ผลวิจัยชี้ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมจะเพิ่มขึ้น 3 เท่าไปแตะ 115 ล้านคนในอีก 40 ปี

21 Dec 2011

กรุงเทพฯ--21 ธ.ค.--ไอเดีย เวิร์คส์ คอมมิวนิเคชั่นส์

คาดว่าจำนวนผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมทั่วโลกจะมีมากกว่า 115 ล้านคนภายในปี ค.ศ. 2050

ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาทั่วโลกปัจจุบันอยู่ที่ 450 พันล้านยูโรต่อปี

ในสหภาพยุโรป มีคนงาน 5 ใน 100 คนเป็นผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม

ยุโรปและเอเชียได้รับผลกระทบมากที่สุด

ทางออกด้านการประกันภัยกำลังค่อยๆเกิดขึ้นในตลาดเยอรมัน

รายงานการศึกษาความเคลื่อนไหวด้านประชากรศาสตร์ที่ชื่อว่า Allianz Demographic Pulse ฉบับล่าสุด ซึ่งอุทิศให้กับการศึกษาเกี่ยวกับโรคสมองเสื่อมและอัลไซเมอร์โดยเฉพาะ โดย บริษัท อลิอันซ์ เยอรมนี ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ บมจ.อยุธยา อลิอันซ์ ซี.พี.ประกันชีวิต ระบุว่า หากยังไม่มีการค้นพบวิธีการรักษาโรคสมองเสื่อมในขณะนี้ จำนวนผู้ป่วยจากโรคดังกล่าวทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า จากปัจจุบันที่มีอยู่ 36 ล้านคน จะเพิ่มเป็น 115 ล้านคนภายในปี ค.ศ. 2050 ซึ่งเป็นผลจากอายุขัยเฉลี่ยของคนเราที่เพิ่มมากขึ้น และเมื่อเปรียบเทียบตัวเลขดังกล่าวแล้ว จำนวนผู้ป่วย 115 ล้านคนจะเท่ากับประชากรของสเปนและฝรั่งเศสในวันนี้รวมกัน

“โรคสมองเสื่อมได้กลายเป็นภาระอันใหญ่หลวงแก่ระบบเศรษฐกิจไปแล้ว ทั้งนี้ ญาติของผู้ป่วยต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาผู้ป่วยทั้งในรูปแบบและนอกรูปแบบเป็นจำนวนสูงถึง 450พันล้านยูโร” ศาสตราจารย์ ดร.ไมเคิล ไฮส์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์อาวุโส กลุ่มอลิอันซ์ ประเทศเยอรมนี กล่าวว่า “เราจำเป็นจะต้องเร่งรัดการวิจัยอย่างด่วน พัฒนารูปแบบทางเลือกใหม่ๆด้านการพยาบาลและการเตรียมการเรื่องที่อยู่อาศัย และทำการทดสอบวินิจฉัยผู้ป่วยแต่เนิ่นๆ เพื่อให้พวกเขามีเวลาเพียงพอที่จะได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการพยาบาล เรื่องที่อยู่อาศัยและตัวเลือกการประกันภัย”

คาดว่าในปี 2050 คนงาน 100 คนในสหภาพยุโรปจะเป็นโรคสมองเสื่อม 5 คน

อัตราส่วนของผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมกับคนในวัยทำงานจะเปลี่ยนไปอย่างมาก ในขณะที่จำนวนผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าในสหภาพยุโรป อันเป็นผลมาจากสภาพสังคมผู้สูงอายุ จำนวนของคนในวัยทำงานจะลดน้อยลง ในขณะที่อัตราส่วนในวันนี้อยู่ที่ 2 ต่อ 100 คือ มีผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม 2 คนในคนวัยทำงาน 100 คน ในช่วงอายุระหว่าง 15 และ 64 ปี โดยภายในครึ่งศตวรรษ อัตราส่วนจะเพิ่มเป็น 5 ต่อ 100

ภาวะสมองเสื่อมเป็นความท้าทายระดับโลก – เอเชียและยุโรปได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด

เป็นที่สงสัยกันมานานแล้วว่าภาวะสมองเสื่อมเป็นโรคที่เกิดในประเทศอุตสาหกรรมและซีกโลกตะวันตกเท่านั้น อย่างไรก็ตามการศึกษาล่าสุดได้สรุปว่าการแพร่ระบาดของโรคในประเทศกำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่เป็นการประเมินที่ต่ำเกินความเป็นจริง ลำพังทวีปเอเชียเพียงทวีปเดียวประชากรเกือบ 61 ล้านคนจะได้รับผลกระทบจากภาวะสมองเสื่อมภายในปี 2050 และในประเทศจีนผู้คนจะทุกข์ทรมานจากภาวะสมองเสื่อมมากกว่าในประเทศอุตสาหกรรมอื่นๆ ทั้งหมดรวมกัน ในยุโรปจำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าจากประมาณ 10 ล้านคนในวันนี้ ไปที่ 19 ล้าน โดยที่ประมาณ 15 ล้านคนนั้นจะอาศัยอยู่ในสหภาพยุโรป เยอรมนีเป็นอีกประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก ซึ่งเป็นผลมาจากสังคมผู้สูงอายุ จำนวนผู้ป่วยคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 1.3 ล้านคนในวันนี้เป็น 2.6 ล้านคน

