กรุงเทพฯ--8 ธ.ค.--โฟว์ดี คอมมิวนิเคชั่น
กระแสหวั่นน้ำท่วมปรับพฤติกรรมผู้บริโภคในการเลือกแบบบ้าน ปัจจัยแรกเน้นปลอดน้ำ ล่าสุด ซีคอน โฮม ผู้บุกเบิกธุรกิจรับสร้างบ้านเมืองไทย จึงระดมทีมนักออกแบบคลอดแบบบ้านรุ่นล่าสุด “บ้านสายน้ำ” ให้ได้หมดกังวล เชื่อกระแสนิยมสูงหลังเกิดมหาอุทกภัยปี 54 กำหนดเผยโฉมครั้งแรก 16-18 ธ.ค. นี้ ในงาน SEACON & COMPACT BIG PRO DAYS ที่สำนักงานใหญ่สี่พระยา
นางสาวศุภิชชา ชัยพิพัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มบริษัท ซีคอน จำกัด เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมา ส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคใน กรุงเทพและปริมณฑล เปลี่ยนไปจากเดิม โดยเน้นเลือกสร้างบ้านหรือซื้อบ้านในทำเลที่หลีกเลี่ยงเส้นทางของน้ำ ไม่ติดแม่น้ำ ลำคลอง รวมไปถึงพื้นที่ที่เสี่ยงต่อน้ำท่วม หันมาซื้อที่ดินในเขตพื้นที่ที่มีระดับที่ดินยกสูง หรือเป็นถนนตัดใหม่ที่มีความสูงมากกว่าพื้นที่เก่าที่สร้างมานานแล้ว เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังเริ่มหันมาให้ความสนใจแบบบ้านในแนวสูงมากขึ้น เช่น ทาวน์โฮม บ้าน 3 ชั้น และอาคารพาณิชย์ ด้านพฤติกรรมการเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์ก็เปลี่ยนไปจากเดิมคือหันไปเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวแทนเฟอร์นิเจอร์แบบบิวท์อิน เนื่องจากเคลื่อนย้ายสะดวก และสามารถเปลี่ยนใหม่ได้ง่ายเมื่อเกิดปัญหาน้ำท่วม ไม่ส่งผลต่อผนัง และไม่ต้องเสียเวลาในการทุบรื้อ นอกจากนี้แล้วผู้บริโภคจะหาเฟอร์นิเจอร์ ที่สามารถทนทานต่อน้ำและความชื้น เช่น ไม้เนื้อแข็ง ไวนิล หรืออลูมิเนียมมากขึ้นด้วย
“ สำหรับ Trend ความต้องการแบบบ้านหลังจากเกิดเหตุอุทกภัย พบว่า ความต้องการบ้านชั้นเดียวเริ่มลดลง โดยผู้บริโภคหันไปสนใจบ้าน 2 ชั้น และ 3 ชั้นมากขึ้น และเริ่มให้ความสำคัญกับความสูงในการถมดินก่อนสร้างให้สูงกว่าพื้นถนนให้มาก เพื่อป้องกันน้ำท่วมทั้งจากฝนตกหนัก น้ำเหนือ และน้ำทะเลหนุนสูง อีกแนวทางที่ถูกถามถึงมากเช่นกันคือ การสร้างบ้านยกใต้ถุนสูง เพื่อให้น้ำไหลผ่าน อันเป็นลักษณะของแบบบ้านไทยแบบเดิม ที่ตัวบ้านจะยกสูงและมีใต้ถุนบ้าน ทั้งยังเหมาะกับทั้งสภาพอากาศร้อนชื้น และสภาพที่ดิน โดยเฉพาะในภาคกลางซึ่งที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ และมีโอกาสน้ำท่วมถึงได้ง่าย” นางสาวศุภิชชา ชัยพิพัฒน์ กล่าว
