ผลการศึกษาล่าสุดชี้ระบบจัดการน้ำระดับชุมชนคือคำตอบสำหรับเกษตรกรรายย่อย

28 May 2012

กรุงเทพฯ--28 พ.ค.--อ็อกซ์แฟม เอเชีย

องค์การอ็อกแฟมและมูลนิธินโยบายสุขภาวะเรียกร้องรัฐบาลไทยเร่งลงทุนด้านชลประทานขนาดเล็กให้แก่เกษตรกรรายย่อย โดยเน้นที่ระบบจัดการน้ำในระดับชุมชน หลังจากผลการศึกษาเรื่องระบบความคุ้มครองทางสังคมชี้ว่าวิกฤติเรื่องน้ำเป็นสิ่งที่บั่นทอนปัญหาความยากจนและหนี้สินของเกษตรกรมากที่สุด ทีมนักวิจัยพบว่าในขณะที่ระบบความคุ้มครองทางสังคมด้านการศึกษาและสุขภาพได้มีการพัฒนาอย่างเห็นได้ชัดในรอบ ๑๐ ปีที่ผ่านมา ความเสี่ยงที่เป็นปํญหากับเกษตรกรไทยมากที่สุดคือด้านผลผลิต เศรษฐกิจและภัยธรรมชาติกลับไม่ได้รับการดูแลอย่างจริงจัง มีแต่การช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐเป็นคราวๆ ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนจากเหตุการณ์อุทกภัยใหญ่ในปี ๒๕๕๔ และ ๒๕๕๕ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ภัยพิบัติร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์

“จากผลการศึกษาเราพบว่าทั้งกลุ่มเกษตรกรที่ยากจนหรือพอมีอันจะกินต่างได้รับผลกระทบเหมือนกันเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันทางธรรมชาติและทางเศรษฐกิจขึ้นเพราะประเทศไทยยังไม่มีมาตรการป้องกันหรือแก้ไขเรื่องพวกนี้อย่างเป็นระบบ ตัวอย่างเช่นเมื่อก่อนเวลาพูดเรื่องน้ำคนมักจะคิดเรื่องน้ำท่วม แต่ตอนนี้ปัญหาภัยแล้งได้ทวีความรุนแรงและอาจจะยาวนานมากขึ้นจนแทบจะกล่าวได้ว่าชาวนาจะต้องเผชิญความเสี่ยงทั้งจากภาวะเรื่องโลกร้อน และความผันผวนในตลาดการค้าสินค้าเกษตรไปพร้อมๆ กัน” เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์หัวหน้าทีมวิจัยร่วมกับสถาบันวิจัยสุขภาวะและอ็อกแฟมกล่าว

โดยผลการศึกษาเมื่อปีที่ผ่านมาในพื้นที่ศึกษา ๔ อำเภอ ๓ จังหวัดอันได้แก่อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี อ.ลาดบัวหลวง จ.อยุธยาเและอ. เมืองกับอ. อรัญประเทศ จ. สระแก้ว ซึ่งเป็นส่วนหนี่งของพื้นที่เกษตรกรรมหลักของประเทศพบว่า ในช่วง ๕ ปีที่ผ่านมา เกษตรกรไทยได้รับผลกระทบในเรื่องต่างๆ อย่างมากไม่ว่าจะเป็น ศัตรูพืชระบาด ผลผลิตลดลง ราคาผลผลิตตกต่ำโดยเฉพาะข้าวซึ่งถือเป็นแหล่งรายได้หลักของเกษตรกรในพื้นที่สำรวจและที่สำคัญ เกษตรกรพบความเสี่ยงภัยพิบัติทั้งน้ำท่วมและภัยแล้งโดยที่รัฐบาลยังไม่สามารถให้ความคุ้มครองได้อย่างทั่วถึง เช่น ในเรื่องการประกันภัยพืชผล ซึ่งต่างจากภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือนที่รัฐบาลมีการจัดตั้งกองทุนในการประกันภัยพิบัติอย่างชัดเจน ขณะเดียวกัน ระบบการจัดการน้ำก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ของการรักษาพื้นที่เศรษฐกิจมากกว่าการคุ้มครองทางสังคมสำหรับเกษตรกร

“แต่ถ้าหากชุมชนมีระบบจัดการน้ำเช่นมีการฟื้นฟูระบบทางน้ำและผันน้ำในพื้นที่ต่ำจะช่วยลดปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งได้ และถ้าหากรัฐบาลส่งเสริมกองทุนหมุนเวียนท้องถิ่นสำหรับการชลประทานบนพื้นที่ทำกินและสร้างความหลากหลายในการะเพาะปลูกตามกระแสพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วยแล้ว เกษตรกรรายย่อยจะเข้มแข้งขึ้นและจะสิ่งนี้จะกระจายไปทั่วชุมชน ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและถูกกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจและราคาผลผลิตตกต่ำในระดับที่น้อยลงกว่าที่เคยเป็นมา” อาจารย์เดชรัตกล่าว

กสิณา ลิ้มสมานพันธ์ ผู้ประสานงานโครงการจากอ็อกแฟมกล่าวว่ารัฐบาลควรลงทุนกับเกษตรกรรายย่อยให้มากขึ้นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรรายย่อยที่อยู่นอกเขตชลประทานซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอัตราความยากจนสูง ทางที่ดีที่สุดคือการลงทุนเพิ่มศักยภาพให้กับเกษตรกรและหน่วยงานท้องถิ่นมีความรู้ความเข้าใจว่าความเสี่ยงในอนาคตโดยเฉพาะจากเรื่องสภาพภูมิอากาศนับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น และร่วมกันหาวิธีการปรับตัวและลดความเสี่ยงในการผลิต ซึ่งหน่วยงานในท้องถิ่นและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นควรมีบทบาทสำคัญ

“ในช่วง ๕ ปีที่ผ่านมาเกษตรกรเจอปัญหาวนเวียนแต่เรื่องภัยแล้งในพื้นที่สูงและปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่ม ชุมชนทั้งหมดยังต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่แปรปรวนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งกระทบต่อวิถีชีวิตตั้งแต่การเพาะปลูกและรายได้อย่างมากแต่ถ้าเรามีระบบการจัดการน้ำในระดับชุมชน ปัญหาเหล่านี้จะเบาบางลงได้อย่างมาก”

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือโครงการเกษตรอินทรีย์ที่เน้นการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในจังหวัดยโสธรโดยเกษตรกร ๕๗ ครัวเรือนในโครงการที่มีการปรับปรุงระบบน้ำในไร่นาของตนทำให้ยังคงสามารถผลิตข้าวและผักพอเพียงกับการบริโภคในครัวเรือนเมื่อเผชิญภัยแล้ง ในขณะที่ครัวเรือนที่ไม่มีระบบน้ำและพึ่งพาฝนอย่างเดียวสูญเสียผลผลิตเกือบทั้งหมด

“ตอนนี้ เครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ ในจังหวัดสระแก้วได้มีการก่อตั้งเครือข่ายการคาดการณ์ภูมิอากาศชุมชน จ.สระแก้ว เพื่อกระจายและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับภูมิอากาศ สภาพอากาศ และการเกษตร รวมถึงได้มีการปรับตัวเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ โดยอาศัยเทคนิคกสิกรรมธรรมชาติในการเพาะปลูกอ้อยและมันสำปะหลังแบบอินทรีย์ ซึ่งช่วยทำให้พืชผลมีความทนทานต่อสภาพอากาศมากขึ้น ขณะเดียวกัน ก็ช่วยเพิ่มผลผลิต และลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรลงได้อีกด้วย”

ทีมวิจัยได้กล่าวเตือนว่าเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าในอนาคต เกษตรกรไทยต้องเตรียมตัวรับความเสี่ยงและความไม่แน่นอนครั้งใหญ่โดยฉพาะเรื่องภัยธรรมชาติและความผันผวนทางเศรษฐกิจอีกมาก แต่ระบบการคุ้มครองทางสังคมต่างๆ ที่ออกมาของไทยกลับไม่สอดคล้องกันเพราะเกิดจากการทำงานแบบแยกส่วน ที่มิได้เอาความมั่นคงของเกษตรกรรายย่อยเป็นตัวตั้งอย่างแท้จริง

-กผ-