรแกรมสำนักงาน Microsoft Office ไปเป็นซอฟต์แวร์ชุดโปรแกรมสำนักงาน OpenOffice.org ขนาดใหญ่ครั้งแรกของประเทศไทยเกิดขึ้นที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2549 ซึ่งความสำเร็จดังกล่าวได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในองค์กรธุรกิจอื่นๆ เช่น การเคหะแห่งชาติ บริษัท เอส แอนด์ พี ชินดิเคท จำกัด (มหาชน) บริษัท ดี เอช เอ สยามวาลา จำกัด บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ฯลฯ (Samphan Raruenrom, 2010) ตัวอย่างความสำเร็จของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งได้เปลี่ยนมาใช้ซอฟต์แวร์ OpenOffice.org โดยติดตั้งในเครื่องคอมพิวเตอร์ประมาณ 7,000 เครื่อง ช่วยให้ทาง กฟผ. ประหยัดงบประมาณค่าลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ได้มากกว่า 70 ล้านบาท แต่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการสอนการใช้งานให้พนักงานอย่างต่อเนื่อง (พิสิษฐ์ อิงคสุวรรณ, ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนเทคโนโลยีสารสนเทศ กฟผ., 2554: 44-48)

จากรายงานการวิจัยของผู้เขียน เรื่อง “ปัจจัยความสำเร็จของการเปลี่ยนมาใช้ซอฟต์แวร์ชุดโปรแกรมสำนักงาน OpenOffice.org” โดยสุ่มตัวอย่างผู้ใช้ซอฟต์แวร์ดังกล่าว จากองค์กรธุรกิจที่เปลี่ยนมาใช้ซอฟต์แวร์ OpenOffice.org เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี จำนวน 5 องค์กร (นับถึงเดือนธันวาคม 2553) จำนวน 497 คน พบว่า ผู้ใช้ส่วนใหญ่มีความพึงพอใจต่อซอฟต์แวร์ OpenOffice.org (ปัจจุบัน คือ Apache OpenOfficeTM) และเห็นว่ามีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะรองรับงานขององค์กรได้ แม้จะไม่ดีเท่ากับ Microsoft Office แต่การนำซอฟต์แวร์ดังกล่าวมาใช้งาน ก็สามารถช่วยลดค่าใช้จ่าย ลดการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ได้เป็นจำนวนมาก และผู้ใช้ส่วนใหญ่ยินดีจะแนะนำให้คนที่รู้จัก หรือองค์กรอื่นเปลี่ยนมาใช้ OpenOffice.org หรือซอฟต์แวร์ที่พัฒนาต่อยอดจากซอฟต์แวร์ดังกล่าว เช่น LibreOffice

ทั้งนี้ ผลการวิจัยพบว่ากลุ่มตัวอย่างทุกตำแหน่งงานส่วนใหญ่ ร้อยละ 72.43 สนับสนุนให้องค์กรใช้ซอฟต์แวร์ OpenOffice.org ต่อไป ส่วนผู้ใช้อีกร้อยละ 26.76 ต้องการให้องค์กรเปลี่ยนกลับไปใช้ Microsoft Office ผู้ใช้ร้อยละ 2.62 ต้องการให้องค์กรไปใช้ซอฟต์แวร์ชุดโปรแกรมสำนักงาน LibreOffice ซึ่งปัจจุบันเป็นซอฟต์แวร์ที่พัฒนาต่อยอดจาก OpenOffice.org และเริ่มที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในประเทศไทย

เมื่อพิจารณาจากประโยชน์ที่องค์กรธุรกิจจะได้รับจากการนำซอฟต์แวร์ชุดโปรแกรมสำนักงานโอเพนซอร์ส มาใช้งาน ได้แก่ ลดค่าใช้จ่ายด้านซอฟต์แวร์ขององค์กร เมื่อเปลี่ยนมาใช้ OpenOffice.org ทดแทนซอฟต์แวร์ที่มีลิขสิทธิ์ ลดค่าใช้จ่ายด้านซอฟต์แวร์ขององค์กรเมื่ออัพเกรดเวอร์ชัน ลดการละเมิดลิขสิทธิ์ และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีแก่องค์กร

กอปรกับฝ่ายโอเพนซอร์ส สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) http://ThaiOpenSource.org หรือ www.sipa.or.th ได้ประกาศว่าจะระดมสรรพกำลังกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ให้ได้มากที่สุด โดยการให้คำปรึกษาในการเปลี่ยนมาใช้งานซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สและการใช้ซอฟต์แวร์ที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้อง ซึ่งจะช่วยให้หน่วยงานและองค์กรธุรกิจสามารถปรับเปลี่ยนมาให้งานซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สได้รวดเร็ว เข้าใจการบริหารจัดการซอฟต์แวร์ในองค์กร จัดการเรื่องต้นทุนเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ได้ อีกทั้งยังลดอัตราการเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดีการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ รวมถึงการให้บริการฝึกอบรมการใช้งาน การประยุกต์ใช้งานซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส ให้กับองค์กรต่างๆ

ที่สำคัญที่สุด คือ ผู้ใช้ซอฟต์แวร์ชุดโปรแกรมสำนักงานโอเพนซอร์ส (OpenOffice.org) ส่วนใหญ่ ประมาณร้อยละ 70 ในองค์กรธุรกิจ เห็นว่าซอฟต์แวร์ดังกล่าวมีประสิทธิภาพที่ดีพอ จะแนะนำให้องค์กรอื่น หรือบุคคลที่รู้จักเปลี่ยนมาใช้ด้วย

จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าซอฟต์แวร์ชุดโปรแกรมสำนักงานโอเพนซอร์สอย่าง OpenOffice.org (ปัจจุบันคือ Apache OpenOffice 3.4 ซึ่งมีผู้ดาวน์โหลดไปใช้งานแล้ว มากกว่า 100 ล้านคน ทั่วโลก) หรือ LibreOffice (ปัจจุบันคือ LibreOffice 3.5.3) มีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในองค์กรธุรกิจ ที่มีบุคลากรมากกว่า 200 คนขึ้นไป เนื่องจากซอฟต์แวร์มีขีดความสามารถเพียงพอที่จะรองรับงานโดยทั่วไปขององค์กร และยังช่วยลดค่าใช้จ่ายได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งค่าใช้จ่ายที่ลดได้สามารถนำไปซื้อฮาร์ดแวร์ หรือพัฒนาองค์กร พัฒนาบุคลากรให้ประสิทธิภาพและคุณภาพยิ่งขึ้น

บทบาทของภาครัฐในการส่งเสริมซอฟต์แวร์ชุดโปรแกรมสำนักงานโอเพนซอร์ส

จากผลการศึกษาในครั้งนี้ พบว่า กลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นผู้บริหารระดับกลางขึ้นไปขององค์กรที่ศึกษา ต้องการสนับสนุนจากภาครัฐให้ใช้ซอฟต์แวร์ชุดโปรแกรมสำนักงานโอเพนออฟฟิศดอทอ็อก เช่น การจัดฝึกอบรมโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย การส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาให้คำแนะนำ ส่งเสริมให้องค์กรเปลี่ยนมาใช้ซอฟต์แวร์ชุดโปรแกรมสำนักงานโอเพนออฟฟิศดอทอ็อก มีความสัมพันธ์กับความสำเร็จในการเปลี่ยนมาใช้ซอฟต์แวร์ชุดโปรแกรมสำนักงานโอเพนออฟฟิศดอทอ็อก อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05

ดังนั้น เพื่อให้การนำซอฟต์แวร์ชุดโปรแกรมสำนักงาน OpenOffice.org (ปัจจุบัน คือ Apache OpenOfficeTM) หรือซอฟต์แวร์ชุดโปรแกรมสำนักงานอื่นใดที่พัฒนาต่อยอดจากซอฟต์แวร์ดังกล่าว เช่น LibreOffice มาใช้งานในระดับประเทศ อันจะเป็นการลดค่าใช้จ่ายด้านซอฟต์แวร์ของประเทศ และลดการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในภาพรวม รัฐควรสนับสนุนการดำเนินการ ดังนี้

1. ประกาศให้การนำซอฟต์แวร์ชุดโปรแกรมสำนักงานโอเพนออฟฟิศ หรือซอฟต์แวร์ชุดโปรแกรมสำนักงานอื่นใดที่พัฒนาต่อยอดจากซอฟต์แวร์ดังกล่าว มาใช้งานเป็นวาระแห่งชาติ เช่นเดียวกับกรณีของประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศในประชาคมอาเซียน เช่น มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อรองรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับประเทศสมาชิกอาเซียนให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างสมบูรณ์ใน พ.ศ. 2558

2. การดำเนินกลยุทธ์ว่าด้วยการนำซอฟต์แวร์ชุดโปรแกรมสำนักงานโอเพนออฟฟิศหรือซอฟต์แวร์ชุดโปรแกรมสำนักงานอื่นใดที่พัฒนาต่อยอดจากซอฟต์แวร์ดังกล่าว เพื่อให้ทิศทางการส่งเสริมและพัฒนาซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สของประเทศไทยเป็นไปอย่างมีทิศทาง สร้างความมั่นใจและความเชื่อมั่นให้กับองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน รวมถึงซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สอื่นใดมาใช้งาน โดยประกอบด้วย (1) การวางโครงสร้างพื้นฐานและปัจจัยเอื้ออำนวยต่อการยอมรับซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส (2) เพิ่มการยอมรับซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส โดยติดตั้งในหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศเป็นแบบอย่างและแรงผลักดันให้ภาคเอกชน และภาคประชาชนปฏิบัติตาม และ (3) การเพิ่มสมรรถนะในการวิจัยและพัฒนาซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สให้มีขีดความสามารถในการสนับสนุนการดำเนินงานมากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับกรณีของมาเลเซียที่ประสบความสำเร็จในการนำซอฟต์แวร์ชุดโปรแกรมสำนักงานโอเพนออฟฟิศดอทอ็อกมาใช้ในระดับประเทศ (ING and THOMAS, 2010: 3-5)

3. ประกาศใช้รูปแบบเอกสารกลางภาครัฐแบบเปิด (Open Document Format) สำหรับเอกสารที่สร้างจากซอฟต์แวร์ชุดโปรแกรมสำนักงาน ของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อนำเผยแพร่ หรือให้สาธารณชนดาวน์โหลด

4. ยกเลิกการจัดสรรงบประมาณภาครัฐ สำหรับการจัดหาซอฟต์แวร์ชุดโปรแกรมสำนักงานที่มีลิขสิทธิ์ แก่หน่วยงานภาครัฐทั้งหมด เว้นแต่ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้งานจริงๆ โดยให้พิจารณาเป็นรายกรณี

5. สนับสนุนมาตรการทางด้านภาษีแก่องค์กรธุรกิจที่นำซอฟต์แวร์ชุดโปรแกรมสำนักงานโอเพนออฟฟิศ หรือซอฟต์แวร์ชุดโปรแกรมสำนักงานอื่นใดที่พัฒนาต่อยอดจากซอฟต์แวร์ชุดโปรแกรมสำนักงานโอเพนออฟฟิศ มาใช้งานในระดับองค์กร โดยให้นำค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนมาใช้ซอฟต์แวร์ดังกล่าว มาหักลดหย่อนภาษีได้

การนำซอฟต์แวร์ชุดโปรแกรมสำนักงานโอเพนออฟฟิศ หรือซอฟต์แวร์ชุดโปรแกรมสำนักงานอื่นใดที่พัฒนาต่อยอดจากซอฟต์แวร์ชุดโปรแกรมสำนักงานโอเพนออฟฟิศ ซึ่งมีลักษณะเป็นซอฟต์แวร์ชุดโปรแกรมสำนักงานที่เป็นโอเพนซอร์ส และฟรีแวร์ เช่น LibreOffice, Apache OpenOffice หรือซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สอื่นใด มาใช้งานในองค์กรธุรกิจตลอดจนหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาชน โดยพิจารณาถึงความเหมาะสมของซอฟต์แวร์ดังกล่าวกับลักษณะงาน จะช่วยลดอัตราการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ของประเทศไทยโดยรวมได้ต่ำลงอย่างต่อเนื่อง แม้ที่ผ่านมาอัตราการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ของประเทศไทยจะมีแนวโน้มลดลงทุกปี แต่ก็ยังคงอยู่ในอัตราที่สูง ซึ่งข้อมูล ณ พ.ศ. 2553 อยู่ที่ ร้อยละ 73 ซึ่งลดลงจากร้อยละ 75 เมื่อพ.ศ. 2552 แต่ทำอย่างไรประเทศไทย จึงจะสามารถลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ลงได้ต่ำกว่าร้อยละ 50 เพื่อรองรับการเข้าสู่เศรษฐกิจแบบสร้างสรรค์ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555-2559) รวมทั้งการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ใน พ.ศ. 2558 ต่อไป ความสำเร็จของการเปลี่ยนมาใช้ซอฟต์แวร์ชุดโปรแกรมสำนักงานโอเพนซอร์ส ได้แก่ OpenOffice.org (ปัจจุบันคือ Apache OpenOfficeTM) หรือ LibreOffice สำคัญที่สุด คือ การเริ่มต้นที่ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ทุกคน และทุกองค์กร จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ จะนำไปสู่ความสำเร็จในภาพรวมของประเทศ...ดาวน์โหลดซอฟต์แวร์ดังกล่าวได้ที่ www.openoffice.org หรือ www.libreoffice.org

ติดต่อ:

ทศพนธ์ นรทัศน์ นักวิจัย

ชมรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อความเท่าเทียมกัน (ICT for All Club)

[email protected]

-กผ-

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net