โรคที่ไม่มีทางรักษา

นับตั้งแต่ได้รับการอธิบายเป็นครั้งแรกในปี 1906 การไขความกระจ่างเกี่ยวกับธรรมชาติของโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ก็มีความคืบหน้าอย่างมาก แต่การบรรเทาอาการในระยะยาว ไม่ต้องพูดถึงการรักษาให้หายขาดเลย ยังคงมืดมน หากว่ามีการตรวจพบอาการตั้งแต่ระยะแรกๆ ก็จะสามารถยื้อเวลาของการปรากฏอาการออกไปได้อีกหลายเดือน โดยการใช้ยาต้านภาวะสมองเสื่อมที่เหมาะสมเข้าช่วย การออกกำลังกายที่เหมาะสมทั้งด้านร่างกายและจิตใจก็เป็นอีกหนทางหนึ่งที่ส่งผลดีในด้านการป้องกันหรือลดทอนการเกิดโรคนี้ได้ ปัญหาใหญ่ของผู้ป่วยส่วนใหญ่ และโดยเฉพาะญาติผู้ใกล้ชิดคือการค้นหาข้อมูลที่เหมาะสม ผู้ป่วยและญาติมักจะไม่ทราบวิธีการที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินไปของโรค วิธีการที่จะรับมือกับกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้อย่างไม่ต้องพึ่งพาใคร หรือวิธีการดูแลที่เหมาะสมและราคาไม่แพง

ความมั่นคงทางการเงินของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมเป็นเรื่องที่เป็นไปได้

บริษัทประกันชีวิตมีความตื่นตัวเพิ่มขึ้นต่อความท้าทายที่เกิดจากอัตราโรคสมองเสื่อมที่เพิ่มขึ้น ผลิตภัณฑ์ Tarif PZTBest ของอลิอันซ์ เยอรมนี ได้รับการจัดอันดับที่สูงมากโดยองค์กรผู้บริโภค Stiftung Warentest ในกรณีของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม ผลิตภัณฑ์นี้จะจ่ายเบี้ยเลี้ยงสำหรับการดูแลพยาบาล แม้ว่าจะไม่ใช่การดูแลอย่างเป็นทางการ ส่วนผลิตภัณฑ์ Klasiik / Invest ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อการบำนาญระยะยาวของอลิอันซ์ ลีเบน (Allianz Leben) ก็มีการจ่ายค่าชดเชยในกรณีที่ผู้ถือกรมธรรม์ไม่สามารถทำกิจกรรมได้ตามปกติในชีวิตประจำวัน

อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์ที่สร้างสรรค์ในต่างประเทศแสดงให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตสำหรับผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมไม่ได้มีจำกัดอยู่ที่ประเทศเยอรมนีเท่านั้น บริษัท Allianz Global Assistance ในประเทศฝรั่งเศสได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่า Capital Memoire ขึ้น นอกเหนือจากบริการสนับสนุนเฉพาะทางแล้ว ยังมีการให้บริการโปรแกรมการป้องกันโรคซึ่งพัฒนาโดยผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยบอร์กโดซ์อีกด้วย และที่ไม่เป็นที่รู้จักมากนักก็คือผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่คุ้มครองโรคร้ายแรงต่างๆ โดยบริษัทอลิอันซ์ ประเทศไต้หวัน แผนประกันเหล่านี้จะจ่ายเงินครั้งเดียวตามจำนวนที่ตกลงกัน ในกรณีของการเกิดโรคร้ายแรง เช่น มะเร็ง หรือโรคสมองเสื่อม

“โรคสมองเสื่อมเป็นเรื่องยากที่ท้าทายสำหรับทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ เอกชนและตัวบุคคล ทั้งนี้จุดมุ่งหมายของเรา คือ ต้องแก้ไขข้อบกพร่องในการดูแลทางการแพทย์และการพยาบาลสำหรับผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม และยิ่งไปกว่านั้นต้องมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เหมาะสมให้มากยิ่งขึ้น และขอให้ทุกคนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจังและเร่งด่วนตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป” ดร.ไฮส์ กล่าวสรุป

บมจ. อยุธยา อลิอันซ์ ซี.พี. ประกันชีวิต

สายสมร เลิศคชลักษณ์

โทรศัพท์ 02-305-7408 (สายตรง)

บริษัท ไอเดีย เวิร์คส์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด

ฐาปนี นันทวิสัย

โทรศัพท์ 02-2541315