เกี่ยวกับนโยบายในการพัฒนาแบบบ้านให้สอดคล้องต่อความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบันนั้น นางสาวศุภิชชา ชัยพิพัฒน์ กล่าวเสริมในประเด็นดังกล่าว “สำหรับบริษัทในเครือซีคอนโฮม เราได้ทำการศึกษาแบบบ้านในลักษณะไทยประยุกต์ หรือเรียกว่า “ไทย โมเดิร์น” มาได้ระยะหนึ่งก่อนหน้ามหาอุทกภัย 2554 เพราะเห็นว่าแบบบ้านในสไตล์ดังกล่าว มีความเหมาะสมกับภูมิประเทศและสภาวะอากาศของเมืองไทย โดยปรับรูปแบบตัวบ้านให้มีความทันสมัย และมีฟังก์ชั่นการใช้งานที่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของคนเมือง โดยใช้ชื่อแบบบ้านว่า “บ้านสายน้ำ” (Water Living Home) ซึ่งเป็นแบบบ้าน 2 ชั้น และ 3 ชั้น โดยศึกษาและออกแบบมาเพื่อการอยู่อาศัยได้ถึงแม้จะเกิดอุทกภัย ทั้งการออกแบบตัวบ้านยกสูง ตัวบ้านมีความโปร่งโล่งเพื่อรับลม มีการวางระบบไฟฟ้า โดยแยกแผงไฟชั้นบน ชั้นล่าง เพื่อสามารถตัดไฟชั้นล่างได้เมื่อเกิดน้ำท่วมและเราสามารถอาศัยอยู่ชั้นบนได้ รวมไปถึงระบบสุขาภิบาลต่างๆ เช่น การออกแบบที่วางปั๊มน้ำ การมีท่อระบายอากาศในห้องน้ำ เพื่อชักโครกไหลระบายได้ดี ทั้งนี้เพื่อให้ลูกค้าสามารถอยู่อาศัยในบ้านได้นานขึ้นแม้จะโดนตัดน้ำตัดไฟยามน้ำท่วม และไม่ต้องเสียเวลาในการยกเฟอร์นิเจอร์หนีน้ำ หรือเลวร้ายที่สุดคือ ตัวบ้านและข้าวของภายในบ้านจะได้รับผลระทบจากอุทกภัยให้น้อยที่สุด โดยระดับราคานั้นเราวางไว้ตั้งแต่ 1 - 20 ล้านบาท เนื่องจากลูกค้าของเรามีหลากหลายกลุ่ม เราต้องตอบโจทย์ความต้องการให้ครบทุกกลุ่ม ถึงแม้ว่าลูกค้าอาจจะประสบปัญหาน้ำท่วม ต้องการรื้อบ้านเก่า สร้างบ้านใหม่ หรืออยากสร้างบ้านในทำเลใหม่นั้น ไม่จำเป็นว่า ผู้บริโภคต้องการบ้านในระดับราคาที่ถูกลงมากกว่าตอนช่วงน้ำไม่ท่วม เพราะไม่ทุกคนที่ต้องการลดงบประมาณการก่อสร้างลง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพคล่องของแต่ละบุคคลซึ่งมีไม่เท่ากัน เรื่องงบประมาณการก่อสร้างอาจจะส่งผลบ้างสำหรับผู้ที่มีรายได้ไม่มากนัก หรือผู้ที่ต้องการสร้างบ้านเป็นหลังที่ 2 เพื่อไว้อยู่เป็นที่อาศัยสำรอง อาจจะไม่ต้องการบ้านในระดับราคาที่สูงนัก แต่นั่นก็แล้วแต่ความต้องการของลูกค้าแต่ละราย ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการสร้างบ้านที่แตกต่างกัน”
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่บริษัทที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์:
บริษัท โฟว์ดี คอมมิวนิเคชั่น จำกัด
วิภาวริศ เกตุปมา หรือ จาจิญา เพ็งพันธ์ และชวิสรา สัมฤทธิ์นรพงศ์
02-951-9119
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit