กรุงเทพฯ--13 มิ.ย.--กรมส่งเสริมการส่งออก
นายประคัลร์ กอดำรง ผอ.สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมาดริด กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงสถานการณ์เศรษฐกิจในสเปน ที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของสหภาพยุโรป(อียู)รองจากเยอรมัน ฝรั่งเศสและอิตาลีว่า สเปนประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจนว่า สเปนจะกลับมาฟื้นตัวอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อใด ล่าสุดขอรับความช่วยเหลือด้านการเงิน ซึ่งในเบื้องต้นมีตัวเลขปรากฎอยู่ระหว่าง 6 หมื่น - 1 แสนล้านยูโร แม้ว่าสเปนยังคงมีความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ไทยมีสินค้าที่มีศักยภาพหลายรายการที่สามารถเข้าทำตลาดสเปนได้ ดังนั้นผู้ส่งออกไทยจะต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตลาดแห่งนี้
“อุปสรรคสำคัญในการเข้าสู่ตลาดสเปนยังคงเป็นเรื่อง ภาษา ซึ่งภาคธุรกิจสเปนยังคงใช้ภาษาสเปนเป็นหลัก และมีส่วนน้อยที่ใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร รวมถึงสเปนเป็นผู้ส่งออกสินค้าอาหารมูลค่าสูงเป็นอันดับ 3 ของอียู รองจากฝรั่งเศสและอิตาลี สเปนจึงมีความเข้มงวดการนำเข้าอาหารในระดับสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสุขอนามัย ซึ่งที่ผ่านมามีผู้ส่งออกไทยหลายรายประสบปัญหาในการส่งออกสินค้ามายังสเปน”นายประคัลร์ กล่าว และว่า อาหารไทยยังคงเป็นที่รู้จักค่อนข้างน้อย จึงยังไม่มีสินค้าอาหารและส่วนประกอบในการทำอาหารไทยวางจำหน่ายในร้านค้าปลีกหลักในสเปนมากนัก ขณะที่มีสินค้าอาหารไทยวางขายในซุปเปอร์มาร์เก็ตของชาวเอเชีย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของคนจีน และยังคงมีจำนวนไม่มากนัก ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องจัดกิจกรรม หรือ โครงการส่งเสริมสินค้าอาหารของไทยให้เป็นที่รู้จักอย่างต่อเนื่อง
ท้งนี้รัฐบาลสเปนขอรับความช่วยเหลือด้านการเงินเป็นประเทศในลำดับที่ 4 (กรีซ, ไอร์แลนด์และโปรตุเกส ) ที่ขอรับความช่วยเหลือจากหลังวิกฤตหนี้สินในยุโรปปะทุขึ้นตั้งแต่ปี 2552 ในขณะที่ผลดังกล่าว กระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศ ทำให้การค้าระหว่างไทยกับสเปนในช่วง 4 เดือนแรก(ม.ค.-เม.ย.)ของปีนี้ มูลค่า 513 ล้านเหรียญสหรัฐฯ(9,052 ล้านบาท) แบ่งเป็นการส่งออกคิดเป็นมูลค่า 293 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 35% นำเข้า 219 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 30% โดยสินค้าส่งออกสำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่ ยางพารา เครื่องนุ่งห่ม เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ยาง ส่วนสินค้านำเข้า 5 อันดับแรก เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม และผลิตภัณฑ์โลหะ
