มูลนิธิไทยรักษ์ป่า ปลูก “ข่อย” ฟื้นไม้หมายถิ่น เมืองเชียงใหม่

15 Jun 2012

กรุงเทพฯ--15 มิ.ย.--มูลนิธิไทยรักษ์ป่า

“ในอดีตสันป่าข่อยเป็นย่านชุมชนเล็กๆ ซึ่งปัจจุบันคือด้านหลังตลาดสันป่าข่อย เหตุที่ได้ชื่อว่า สันป่าข่อย สันนิษฐานว่า น่าจะมีเนิน หรือสัน กั้นระหว่างลำน้ำปิง กับที่ทำกินของชาวบ้าน และมีต้นข่อย ขึ้นอยู่ในบริเวณนั้น เป็นจำนวนมาก จนเป็นจุดสังเกตของคนเดินทางผ่านไปมาเป็นจุดเด่น จึงได้ชื่อว่า สันป่าข่อย” เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ผู้สืบสานและอนุรักษ์วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม จ.เชียงใหม่ กล่าวในพิธีเปิดงาน “อนุรักษ์ไม้หมายเมือง ครั้งที่5” บริเวณสวนสาธารณะบนที่ดินของการรถไฟ จ.เชียงใหม่ ในบรรยากาศที่คลาคล่ำไปด้วยผู้คนกว่า 300 คน พร้อมใจกันมาช่วยปลูกต้นไม้ท้องถิ่น ไม้หมายถิ่นของเชียงใหม่ซึ่งกำลังจะหายไปจากชุมชนนี้

“เราพบต้นข่อยในย่านนี้ได้เพียงไม่กี่ต้นในเมืองเชียงใหม่ มีในพื้นที่มณฑลทหารบก 33 ค่ายกาวิละ มีอยู่ประมาณ 5 ต้น และด้านตรงข้ามกับสวนสาธารณะที่เราอยู่นี่ คือ สถานีรถไฟ ก็มีอยู่เพียงต้นเดียว ซึ่งเป็นต้นข่อยที่ปลูกขึ้นใหม่ ไม่ใช่ไม้เดิมที่เหลืออยู่” กุล ปัญญาวงศ์ ผู้จัดการมูลนิธิไทยรักษ์ป่า ในฐานะแม่งานบอก

ปีนี้นับเป็นปีที่ 5 แล้วที่มูลนิธิไทยรักษ์ป่า ภายใต้การสนับสนุนของเอ็กโก กรุ๊ป ได้ริเริ่มโครงการอนุรักษ์ไม้หมายเมืองขึ้นมา งานนี้ สุวพันธ์ ฉ่ำเฉลิม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป ในฐานะกรรมการมูลนิธิไทยรักษ์ป่า เล่าให้ฟังว่า บนเส้นทางความรับผิดชอบต่อสังคมของเอ็กโก กรุ๊ป และเส้นทางการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ ของมูลนิธิไทยรักษ์ป่า เป็นเส้นทางสายเดียวกันในเรื่องการตระหนักถึงความสำคัญของป่าต้นน้ำ จึงเดินหน้าปลูกป่าฟื้นฟูรักษาความสมบรูณ์ของป่าต้นน้ำ และส่งเสริมชุมชนในพื้นที่ป่าให้คนอยู่ร่วมกับป่าอย่างพึ่งพาอาศัย นอกจากนี้ เรายังเห็นว่าป่าหรือต้นไม้ในเขตเมืองก็มีความสำคัญไม่ต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นไม้ใหญ่ ต้นไม้เก่าแก่ที่เติบโตขึ้นมาในเขตเมือง เป็นทั้งเอกลักษณ์ของท้องถิ่น มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ชุมชน จึงได้ริเริ่ม “โครงการอนุรักษ์ไม้หมายเมือง” ขึ้น โดยมีความตั้งใจที่จะปลูกต้นไม้ เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมในเมืองที่ขาดไป ตามหลักการของ ‘ไม้หมายถิ่น ไม้หมายทาง’ ซึ่งจะบ่งบอกถึงที่ตั้งของท้องถิ่นตามลักษณะภูมิประเทศที่มีพันธุ์ไม้นั้นๆ ขึ้นอยู่เป็นลักษณะเด่นบ่งบอกความเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ความเป็นชุมชน ซึ่งมีเรื่องราว และแง่มุมทางประวัติศาสตร์ที่ควรค่าแก่การรื้อฟื้น และอนุรักษ์เอาไว้

โดยในปี 2551 ซึ่งเป็นปีเริ่มต้นนั้นได้ปลูกต้นพะยอม ณ สี่แยกตลาดต้นพะยอม ก่อนจะตามมาด้วยไม้แดง และไม้ในพุทธประวัติ ณ วัดป่าแดงมหาวิหาร ต่อมาครั้งที่ 3 มีการนำต้นพะยอมกลับมาปลูกอีกครั้งที่บริเวณวัดสวนดอกและปีที่แล้วเลือกปลูกไม้ถิ่นและไม้มงคล ณ แยกเชียงขางแสนงาม

นอกเหนือจากการรื้อฟื้นปลูกต้นไม้ท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์แล้ว สิ่งที่ต่อยอดออกดอกออกผลที่ได้รับมาอย่างต่อเนื่องคือ จิตสำนึกชุมชนท้องถิ่นในการตระหนักถึงความสำคัญของวัฒนธรรมและร่วมใจฟื้นฟูไม้หมายเมือง ไม้หมายถิ่น ให้คงอยู่คู่เอกลักษณ์เชียงใหม่อย่างยั่งยืน… โดยในปีนี้ มูลนิธิไทยรักษ์ป่า ร่วมกับเทศบาลนครเชียงใหม่ เครือข่ายต้านโลกร้อน และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ตลอดจนชุมชนสันป่าข่อย ชุมชนหนองป่าครั่ง ชุมชนวัดเกต ชุมชนริมทางรถไฟ ชุมชนเมืองกาย โรงเรียนรอบชุมชน และคณะภาคีเครือข่ายภาครัฐ และเอกชนกว่า 300 คน ร่วมกันรณรงค์ และปลูกต้นไม้ที่เป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่น และเป็นไม้มงคล อาทิ ต้นข่อย ต้นพิกุล ต้นทองกวาว ต้นประดูเหลือง ต้นประดู่แดง และต้นมะเกี๋ยงกว่า 200 ต้น ซึ่งนอกเหนือจากการปลูกไม้หมายถิ่นแล้ว ภายในงานยังมีการเปิดเวทีเสวนา และนิทรรศการเพื่อเสริมสร้างความรู้ในการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจากหน่วยงานต่างๆ มากมาย

วันนี้ … มูลนิธิไทยรักษ์ป่า พร้อมภาคีเครือข่ายอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จุดประกายขยายความคิดเรื่องการอนุรักษ์ไม้หมายเมือง ไม้หมายถิ่น ไม้หมายทาง เพื่อสร้างแนวร่วมของเยาวชน และชุมชนในเขตเมืองเชียงใหม่ ในการร่วมดูแลทรัพยากรธรรมชาติอันทรงคุณค่าของเมืองเชียงใหม่ และประเทศไทยให้ยั่งยืนต่อไป

-กผ-

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net