สถานการณ์ล่าสุดในสเปน คาดว่ารัฐบาลสเปนขอรับความช่วยเหลือด้านการเงินประเมินตัวเลขในเบื้องต้นอยู่ระหว่าง 6 หมื่นล้านยูโร - 1 แสนล้านยูโร เพื่อปล่อยกู้ให้ธนาคารต่างๆ ในสเปน โดยวงเงินแท้จริงที่ธนาคารในสเปนต้องการ จะมีความชัดเจนภายในวันที่ 21 มิ.ย.นี้ หลังจากการตรวจสอบฐานะการเงินแล้ว ข้อตกลงของสเปนนับเป็นการเกิดแนวคิดใหม่ นั่นคือ ข้อตกลงเข้าอุ้มอย่างจำกัด เพราะไม่มีเงื่อนไขเป็นรูปธรรมผูกมัดไปกับประเทศ มีแค่เงื่อนไขสำหรับภาคธนาคารเท่านั้น ข้อตกลงนี้ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขใดๆ ต่อเศรษฐกิจของสเปนโดยรวม และรัฐบาลไม่จำเป็นต้องออกมาตรการรัดเข็มขัดเพิ่มเติม
ทั้งนี้การให้ความช่วยเหลือ อาจสร้างความไม่เสถียรภาพให้กองทุนช่วยเหลือฉุกเฉินแห่งยุโรป ซึ่งมีทุน 7 แสนล้านยูโร ไม่เหลือเงินไว้สำหรับประเทศอื่นอีก เพราะเมื่อรวมปริมาณเงินที่ใช้ช่วยเหลือกรีซ, ไอร์แลนด์, โปรตุเกส และสเปน เข้าด้วยกัน ขณะนี้อียู และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มีภาระผูกพันรวมกันราว 5 แสนล้านยูโรในการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ยุโรป แม้ว่าเงินที่นำมาใช้กับสเปนนี้อาจจะมาจากกองทุนรักษาเสถียรภาพการเงินยุโรป (EFSF) ซึ่งเป็นกองทุนชั่วคราว หรือ มาจากกองทุนกลไกรักษาเสถียรภาพยุโรป (ESM) ซึ่งเป็นกองทุนถาวรที่จะเริ่มดำเนินการในเดือนกรกฎาคม 55
ยุโรปเร่งแก้ไขปัญหาภาคธนาคารของสเปน หลังจากฟิทช์ เรทติ้งส์ประกาศ ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสเปนลง 3 ขั้น สู่ BBB ในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ซึ่งตอกย้ำให้เห็นว่าภาคธนาคารสเปนได้รับความเสียหายจากหนี้เสียในภาคอสังหาริมทรัพย์และจากการลุกลามของวิกฤติหนี้กรีซ โดยค่าใช้จ่ายที่รัฐบาลสเปนต้องใช้ในการเพิ่มทุนธนาคารพาณิชย์ ที่ได้รับความเสียหายจากภาวะฟองสบู่แตกในภาคอสังหาริมทรัพย์, จากภาวะเศรษฐกิจ ถดถอย และจากการว่างงานในระดับสูง อาจอยู่ที่ระดับ 0.6-1.0 แสนล้านยูโร (0.75-1.25 แสนล้านดอลลาร์)
หน่วยงานฝ่ายวิเคราะห์และพัฒนาด้านนโยบาย ของสหประชาชาติ (UNDESA) เผยแพร่รายงาน แนวโน้มและสถานการณ์เศรษฐกิจโลก (WUESP) ช่วงแรกระบุว่า มีสัญญาณบางอย่าง บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจโลกมีการปรับตัวดีขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา แต่สถานการณ์เศรษฐกิจโลกกลางปี ยังต้องเผชิญความท้าทายหลายเรื่อง โดยเฉพาะวิกฤติหนี้ในยูโรโซน ของกรีซ อาจกระตุ้นให้เกิดความปั่นป่วนรุนแรงในตลาดเงินทั่วโลก และเป็นภัยคุกคามเศรษฐกิจโลกมากที่สุด จนนำไปสู่การหดตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว
อัตราว่างงานในสเปนพุ่งแตะ 24.1% ในเดือนมีนาคม 55(24.3% ในเดือนเมษายน 55) เพิ่มจาก 8.6% ในปี 2550 ในกรีซพุ่งแตะ 21.7% จากระดับ 8% ช่วงเดียวกัน โปรตุเกสพุ่งเป็น 13.5% จากระดับ 8.5% และในไอร์แลนด์เพิ่มเป็น 14.5% จากระดับ 5% ตรงกันข้ามกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ที่การว่างงานฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง
ทั้งนี้ยูเอ็นดีอีเอสเอเผยการเติบโตของเศรษฐกิจโลกอยู่ที่ 2.7% ในปี 2554 และคาดว่าปีนี้จะขยายตัว 2.5% และเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 3.1% ในปี 2556 ซึ่งตัวเลขคาดการณ์ทั้งหมดเป็นการทบทวนปรับลด จากคาดการณ์ของดับเบิลยูอีเอสพี ในรายงานฉบับ เดือนมกราคมปีนี้-กภ-
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit